กระแสของเกม ‘แดงเดือด’ นัดสุดท้ายของฤดูกาล 2021/22 (ก่อนที่สองคู่ปรับตลอดกาลจะพบกันครั้งหน้าที่กรุงเทพฯ ในรายการ THE MATCH ในวันที่ 12 กรกฎาคม) ดูจะอ่อนแรงกว่าปกติมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการพบกันของลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ดีกรีความเข้มข้นสูงกว่ามากในยามนี้
แต่การพบกันของคู่ปรับแห่งถนนสาย M62 ก็ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจให้ชวนคิดตามเสมอ
เช่นกันกับครั้งนี้ที่แม้เป้าหมายระหว่างทั้ง 2 สโมสรจะมองยอดเขาคนละลูก เมื่อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมองไปยังการพยายามยึดอันดับ 4 เพื่อกลับไปเล่นฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกอีกครั้งในฤดูกาลหน้า ซึ่งความหวังที่ดูเหมือนจะดับลงในช่วงที่ผ่านมาเริ่มกลับมามีแสงสว่างอีกครั้งจากผลการแข่งที่เป็นใจในสัปดาห์ล่าสุด
ขณะที่ลิเวอร์พูลมองไปไกลกว่ากับการลุ้นคว้า 4 แชมป์ในฤดูกาลเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีสโมสรใดในอังกฤษทำได้มาก่อน แม้แต่โคตรทีมในยุคของปรมาจารย์ลูกหนังอย่าง บิลล์ แชงคลีย์, บ็อบ เพสลีย์ หรือแม้แต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เองก็ทำได้สูงสุดแค่ 3 แชมป์ในฤดูกาล 1998/99
แน่นอนว่า 3 คะแนนคือ ‘อาหารจานหลัก’ สำหรับทั้งสองทีมในเกมที่แอนฟิลด์ค่ำคืนนี้ โดย ‘น้ำจิ้มรสเด็ด’ ที่จะช่วยชูรสคือการเห็นคู่ปรับสำคัญผิดหวังกับโอกาสที่จะพลาดเป้าหมาย ซึ่งสำหรับฝ่ายลิเวอร์พูลก็คือการตัดโอกาสไป #UCL ของแมนฯ ยูไนเต็ดซึ่งฝั่งนี้ก็แอบหวังเช่นกันว่าจะ ‘ขัดขา’ คู่แข่งให้หมดลุ้น 4 แชมป์ โดยเฉพาะพรีเมียร์ลีกที่ทุกคนรู้ว่าเดอะค็อปอยากได้มากแค่ไหน
ในเชิงของเกมการแข่งขัน มีหลายคำถามที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็น
- แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในสภาพนี้จะหยุดลิเวอร์พูลที่แข็งแกร่งทั่วแผ่นแบบนี้ได้อย่างไร
- ลิเวอร์พูลจะเอาชนะคู่ปรับตลอดกาลเพื่อเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ เพราะหลังจากนี้ยังมีเกมยากกับเอฟเวอร์ตันและท็อตแนม ฮอตสเปอร์รออยู่
- โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ จะกลับมาทำประตูได้อีกครั้งหรือไม่หลังจากฟอร์มตกมาร่วม 2 เดือน
- แฮร์รี แม็กไกวร์ จะแก้ตัวในสนามได้ไหม หลังจากที่มีช็อตผิดพลาดจนกลายเป็นตัวตลกในสายตาของแฟนฟุตบอล
แต่อีกสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการที่สองยอดกุนซือชาวเยอรมันอย่าง เจอร์เกน คล็อปป์ และ ราล์ฟ รังนิก จะได้กลับมาพบกันอีกครั้งในสนามหลังจากที่ไม่ได้ประลองสมองกันมายาวนานตั้งแต่เกมเดเอฟแอลซูเปอร์คัพ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2011 หรือเกือบ 11 ปีเลยทีเดียว
ไม่ใช่ทั้งศิษย์และไม่ใช่ทั้งครู
ย้อนหลังกลับไปเมื่อครั้งที่มีข่าวว่าแมนฯ ยูไนเต็ดสามารถกล่อมให้รังนิก ซึ่งในขณะนั้นนั่งแท่นผู้อำนวยการสโมสรโลโคโมทีฟ มอสโก ในรัสเซีย ได้เกิดการพูดถึงเรื่องราวความเก่งกาจของโค้ชที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘The Professor’ ของวงการลูกหนังเยอรมันกันหลายเรื่อง
หนึ่งในนั้นมีการพูดกันว่ารังนิก เป็นครูบาอาจารย์ของโค้ชเยอรมันยุคใหม่หลายคนรวมถึงคล็อปป์ด้วย
ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นการเข้าใจผิด ซึ่งตามถ้อยคำของตัวรังนิกเองก็ยืนยันว่าเขาไม่เคยเป็น ‘ครู’ หรือ Mentor ของคล็อปป์แต่อย่างใด เพราะหน้าที่นั้นเป็นของปรมาจารย์ลูกหนังอีกคนอย่าง โวล์ฟกัง แฟรงก์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักฟุตบอลในทีมไมนซ์ 05
เพียงแต่ทั้งสองรู้จักกันมานาน นอกจากจะดีต่อกันแล้วยังเคารพนับถือกันมาโดยตลอด
“เจอร์เกน (คล็อปป์) และตัวผมเองรู้จักกันมาตั้งแต่ปี 1997” รังนิกอธิบาย “ผมไม่ได้เป็นที่ปรึกษาของเขา เพราะคนที่เป็นคือ โวล์ฟกัง แฟรงก์ เพียงแต่เราติดต่อกันมาตลอดและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราเคารพซึ่งกันและกัน และมันเป็นแบบนี้ตลอดมา”
รังนิกยังเปิดเผยเรื่องน่ารักๆ ระหว่างทั้งสองอีกว่า เมื่อครั้งที่คล็อปป์ได้รับการเสนองานคุมทีมไมนซ์ในปี 2001 ด้วยความที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนจึงโทรมาขอคำปรึกษา ซึ่งคำปรึกษานั้นก็ไม่ใช่แค่เรื่องการทำงาน
แต่เป็นเรื่องการเรียก ‘เงินเดือน’ ด้วย!
“ผมจำได้เมื่อครั้งที่เจอร์เกนมาเป็นโค้ชใหญ่ที่ไมนซ์ เขาโทรมาหาผม ตอนนั้นผมคุมทีมอูล์มอยู่ เขาถามผมว่าเขาควรจะเรียกเงินจากไมนซ์แค่ไหนเพราะเขาไม่มีเอเจนต์ ผมก็เลยช่วยบอกเขาไป ผมกลายเป็นเหมือนเอเจนต์ของเขา คอยแนะนำว่าเขาควรจะเรียกร้องอะไรบ้าง”
รังนิกบอกว่าตอนนั้นคล็อปป์ยังใหม่มาก และไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เรียกร้องมากเกินไปไหม แต่ผู้จัดการทีมชั่วคราวของแมนฯ ยูไนเต็ดมั่นใจว่า ด้วยคำแนะนำของเขาคล็อปป์น่าจะได้ในสิ่งที่เขาต้องการ
ขณะที่คล็อปป์ช่วยการันตีให้รังนิกตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่ง “โชคไม่ดีที่โค้ชเก่งๆ อีกคนมาถึงอังกฤษและมาอยู่กับแมนฯ ยูไนเต็ด
“ในวงการโค้ชด้วยกัน (ในเยอรมนี) เขาเป็นคนที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง และไม่ว่าจะทำงานที่ไหนเขาก็จะสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมเสมอ เขาเริ่มต้นเส้นทางตั้งแต่ยังหนุ่มกับการเป็นโค้ชทีมชุดสองของสตุ๊ตการ์ต และไปต่อเรื่อยๆ หลังจากนั้น ผมมั่นใจว่าในตอนที่เขาไปคุมอูล์มและพาทีมขึ้นชั้นสู่บุนเดสลีกาเป็นช่วงเวลาที่บ้าคลั่งมาก
“เราเจอกันครั้งแรกตั้งแต่ตอนที่ผมยังเป็นโค้ชที่หนุ่มมาก ซึ่งตอนนั้นเขาอยู่ที่ฮันโนเวอร์ เขาอาจจะลืมไปแล้ว ซึ่งตอนนั้นทีมของเขาจะเจอกับคู่แข่งของเราในสัปดาห์ต่อจากนั้นเสมอ ทำให้เขาโทรมาหาผม คนที่เป็นผู้จัดการทีมคนหนุ่มที่ไมนซ์และถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมมีความสุขมากที่ราล์ฟ รังนิกผู้ยิ่งใหญ่โทรมาหาผม แต่เขาก็ได้ข้อมูลทุกอย่างที่เขาต้องการ พวกเขาได้เลื่อนชั้นส่วนพวกเราไม่ได้ ดังนั้นผมถือว่าเขาติดหนี้ผมอยู่!” คล็อปป์เล่าไว้ตอนที่รังนิกรับตำแหน่ง
Gegenpressing ฉบับเก่า-ใหม่
อีกหนึ่งสิ่งที่มีการพูดกันมากระหว่างรังนิกและคล็อปป์ คือเรื่องของสไตล์การเล่นเพรสซิงที่ดุดันในชื่อ Gegenpressing
ทั้งนี้ แม้ว่า Gegenpressing จะไม่ใช่ของใหม่สำหรับแฟนฟุตบอลยุคนี้ เพราะเป็นระบบการเล่นฟุตบอลที่โด่งดังไม่ได้แพ้ Tiki-taka ของบาร์เซโลนาที่เคยครองโลกในช่วง 10 ปีก่อน ซึ่งคนที่ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างก็คือคล็อปป์นั่นเอง เมื่อครั้งที่ย้ายมาคุมลิเวอร์พูลในเดือนตุลาคม 2015
แต่ข้อเท็จจริงคือ Gegenpressing ที่คล็อปป์ใช้นั้นได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากรังนิกด้วย (และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนเข้าใจว่าสองคนนี้เป็นศิษย์-อาจารย์กัน)
สิ่งที่ทำให้รังนิกได้รับการยกย่องอย่างสูงสุดในวงการฟุตบอลเยอรมันคือการเป็น ‘ครู’ ของโค้ชลูกหนังรุ่นใหม่จำนวนมาก ในฐานะของโค้ชหัวสมัยใหม่ที่เป็น Pioneer ให้แก่วงการ ในปี 2006 เขาเป็นโค้ชคนแรกที่นำระบบ Video Analysis มาใช้
แต่ผลงานชิ้นโบแดงคือการที่เขาคิดค้นระบบการเล่นที่เรียกว่า Gegenpressing ที่อธิบายกันง่ายๆ คือระบบที่จะชิงบอลกลับมาให้ได้ภายใน 6 วินาทีหลังจากที่เสียบอล และประตูส่วนใหญ่ที่ทำได้จะเกิดขึ้นภายใน 10 วินาทีหลังจากที่กลับมาเป็นฝ่ายครองบอลแล้ว
โดยรังนิกได้แนวคิดการเล่นแบบนี้มาจากฟุตบอลนัดกระชับมิตรนัดหนึ่ง ซึ่งทีมดินาโม เคียฟได้มาแข่งขันกับทีมวิกตอเรีย บักนัง (Victoria Backnang) ทีมท้องถิ่นในบ้านเกิด ซึ่งเขาเพิ่งเริ่มคุมทีมเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1983 ในบทผู้เล่น-โค้ช
เกมนั้นดินาโม เคียฟสอนบอลวิกคตอเรียสนุกเท้า แต่สิ่งที่ทำให้รังนิกประทับใจมากที่สุดคือสไตล์การเล่นของทีมจากยูเครนที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน กับการเดินหน้ากดดันคู่แข่งอย่างดุดันตลอดทั้งเกม
“ผมเคยเล่าเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้วว่าวันนั้นผมลงเล่นในสนามด้วย และหลังเกมผ่านไป 10 นาทีผมต้องนับตัวผู้เล่นในสนามเพราะผมคิดว่าพวกเขาอาจจะมีคนลงเล่นมากกว่าทีมผม 1-2 คน”
หลังจบเกมนั้นรังนิกขอเดินเข้าไปพบกับโค้ชของเคียฟ ซึ่งคือ วาเลรี โลบานอฟสกี ปรมาจารย์ลูกหนังหลังม่านเหล็ก และด้วยความช่วยเหลือของล่ามทำให้รังนิกได้รับความรู้ที่นำมาพัฒนาต่อยอด (โดยมีอิทธิพลของ เฮลมุต โกรสส์ สุดยอดกุนซือเยอรมัน และ อาร์ริโก ซาคคี โค้ชอัจฉริยะของวงการฟุตบอลอิตาลีร่วมด้วย)
ก่อนที่ Gegenpressing จะกลายเป็นระบบการเล่นที่สร้างความประทับใจให้แก่โค้ชในวงการฟุตบอลเยอรมัน ซึ่งรวมถึงคล็อปป์ที่นำมาพัฒนาต่อยอดในแบบของตัวเอง
“ในปี 2008 ฮอฟเฟนไฮม์ของผมเจอกับดอร์ทมุนด์ของเจอร์เกน เราเอาชนะพวกเขาได้ 4-1 และหลังจากนั้นในสัปดาห์ต่อมาเจอร์เกนก็ให้สัมภาษณ์ก่อนเกมว่าสไตล์ของเราคือสไตล์ฟุตบอลที่เขาต้องการจะใช้เล่นที่ดอร์ทมุนด์” รังนิกเปิดเผยเรื่องนี้ต่อ The Coaches’ Voice
“ภายในเวลา 2 ปี เขาได้เปลี่ยนแปลงทีม และทำให้ทีมเล่นในสไตล์นี้จนได้ และประสบความสำเร็จด้วย คว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ 2 สมัยติดต่อกันในปี 2011 และ 2012 รวมถึงในเดเอฟเบ โพคาลในปี 2012 ด้วย”
การพบกันครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในอังกฤษ
ภาพของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่ตีมือกับคล็อปป์ดังสนั่นหลังจบเกมที่เอติฮัด สเตเดียมคือภาพของ ‘คู่ปรับแห่งยุคสมัย’ ในสายตาของแฟนบอล
แล้วการพบกันระหว่างคล็อปป์กับรังนิกจะออกมาเป็นแบบไหน?
ที่แน่นอนคือความสัมพันธ์แต่เดิมมาทำให้บรรยากาศของเกมนี้ละมุนขึ้นพอสมควร เพียงแต่ในความเป็นมืออาชีพแล้วต่างฝ่ายต่างก็มีสิ่งที่ต้องทำ
คล็อปป์ต้องการชัยชนะเพื่อสร้างแรงกดดันให้กับแมนฯ ซิตี้ที่จะลงแข่งตามมาในวันรุ่งขึ้นกับไบรท์ตัน ขณะที่รังนิกเองอย่างที่บอกก็ต้องการชัยชนะเพื่อลุ้นอันดับ 4 เช่นกัน
สิ่งที่มากกว่านั้นคือนอกจากจะเป็นการพบกันครั้งแรกบนแผ่นดินอังกฤษของทั้งสองแล้ว ก็อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเมื่อค่อนข้างชัดเจนว่าแมนฯ ยูไนเต็ดจะเดินหน้าตามแผนเดิมในการหาโค้ชฝีมือดีมีอนาคตมาทำงานในบทผู้จัดการทีมเต็มตัว ซึ่งตามรายงานข่าวแล้วคือ เอริก เทน ฮาก โค้ชอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม
ส่วนรังนิกจะขึ้นแท่นเป็นที่ปรึกษาของสโมสรแทน ซึ่งเป็นงานที่เขาถนัดมากกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ดังนั้น เชื่อได้ว่าถึงจะเป็นรองมากแค่ไหน แต่รังนิกจะพยายามหาทางที่จะนำชัยชนะกลับแมนเชสเตอร์ให้ได้อย่างแน่นอน แม้จะยอมรับว่าคู่แข่งคือสุดยอดของวงการตัวจริง
“เขา (คล็อปป์) คือหนึ่งในโค้ชที่เก่งที่สุด และไม่ใช่แค่ตอนนี้แต่เป็นมา 2-3 ปีแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ พวกเขาซื้อผู้เล่นที่ถูกต้องและเคลียร์นักเตะที่ไม่ใช้งานได้อย่างถูกต้อง นี่คือเหตุผลที่พวกเขามาอยู่ในจุดนี้”
รังนิกยังบอกว่าสิ่งที่แมนฯ ยูไนเต็ดต้องทำคือการต้องพยายามเล่นกันให้แน่นขึ้น หาความสมดุลในระหว่างที่ครองบอล และในระหว่างที่ต้องตั้งรับหน้าประตู ต้องดุดันขึ้นและกล้ามากขึ้นแต่ก็ต้องแน่ใจว่าทุกคนจะลงไปช่วยเกมรับ
“เราต้องเล่นเกมรับอย่างดีที่สุด แต่ต้องรับอย่างมีแผนและหาทางที่จะลงสนามโดยที่เรายังมีความอันตรายของเราอยู่”
คล็อปป์เองก็ไม่ประมาทและยังมองขาดว่าความจริงแล้วแมนฯ ยูไนเต็ดก็ดีขึ้นในหลายจุด โดยเฉพาะในเรื่อง ‘โครงสร้าง’ ของทีม เหลือแค่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกคือการรักษาโมเมนตัมเอาไว้
“ราล์ฟพยายามจัดระเบียบทีมด้วยการวางโครงสร้างที่ชัดเจน นี่คือสิ่งที่เขาทำ ยูไนเต็ดก็เล่นดีหลายนัดแต่ถึงพวกเขาชนะก็ยังยากที่จะรักษาโมเมนตัมได้ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็เสียประตูน้อยลงแน่นอน”
อย่างไรก็ดี ด้วยสถานะของทั้งสองทีม เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์แล้วนายใหญ่แห่งแอนฟิลด์ให้คำตอบว่า ‘พักก่อน’ และไม่ได้มีการติดต่อกันอีกนับตั้งแต่คุมทีมในอังกฤษด้วยกัน
เอาไว้หลังจบเกมค่อยจับมือกันประสาคนคุ้นเคยที่ยังรักและนับถือกันเหมือนเดิม
อ้างอิง:
- https://www.espn.com/soccer/liverpool-engliverpool/story/4645573/liverpools-jurgen-klopp-on-ralf-rangnick-relationship-on-hold-ahead-of-man-united-clash
- https://metro.co.uk/2021/12/05/ralf-rangnick-explains-unique-relationship-with-jurgen-klopp-i-was-his-agent-15717656/
- https://www.theguardian.com/football/2021/nov/26/jurgen-klopp-ralf-rangnicks-arrival-is-bad-news-for-rest-of-premier-league
- https://talksport.com/football/990349/ralf-rangnick-jurgen-klopp-chelsea-liverpool-thomas-tuchel-man-utd/
- https://www.coachesvoice.com/ralf-rangnick-red-bull-salzburg-jurgen-klopp-rb-leipzig/
- https://www.dailystar.co.uk/sport/football/klopp-rangnick-solskjaer-liverpool-united-26737276