×

เปิดเบื้องลึก ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ นายก อบจ.ปทุมธานี โดนคดีอะไรที่อาจต้องหยุดทำหน้าที่

โดย THE STANDARD TEAM
02.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (2 กรกฎาคม) หลังจาก ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ กลายเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

แต่ยังไม่ทันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรอง ชาญอาจต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากมีคดีค้างเก่าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และศาลได้ประทับรับฟ้องไว้แล้วด้วย

 

สำหรับคดีดังกล่าว เป็นคดีเมื่อครั้งที่ ‘ชาญ’ ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ปทุมธานี และพวก ได้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพในปี 2555

 

ปัจจุบันศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำสั่งประทับฟ้องคดีนี้แล้ว และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาฯ โดยคาดว่าคดีนี้ศาลนัดไต่สวนสืบคดีช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 11 มกราคมปีนี้ ชาญและพวก ได้เดินทางไปรายงานตัวเพื่อส่งฟ้องคดีทุจริตถุงยังชีพดังกล่าว พร้อมยื่นขอประกันตัว โดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว ก่อนที่ศาลจะนัดไต่สวนสืบคดีในครั้งต่อไป

 

ทำไมต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

 

วานนี้ (1 กรกฎาคม) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ส่งหนังสือชี้แจงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณี ‘ชาญ’ สมัครเป็นนายก อบจ.ปทุมธานี และการหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี เป็นทางการแล้ว พร้อมให้เหตุผล 2 ประการ

 

1. การสมัครเป็นนายก อบจ. ของ ‘ชาญ’ หลังถูกศาลอาญาฯ ประทับฟ้อง คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด และไม่ได้ถูกคุมขังโดยหมายศาล อีกทั้งไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

 

ดังนั้น ‘ชาญ’ จึงยังไม่มีลักษณะต้องห้าม และสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.ปทุมธานี ได้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 35/1 ประกอบ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 50 (5), (6) และ (10) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 และมาตรา 93

 

2. ทำไมต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากการที่ ‘ชาญ’ ได้กระทำความผิดเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ปทุมธานี ในวาระก่อน และแม้ว่าศาลอาญาฯ จะได้ประทับฟ้องเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม

 

แต่ต่อมา ‘ชาญ’ ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ปทุมธานี ในอีกวาระหนึ่ง ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 และมาตรา 93 เทียบเคียงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1486/2565

 

กฤษฎีกาชี้ หยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อลดความยุ่งเหยิง

 

ด้าน ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า แม้จะเป็นการดำรงตำแหน่งคนละครั้งกัน แต่ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจาก ป.ป.ช. มีคำสั่งชี้มูล ซึ่งถึงแม้จะพ้นตำแหน่ง หรือถูกเลือกตั้งให้กลับเข้ามาใหม่ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยุ่งเหยิงกับกรณีที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น เรื่องนี้ไม่มีอะไร เป็นหลักกฎหมายปกติ

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ชี้ขาดคือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องของการเข้าสู่ตำแหน่งหรือการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น ดังนั้นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะมีคำสั่งในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

แกนนำเพื่อไทยประสานเสียง ศาลยังไม่ตัดสินถือว่าบริสุทธิ์​

 

พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองผู้สนับสนุน ‘ชาญ’ บนเส้นทางการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ในครั้งนี้ ​ภูมิธรรม​ เวช​ย​ชัย ​รองนายก​รัฐมนตรี ​และ​รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวง​พาณิชย์​ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะตอนที่ ป.ป.ช. ร้อง ‘ชาญ’ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่

 

ส่วนความเห็นกฤษฎีกาที่บอกว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ เป็นความคิดเห็นทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติชาญจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ต้องให้ศาลเป็นคนสั่ง ไม่ใช่เป็นไปตามอัตโนมัติตามที่กังวลใจกันอยู่ ตอนนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ ชาญยังมีสิทธิ์ เนื่องจากตอนมาสมัครก็ไม่ได้ขาดคุณสมบัติอะไร ดังนั้นเรื่องนี้ต้องปล่อยให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย และปัจจุบันก็ไม่มีข้อบังคับใดมาห้าม

 

“วันนี้เป็นแค่การประทับรับฟ้อง และเป็นกระบวนการให้มีสิทธิ์ต่อสู้ เรื่องนี้ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยมอง แต่ทางกฎหมายเป็นแบบนั้น”

 

ภูมิ​ธรรมกล่าวว่า ความเห็นของกฤษฎีกาเกิดขึ้นในยุคสมัยหนึ่ง และไม่ครบถ้วน เพราะชาญไม่ได้อยู่ในวิสัยที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากตอนนั้นไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว กกต. ก็ไม่ได้บอกว่าขาดคุณ​สมบัติ​ เพราะยังไม่ถูกตัดสินว่าผิด เราอย่าไปวินิจฉัยแทน เราก็เชื่อใจในความบริสุทธิ์ของทุกคนตราบใดที่ยังไม่ถูกตัดสิน

 

ขณะที่ สรวงศ์ เทียนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดสระแก้ว ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีของ ‘ชาญ’ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น เป็นกรณีทั่วไป คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจศาล ควรให้ศาลเป็นผู้สั่ง หากกระทรวงมหาดไทยสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้ถูกคำสั่งสามารถฟ้องร้องไปยังศาลปกครองได้

 

ก่อนหน้านี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยได้มีการตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่าเรื่องนี้ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ฟ้อง ในขณะที่ศาลประทับรับฟ้องชาญไม่มีตำแหน่งหน้าที่ จึงไม่มีกรณีที่ต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาล ถ้าจะต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาล

 

สรวงศ์กล่าวอีกว่า การให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ไม่มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 เพียงแต่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เท่านั้น และเป็นดุลพินิจของศาล ดังนั้นกรณีนี้ไม่ใช่เป็นการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ จากนี้เป็นหน้าที่ของ กกต. เพราะได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้รับสมัครจนเสร็จสิ้นกระบวนการเลือกตั้ง ชาญได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 1 และในท้ายที่สุด กกต. ได้รับรอง ‘ชาญ’ ให้เป็นนายก อบจ.ปทุมธานีแล้ว

 

ชาญ พวงเพ็ชร์ โดนคดีอะไร

 

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า รายละเอียดคดีที่อาจส่งผลให้ ‘ชาญ’ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ อบจ.ปทุมธานี ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 ลงมติชี้มูลความผิด ‘ชาญ’ และพวก กรณีถูกกล่าวหาทุจริตในการจัดซื้อถุงยังชีพในโครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุทกภัยในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 2 ครั้ง เมื่อปี 2554 มูลค่านับล้านบาท

 

ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 9 เสียง เห็นชอบตามความเห็นคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า การกระทำของชาญมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น

 

ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ

 

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, มาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (4) ประกอบมาตรา 91 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192

 

นอกจากนี้ยังมีมูลความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 79

 

นอกจากคดีซื้อถุงยังชีพดังกล่าวแล้ว ในปี 2560 ‘ชาญ’ ยังปรากฏชื่อเป็น 1 ใน 5 ผู้บริหารระดับสูงของ อบจ. ที่ถูก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 35/2560 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 จากจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ปรากฏรายชื่อมีทั้งหมด 70 ราย เป็นเหตุทำให้ต้องถูกระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่เป็นการชั่วคราว เพื่อเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจากหน่วยงานต้นสังกัดอย่างเป็นทางการ

 

กรณีดังกล่าว ‘ชาญ’ ถูกตั้งข้อกล่าวหาโดยมีความเกี่ยวข้องกับการตั้งงบประมาณในปี 2555-2556 เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายจำนวน 12 สัญญา ซึ่งต่อมาถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่ามีการตั้งราคาจัดซื้อสูงเกินกว่าความเป็นจริงถึงกว่า 44,574,012.14 บาท และมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการว่ากรณีดังกล่าว ป.ป.ช. จะมีการไต่สวนและชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐรายใดหรือไม่

 

ถ้าชาญต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จะเกิดอะไรขึ้น

 

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการ และอดีต สส. ในฐานะผู้ขับเคลื่อนการกระจายอำนาจในท้องถิ่น ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ค้างคามาตั้งแต่การดำรงตำแหน่งเมื่อสมัยที่แล้ว และการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ไม่ต้องตีความเพิ่มเติม 

 

ชำนาญเชื่อว่าแม้จะหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ชาญน่าจะได้วางระบบการบริหารงานไว้แล้ว โดยมีทีมรองนายกฯ ที่เข้าไปรักษาการแทน จะมีเพียงชาญคนเดียวที่ทำงานไม่ได้ สุดท้ายหากสู้กันในชั้นศาลจนถึงที่สุดแล้ว ศาลยกฟ้องก็สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้

 

ชำนาญกล่าวต่อว่า ผลการเลือกตั้งในเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของประชาชน คนที่เลือกต้องรู้อยู่แล้ว เพราะคู่แข่งก็ได้นำเรื่องนี้มาใช้หาเสียง เมื่อประชาชนตัดสินใจแบบนี้ และด้วยคะแนนเสียงที่ชนะกันไม่มากก็ต้องยอมรับ ทีมงานอาจทำงานได้ไม่เต็มที่ ประชาชนก็เสียประโยชน์ไปบ้าง

 

“สุดท้ายคนที่ตัดสินใจเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือชาญว่าจะเอาอย่างไร จะสู้ต่อหรือลาออก ทางที่ดีควรแสดงจุดยืนด้วยการลาออกจากตำแหน่ง ประชาชนจะได้ไม่เสียโอกาส” ชำนาญกล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้ บทเรียนจากการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองส่วนใหญ่ล้วนเอาผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง พรรคการเมืองทั้งสีแดง, สีน้ำเงิน, สีส้ม ต่างกระเหี้ยนกระหือรือเข้าแข่งขันกันอย่างดุเดือด บางคนเลือกที่จะลาออกก่อนครบวาระ และไม่ได้จัดการเลือกตั้งพร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นพร้อมกันทั่วประเทศ ย่อมเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ขณะที่บางคนไม่สนชนักที่ติดหลัง เลือกที่จะไปตายดาบหน้า 

 

สุดท้ายเมื่อได้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ระยะเวลาผ่านไปแค่ 1 วันกว่าๆ ก็มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แม้จะชนะคู่แข่งมาได้เป็นนายก อบจ. สมัยที่ 4 แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ แต่ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร คนที่เสียประโยชน์จากเรื่องนี้ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล แต่เป็นคนไทยผู้เสียภาษีทุกคนนั่นเอง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X