×

Return of The Guitar Jedi: กีตาร์จะกลับมาระบาดแล้วนะคะ

02.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS. READ
  • ซีอีโอของ Fender ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในจำนวนกีตาร์ที่ Fender ขายได้ในแต่ละปี ในระยะหลัง 45% ของผู้ซื้อเป็นคนที่ซื้อเพื่อไปหัดเล่นใหม่ๆ และครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้เป็น ‘ผู้หญิง’
  • “สิ่งที่เราไม่เคยนึกถึงหรือเฉลียวใจมาก่อนเลยคือ การเดินเข้าไปในร้านกีตาร์สำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องที่น่าอึดอัด เพราะร้านค้าส่วนใหญ่มีการตกแต่งด้วยบรรยากาศแห่งความร็อกแอนด์โรล และพนักงานในร้านแทบทั้งหมดเป็นชายล้วนมาดร็อก” แต่ในปัจจุบันสาวๆ สามารถเลือกซื้อกีตาร์ได้จากทางหน้าเว็บไซต์ มีข้อมูลรีวิวทุกอย่างพร้อมก่อนตัดสินใจ และสินค้าก็มาส่งถึงหน้าบ้านด้วยหีบห่ออันมิดชิดโดยไม่ต้องขวยเขิน
  • การกำเนิดใหม่ของวงหญิงล้วน และวงที่มีผู้หญิงเป็นมือกีตาร์ที่น่าจับตามองมากมายตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา ยิ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ากีตาร์กำลังกลับมาแล้วด้วยพลังแห่ง Girl Power ที่ไม่ต้องสร้างแคมเปญป่าวประกาศที่แฝงไปด้วยการประชาสัมพันธ์ตนเองแบบที่มีวงเกิร์ลกรุ๊ปเคยทำมาก่อนในยุค 90 
  • ถ้าไม่เชื่อลองเอาชื่อศิลปินเหล่านี้ไปค้นหาดูใน YouTube หรือสื่อสตรีมมิงเพลงต่างๆ ดูสิ คุณอาจจะได้ศิลปินในดวงใจเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่งเลยก็ได้ ลองพิมพ์ว่า Wolf Alice, Daughter, Warpaint, Screaming Females, Japanese Breakfast, The Regrettes, Sunflower Bean, Alvvays แล้วลองเสพดูว่ามีวงไหนถูกหูถูกใจบ้างไหม

ในยุคแห่งนานาวัฒนธรรมอันเชี่ยวกราก ทุกสิ่งอย่างหมุนไวไปเร็วขึ้นอย่างทวีคูณ อะไรที่ถูกกล่าวอ้างว่ามีการจัดระเบียบมากว่าร้อยปีแล้วตามเวลาจริง เมื่อถูกเข้าสมการที่คูณด้วยอัตราความเร่ง ณ ปัจจุบัน อาจหมายถึงความล้าสมัยไปแล้วกว่าร้อยเท่าตามเวลาแห่งโลกเสมือน ทุกอย่างเก่าไวยิ่งกว่า iPhone แม้แต่มินิฮาร์ตที่เคยเป็นอวัจนภาษาแห่งความน่ารักกุ๊กกิ๊ก ก็ยังสามารถถูกแปรเปลี่ยนความหมายไปได้โดยสิ้นเชิงภายในวันเดียว กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความไม่เดียงสาแก่กาลเทศะและวุฒิภาวะทางปัญญาเสียอย่างนั้น…นะจ๊ะ

 

นับประสาอะไรกับวงการดนตรี ที่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีข้อสังเกตถึงลมหายใจอันรวยรินของกีตาร์ เครื่องดนตรีที่เคยเป็นที่นิยมและเป็นเสียงที่ขับเคลื่อนดนตรีแทบทุกแนวมากว่าครึ่งทศวรรษ กลับโดนแย่งซีนโดยเครื่องกดๆ จิ้มๆ ที่มากับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของชาวมิลเลนเนียล (สามารถอ่านได้จากบทความ thestandard.co/guitar-nearly-done/) แต่ไม่ทันไรวัฏจักรแห่งความนิยมก็ได้ฉายแววว่าจะหมุนกลับมาที่กีตาร์อีกแล้ว โดยมีสัญญาณบ่งชี้จากเหตุการณ์ต่างๆ มากมายถึงการปรับตัวอย่างเข้ารูปเข้ารอยขึ้นเรื่อยๆ ในบริบทของดนตรีแห่งยุคปัจจุบัน

 

 โจ เพอร์รี มือกีตาร์แห่ง Aerosmith

 

ล้างไพ่กันก่อนเริ่มเกมใหม่

กีตาร์แบรนด์ดังอันเป็นประวัติศาสตร์โลกอย่าง Gibson ที่มีความมั่นคงเสมอมา ได้เผชิญหน้ากับภาวะขาลงทางธุรกิจอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงยุค 10 และสุดท้ายต้องตกอยู่ในสถานภาพล้มละลายในที่สุดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2018 โดยเหตุจากการวางแผนยุทธศาสตร์และการบริหารที่ผิดพลาดของ เฮนรี จัสซ์คีวิคซ์ ซีอีโอบริษัทในยุคนั้น แทนที่จะโฟกัสกับการธำรงความเป็นตำนานของเครื่องดนตรีอันคลาสสิกเหนือกาลเวลาอย่าง Gibson Guitar แต่กลับหันไปขยายไลน์สินค้าเพื่อพยายามตั้งตนเป็น ‘Musical Lifestyle Company’ ที่มีทุกอย่างราวกับ Xiaomi แห่งวงการดนตรี ด้วยการกว้านซื้อแบรนด์เครื่องเสียงต่างๆ หลายยี่ห้อมาไว้ในกำมือ เช่น Philips, Tascam, Onkyo, Stanton DJ, Cerwin Vega ซึ่งแม้ว่าทำให้ตัวเลขผลประกอบการทะยานสูงขึ้นราวกับยานอวกาศชาเลนเจอร์ แต่สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของกำไรกลับทะยานลงแรงยิ่งกว่าเมื่อเทียบกับสมัยที่ทำกีตาร์อย่างเดียว จนทำให้ Gibson พบกับจุดจบเดียวกับยานชาเลนเจอร์ที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมกลางอากาศ พร้อมกับหนี้สินพะรุงพะรัง กระทั่งนำบริษัทมาสู่สถานภาพล้มละลายในที่สุด เฮนรี จัสซ์คีวิคซ์ จึงต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการออกจากตำแหน่งผู้บริหารด้วยผลงานชิ้นโบดำอันเป็นที่ประจักษ์ โดยไม่จำเป็นต้องหลั่งน้ำตาในที่ธารกำนัลแต่อย่างใด ครั้นจะดื้อแพ่งไม่ออกก็ไม่ได้ เพราะเฮนรีมิได้มีอาวุธสงครามอันใดอยู่ในครอบครอง

 

แต่ตำนานอย่าง Gibson ไม่จบลงง่ายๆ เมื่อสายลมแห่งความหวังได้พัดพาซีอีโอคนใหม่อย่าง เจมส์ เคอร์ลี นักธุรกิจมากประสบการณ์ผู้เคยนั่งแท่นซีอีโอของแบรนด์เสื้อผ้าสุดเก๋าแห่งเผ่าอเมริกันชนอย่าง Levi Strauss & Co. เข้ามารื้อล้างระบอบเดิม และทำการรีแบรนดิ้งใหม่ทั้งหมด โดยตั้งเป้าภารกิจว่าแบรนด์ Gibson คือ ‘เรื่องราว’ (Story) ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานถึง 125 ปี เสียงของกีตาร์แบรนด์นี้มีอยู่ในดนตรีทุกยุคสมัย และเป็นไอคอนคู่กายศิลปินระดับโลกในทุกแนวดนตรี เพราะฉะนั้นเขาจะมุ่งเน้นให้เสียงของกีตาร์ Gibson มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ดนตรีออกมาสู่โลกให้มากที่สุด เคอร์ลีได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า “เราต้องการให้กีตาร์ของเราเป็นกีตาร์ที่ถูกเล่นมากที่สุด และมีเสน่ห์เป็นที่หลงรักมากที่สุด ซึ่งเดิมทีด้วย Gibson เป็นแบรนด์ที่มีเสน่ห์และความขลังอยู่แล้ว เท่านี้ก็เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเราแล้ว”

 

สิ่งที่เราเห็นและรับรู้ได้หลังจากการเปลี่ยนซีอีโอใหม่ของ Gibson คือการพยายามดึงเอากีตาร์รุ่นคลาสสิกที่นักกีตาร์โหยหากลับมาอวตารใหม่ และเพิ่มไลน์กีตาร์แนวโมเดิร์นออกมาเป็นทางเลือกที่มีสีสัน รวมไปถึงการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ลูกในสังกัดอย่าง Epiphone ที่ทำมาตอบโจทย์ตลาดกีตาร์ราคาย่อมเยาให้มีสีสันและทางเลือกให้น่าหยิบจับมากขึ้น ช่วงปีนี้จึงเป็นช่วงที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในการกอบกู้สถานการณ์ของ Gibson

 

St. Vincent

 

อันมือไกวเปลไซร้แต่ไรมา คือหัตถาคว้ากีตาร์จบสากล

‘จะมีเหล่านารีขี่ม้าขาว สะพายขวานแผดเสียงแห่งความหวัง

ผู้บรรเลงจะเป็นหญิงทรงพลัง สายโน้ตหลั่งเมโลดี้ขยี้ใจ’

 

(หมายเหตุ: ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาเพื่อล้อเลียนหรือลบหลู่ความเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น)

 

เมื่อมีค่ายอากู๋ ก็ต้องมีค่ายอาเฮีย เมื่อมีแมคโดนัลด์ ก็ย่อมมีเบอร์เกอร์คิง เช่นเดียวกับเมื่อมี Gibson ก็ต้องมี Fender ที่เป็นอีกแบรนด์กีตาร์ระดับโลกที่มีตำนานยาวนานไม่แพ้กัน แอนดี้ มูนนี ซีอีโอของ Fender ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในจำนวนกีตาร์ที่ Fender ขายได้ในแต่ละปีในระยะหลังๆ นี้ ปรากฏว่า 45% ของผู้ซื้อเป็นคนที่ซื้อเพื่อไปหัดเล่นใหม่ๆ และครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้เป็น ‘ผู้หญิง’ ข้อมูลนี้เป็นที่ตกตะลึงไม่น้อย จนนำไปสู่การวิเคราะห์หาสาเหตุ ซึ่งในที่สุดก็ได้คำตอบคือ ‘เทคโนโลยี’ อีกแล้ว สิ่งนี้เข้ามาเกี่ยวข้องไปเสียทุกเรื่องในโลก เทคโนโลยีที่กล่าวถึงคือ การซื้อสินค้าออนไลน์ที่ทำได้สะดวกขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก สิ่งที่เราไม่เคยนึกถึงหรือเฉลียวใจมาก่อนเลยคือ การเดินเข้าไปในร้านกีตาร์สำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดพอสมควรเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับมือใหม่หัดเล่น เพราะร้านค้าส่วนใหญ่มีการตกแต่งด้วยบรรยากาศแห่งความร็อกแอนด์โรล และพนักงานในร้านแทบทั้งหมดเป็นชายล้วนมาดร็อก ถ้าไม่ใช่สาวห้าวก็ต้องมีอาการเขินอายกันบ้าง ความรู้สึกคล้ายๆ กับการที่ลูกผู้ชายสักคนต้องเดินเข้าไปเลือกซื้อถุงยางอนามัยในร้านสะดวกซื้อที่มีแคชเชียร์เป็นผู้หญิงในยามดึกสงัดอันหนาวเหน็บ แต่ในปัจจุบันสาวๆ สามารถเลือกซื้อกีตาร์ได้จากทางหน้าเว็บไซต์ มีข้อมูลรีวิวทุกอย่างพร้อมก่อนตัดสินใจ และสินค้าก็มาส่งถึงหน้าบ้านด้วยหีบห่ออันมิดชิดโดยไม่ต้องขวยเขิน

 

และเพื่อกระตุ้นเทรนด์กีตาร์พลังหญิงที่กำลังเดือดอยู่นี้ Fender ได้ประกาศว่าภายในปี 2020 จะมีการทำกีตาร์รุ่นซิกเนเจอร์ของศิลปินหญิงออกมามากขึ้น ซึ่งทางนิตยสาร Guitar World ได้นำเสนอรายชื่อศิลปินหญิงจำนวนหนึ่งที่น่าจะมีโอกาสมีกีตาร์รุ่นซิกเนเจอร์ของตัวเอง เช่น Samantha Fish, Anna Calvi, Cortney Barnette เป็นต้น ในขณะที่ Fender Japan ได้ล่วงหน้าทำกีตาร์รุ่นซิกเนเจอร์ของศิลปินหญิงไปก่อนหน้านี้แล้วอย่างวง Scandal ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 และ Silent Siren ในปี 2020 นี้เอง ซึ่งก็มีดีไซน์ที่ติดความเท่แบบเฟมินีนไม่น้อย

 

 

ณ ชั่วโมงนี้ ถึงแม้ว่า เทย์เลอร์ สวิฟต์ จะเลิกใช้กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีคู่ใจในการแสดงคอนเสิร์ตไปแล้ว แต่กีตาร์พลังหญิงยังคงคุกรุ่นอยู่ในวงการดนตรีอย่างกลมกล่อม

 

St. Vincent กับกีตาร์ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับสรีระของสตรีเพศ

 

แอนนี คลาร์ก หรือที่เรารู้จักกันในนามศิลปิน St.Vincent ผู้มากับดนตรีแนว Avant-Garde Rock ที่เคยได้ครอบครองรางวัล Grammy Awards มาแล้วถึง 2 ครั้ง เป็นผู้หญิงคนแรกๆ ในยุคนี้ที่มีสไตล์การเล่นกีตาร์ที่โดดเด่นจนได้รับการทาบทามจากบริษัทผู้ผลิตกีตาร์อย่าง Ernie Ball Music Man ให้มาร่วมออกแบบกีตาร์รุ่นซิกเนเจอร์ของตัวเอง และผลที่ได้คือมันกลายเป็นกีตาร์ที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านของการดีไซน์ที่มีส่วนผสมอันกลมกล่อมระหว่างอดีตมาถึงปัจจุบันและมีเส้นโครงที่เชื่อมโยงไปยังอนาคต หลุดจากกรอบความอนุรักษ์นิยมไปแบบพอดีๆ แต่ก็ดูไม่พยายามจะล้ำหน้าไปจนเกินงาม เรียกได้ว่าเส้นสายดูลงตัวสุดๆ

 

St.Vincent กับกีตาร์รุ่นซิกเนเจอร์ของเธอ

ภาพ: commons.wikimedia.org

 

นอกจากแอนนีจะใส่รสนิยมทางภาพลักษณ์ลงไปในดีไซน์แล้ว เธอยังออกแบบให้กีตาร์รุ่นนี้เหมาะกับสรีระของผู้หญิงอีกด้วย สิ่งแรกที่คำนึงถึงคือน้ำหนักที่ค่อนข้างเบา ผู้หญิงตัวเล็กๆ สามารถสะพายได้อย่างทะมัดทะแมง และองศาของตัวกีตาร์มีความเฉียงที่พอดี ไม่ไปกดทับหน้าอกหน้าใจให้อึดอัด ทุกอย่างได้ถูกคิดไว้หมดแล้ว แอนนีกล่าวว่า 

 

“หลายครั้งที่ฉันเล่นคอนเสิร์ตและพบว่าการสะพายกีตาร์มันไปบดบังส่วนที่สวยงามที่สุดส่วนหนึ่งของร่างกายผู้หญิง นั่นก็คือส่วนเอว จนทำให้ฉันต้องตั้งเงื่อนไขในการเลือกเสื้อผ้าที่ใส่ในการแสดงทุกครั้ง โดยชุดจะต้องส่งเสริมให้ดูรูปร่างดีโดยที่ต้องสะพายกีตาร์ไปด้วย แต่สำหรับกีตาร์รุ่นนี้ มันถูกออกแบบให้มีส่วนคอดตรงกลางบอดี้ เพื่อช่วยให้รูปร่างของฉันตรงส่วนเอวดูดีบนเวที ฉันต้องการให้กีตาร์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ดูสวยงามเวลาสะพายบนเวทีคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะสำหรับผู้หญิงหรือเพศใดๆ ก็ตาม” แอนนีให้คำจำกัดความของกีตาร์รุ่นนี้ว่า ‘Gender Inclusively Ergonomic’ (สอดคล้องกับการยศาสตร์ของทุกเพศ)

 

หลังจากกีตาร์รุ่นนี้ได้ออกขายอย่างเป็นทางการ ก็มีผู้พบเห็นมันถูกสะพายอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตของ Foo Fighters โดยป๋าเดฟ โกรห์ล และศิลปินสุดเซอร์อย่าง Beck เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นศิลปินชายทั้งคู่

 

 

 

 

กลุ่มเด็กสาวที่ซื้อกีตาร์ไปหัดเล่นกันในวันนั้น เริ่มมีผลงานมาให้เห็นกันในวันนี้แล้วนะคะ

อีเวทท์ ยัง เด็กสาวดาวรุ่งอีกคนที่เพิ่งได้มีกีตาร์รุ่นซิกเนเจอร์ของตัวเองกับกีตาร์แบรนด์ Ibanez ด้วยสไตล์การเล่นกีตาร์ที่ไม่เหมือนกีตาร์ของเธอ เนื่องจากเธอมีพื้นฐานจากการเล่นเปียโนสายคลาสสิกในวัยเด็ก เธอจึงนำมาประยุกต์การวางโน้ตแบบใหม่ ประสานกับเทคนิคการกดๆ จิ้มๆ แบบนักเปียโน แต่เป็นการกดๆ จิ้มๆ บนคอกีตาร์ ทำให้เธอมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในเวลาอันรวดเร็ว เธอเริ่มฝึกกีตาร์จากการที่ในวัยเด็กเธอเคยป่วยจนต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นปีๆ กิจกรรมของคนป่วยในช่วงเวลานั้นเลยเป็นการหัดเล่นกีตาร์แก้เบื่อเสียเลย เพราะเธอคงไม่สามารถขอให้ใครยกเปียโนไปให้เธอเล่นในห้องพักที่โรงพยาบาลได้ เหตุการณ์นี้ถือเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสอย่างยิ่ง เพราะมันทำให้เธอได้รับสกิลที่ไม่เหมือนใครมาต่อยอด และพาวงแนว Math-Rock อย่างวง Covet ของเธอขึ้นมาปักหมุดบนแผนที่วงรุ่นใหม่อนาคตไกลได้ในที่สุด

 

 

นอกจากนี้ยังมีการกำเนิดใหม่ของวงหญิงล้วน และวงที่มีผู้หญิงเป็นมือกีตาร์ที่น่าจับตามองมากมายตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา ยิ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ากีตาร์กำลังกลับมาแล้วด้วยพลังแห่ง Girl Power ที่ไม่ต้องสร้างแคมเปญป่าวประกาศที่แฝงไปด้วยการประชาสัมพันธ์ตนเองแบบที่มีวงเกิร์ลกรุ๊ปเคยทำมาก่อนในยุค 90 เมื่อถึงยุคนี้ที่ผลงานแสดงออกได้ดีกว่าคำพูด ถ้าไม่เชื่อลองเอาชื่อศิลปินเหล่านี้ไปค้นหาดูใน YouTube หรือสื่อสตรีมมิงเพลงต่างๆ ดูสิ คุณอาจจะได้ศิลปินในดวงใจเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่งเลยก็ได้ ลองพิมพ์ว่า Wolf Alice, Daughter, Warpaint, Screaming Females, Japanese Breakfast, The Regrettes, Sunflower Bean, Alvvays แล้วลองเสพดูว่ามีวงไหนถูกหูถูกใจบ้างไหม

 

 

 

 

 

 

วัฏจักรของโลกใบนี้ได้เปลี่ยนไปไวเกินกว่าที่ใครจะคาดเดาได้ งานเทรดโชว์อุปกรณ์ดนตรีระดับโลกอย่าง Namm Show ที่จัดขึ้นทุกปีที่เมืองอนาไฮม์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในปีนี้ที่เพิ่งจบไปเมื่อกลางเดือนมกราคม 2020 แสดงให้เห็นว่าไฮไลต์ของงานคือการเปิดตัวกีตาร์รุ่นใหม่ๆ จากแบรนด์ดังๆ มาชนกันมากมาย เรียกว่าคึกคักที่สุดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว โดยที่ปีก่อนๆ ไฮไลต์ของงานมักจะเป็นพวกเครื่องดนตรีสังเคราะห์ และซอฟต์แวร์ทำเพลง

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเทรนด์ของการเล่นและการฟังดนตรีจะเปลี่ยนไปไวเท่าไร และไม่รู้ว่าการกลับมาของกีตาร์ครั้งนี้จะดำรงอยู่ได้นานเท่าไร แต่สิ่งที่ยังคงอยู่เสมอก็คือ ‘ดนตรี’ การถ่ายทอดตัวโน้ตอาจใช้เครื่องมือที่ต่างกันไปตามวาระ แต่ตัวโน้ตเหล่านั้นไม่เคยหยุดถ่ายทอด ในเมื่อชาวโลกยังคงเสพดนตรีเป็นอาหารทางจิตใจ โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่โลกเราต้องเผชิญกับความตึงเครียดเหนื่อยล้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากพิษเศรษฐกิจ โรคระบาด และเรื่องไม่เป็นเรื่องอีกระคนปนเป สำหรับบางคนแล้วการใช้ชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณในการแต่งเพลงไว้ฟังเอง หรือให้หมาแมวที่บ้านฟังสัก 10 อัลบั้ม โดยไม่ต้องใช้สื่อประชาสัมพันธ์ของหลวง อาจจะเป็นทางเลือกที่จรรโลงใจแก่บุคคลนั้นเอง และยังสามารถช่วยยุติความเดือดร้อนในระดับมหภาค อันนำมาซึ่งสันติสุขแก่มวลชนในที่สุดก็เป็นได้ เห็นไหมล่ะว่าดนตรีมีประโยชน์ขนาดไหน…นะจ๊ะ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า  

อ้างอิง:

 

รูปภาพจาก 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising