×

หุ้น ‘ค้าปลีก-อสังหาฯ’ ยังเหนื่อย! หลัง IMF หั่นการเติบโต GDP ไทย

27.01.2021
  • LOADING...
หุ้น ‘ค้าปลีก-อสังหาฯ’ ยังเหนื่อย! หลัง IMF หั่นการเติบโต GDP ไทย

จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) เมื่อวันที่ 26 มกราคม โดยปรับเพิ่มคาดการณ์​เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโต 5.5% จากอานิสงส์ของวัคซีนโควิด-19 แต่กลับปรับลดการเติบโตของ GDP ประเทศไทย เหลือเติบโต 2.7%

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ จะเห็นระลอกของการปรับลดคาดการณ์ตัวเลข GDP ของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์เคยประเมินไว้สูงถึง 4% ทำให้ตัวเลขคาดการณ์ที่ค่อนข้างสูงนี้ จะถูกปรับลดลงมาต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้วในช่วงเวลานี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้น 

 

ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้น ตราบใดที่ GDP ยังถูกปรับลด หุ้นในกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic) ไม่ว่าจะเป็น ค้าปลีก ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ จะยังมีอัปไซด์จำกัด ซึ่งต่อจากนี้คงต้องติดตามพัฒนาการของโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่าจะยังระบาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ 

 

“การล็อกดาวน์หรือไม่ล็อกดาวน์ไม่สำคัญเท่ากับความเชื่อมั่นของประชาชน เพราะฉะนั้นคงต้องตามดูว่า การแพร่ระบาดจะชะลอลงเมื่อใด หากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงเหลือใกล้ศูนย์ อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของการเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่ม Domestic ได้ แต่คงจะฟันธงยากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด”

 

ขณะเดียวกัน การที่ GDP โลกถูกปรับขึ้น ทำให้หุ้นในกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจโลกจะมีความโดดเด่นมากกว่า ส่งผลต่อหุ้นในกลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี โลจิสติกส์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ค่อนข้างน่าสนใจ 

 

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) และอัตราดอกเบี้ยของไทยจะทรงตัวต่ำต่อไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อหุ้นกลุ่มปันผลสูง และมีกระแสเงินสดแน่นอน อย่างกลุ่มสาธารณูปโภค รวมถึงกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนการกู้ยืมต่ำ เช่น ไฟแนนซ์ 

 

หุ้น ค้าปลีก อสังหาฯ ในตาราง infographic

 

ด้าน สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า เราประเมิน GDP ไทยปีนี้เติบโตประมาณ 2.6% โดยที่การบริโภคในประเทศ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 50-55% ของ GDP อาจจะมีดาวน์ไซด์อยู่บ้าง หากมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินจากภาครัฐหมดลงในเดือนมีนาคมนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการอัดฉีดเงินที่ออกมานี้ ส่งผลลบทางอ้อมต่อบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง อย่างมาตรการให้วงเงิน 3,500 บาทต่อคน ซึ่งไม่สามารถใช้ได้กับบริษัทจดทะเบียน เช่น CPALL หรือ BJC ส่งผลให้ยอดขายของสาขาเดิม (SSSG) ลดลงในระดับ 15% สำหรับช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และอาจจะกดดันต่อเนื่องมาในไตรมาส 1 ปีนี้ 

 

ส่วนภาพของตลาดหุ้น ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในปีนี้คือ Dollar Index แม้ว่าในระยะ 12 เดือนข้างหน้า เงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มจะอ่อนค่า โดยคาดว่า Dollar Index จะอ่อนค่าจาก 90.2 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 88 ดอลลาร์ ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าเป็น 29-29.25 บาทต่อดอลลาร์ 

 

แต่ในระยะสั้น เงินดอลลาร์อาจจะแข็งค่ากลับขึ้นมาได้ และกดดันให้เงินทุน (Fund Flow) ที่ไหลเข้า Emerging Market หยุดชะงัก โดยปัจจัยที่อาจทำให้เป็นเช่นนั้นคือ โทนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันนี้ หากมีการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อเริ่มกลับมา และตัวเลขการจ้างงานดีขึ้น 

 

ขณะเดียวกัน หากวัคซีนสามารถกระจายได้เร็ว จนถึงระดับ 100 ล้านโดส ในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มชะลอลง 

 

“ในระยะสั้นมองว่าหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์น่าจะเป็นกลุ่มที่ Outperform ตลาด จากแนวโน้มกำไรที่จะฟื้นกลับไปเท่ากับระดับก่อนโควิด-19 ได้เร็วที่สุดรองจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มแบงก์ที่สถานการณ์โดยรวมไม่แย่อย่างที่คิดจากงบฯ ที่ประกาศออกมาล่าสุด และยังมีมูลค่าค่อนข้างถูก ขณะที่หุ้นกลุ่มค้าปลีกน่าจะเป็นกลุ่มที่ Underperform ตลาด ด้วยการบริโภคที่อาจจะชะลอลงอีก สำหรับกลุ่มนี้มองว่าจังหวะฟื้นตัวอาจจะเป็นช่วงครึ่งปีหลัง” 

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising