×

กระแสตื่นตัวปัญหาสิ่งแวดล้อม บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของโลกตั้งเป้าใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลภายในปี 2025

27.08.2019
  • LOADING...

หลัง World Economic Forum เคยออกรายงานเตือนว่าในปี 2050 มหาสมุทรจะมีปริมาณขยะพลาสติกมากกว่าจำนวนปลา ซึ่งบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารเป็นหนึ่งในตัวการที่ก่อมลภาวะในทะเล ส่งผลให้บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำหลายแห่งตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

เริ่มต้นด้วย Nestlé ซึ่งสร้างขยะพลาสติกประมาณ 1.5 ล้านตันในปี 2018 ได้ออกมาประกาศเจตจำนงว่าจะหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือสามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2025

 

ในปีนี้ Nestlé ประกาศว่าจะไม่แจกหลอดพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ของบริษัท และก่อตั้งสถาบันวิทยาการด้านบรรจุภัณฑ์ (Nestlé Institute of Packaging Sciences) เพื่อพัฒนา วิจัย ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมมือกับ Loop บริษัทโซลูชันหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของบริษัทอันดับต้นๆ ของโลก เช่น Procter & Gamble, PepsiCo, Mondelēz International และ TerraCycle โดยบริษัทจะจัดส่งผลิตภัณฑ์ใส่ลงในบรรจุภัณฑ์ที่มีความทนทานและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึงหน้าประตูบ้าน เมื่อลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์จนหมดแล้วจึงรับบรรจุภัณฑ์กลับมาทำความสะอาด เติมผลิตภัณฑ์ลงในบรรจุภัณฑ์เดิม และหมุนเวียนใช้ต่อไป

 

ขณะที่ Mondelēz นำผลิตภัณฑ์ขนมหวานของบริษัทเข้าร่วมรายการดังกล่าว พร้อมตั้งเป้าหมายเช่นเดียวกันว่าจะลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกในปี 2025 ด้วยการเริ่มลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกกว่า 65 ล้านกิโลกรัม และเปลี่ยนไปใช้กระดาษแทนเป็นหลักในปี 2020 พร้อมเตรียมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรีไซเคิลบนบรรจุภัณฑ์ในปี 2025

 

Unilever ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกก็ตั้งเป้าว่าจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ในปี 2025 เช่นเดียวกัน ด้วยการใช้พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ในบรรจุภัณฑ์ 25% และพัฒนา CreaSolv เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนซองชาเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้อีกด้วย

 

หลังจากที่บริษัทเหล่านี้ประกาศลดการใช้พลาสติก และคณะกรรมธิการยุโรปประกาศห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในปี 2020 ที่จะถึงนี้ ทำให้มีผู้ประกอบการผลิตบรรจุภัณฑ์ทางเลือกออกมาวางขายในท้องตลาดมากมาย

 

NatureWorks ตัดสินใจลงมาเป็นผู้เล่นในตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกด้วยการนำข้าวโพดมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น แคปซูลกาแฟ หรือถ้วยโยเกิร์ต แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับพบว่าบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้อย่างเต็มที่ในหลุมฝังกลบขยะ

 

TIPA ซึ่งเป็นอีกบริษัทหนึ่งซึ่งผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ยืดหยุ่น แข็งแรง และทนทาน สำหรับบรรจุลูกอม เมล็ดกาแฟ และผักผลไม้ตามท้องตลาด

 

หากต้องการยืดอายุผักและผลไม้ Apeel Sciences ทำการวิจัยและคิดค้น Edipeel ซึ่งเป็นสารเคลือบผักผลไม้ไร้รสชาติที่ทำมาจากพืช และสามารถรับประทานได้ ในขณะนี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ แล้ว

 

นอกจากนี้ผู้บริโภคทั่วไปยังสามารถลดการใช้พลาสติกจากบ้านได้ด้วยการใช้ผ้าเคลือบขี้ผึ้ง (Bees Wrap Wax) แทนการใช้พลาสติกแรปห่อผัก ผลไม้ และแซนด์วิชได้เช่นกัน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X