จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) เมื่อวันที่ 26 มกราคม โดยปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโต 5.5% จากอานิสงส์ของวัคซีนโควิด-19 แต่กลับปรับลดการเติบโตของ GDP ประเทศไทย เหลือเติบโต 2.7%
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ จะเห็นระลอกของการปรับลดคาดการณ์ตัวเลข GDP ของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์เคยประเมินไว้สูงถึง 4% ทำให้ตัวเลขคาดการณ์ที่ค่อนข้างสูงนี้ จะถูกปรับลดลงมาต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้วในช่วงเวลานี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้น
ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้น ตราบใดที่ GDP ยังถูกปรับลด หุ้นในกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic) ไม่ว่าจะเป็น ค้าปลีก ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ จะยังมีอัปไซด์จำกัด ซึ่งต่อจากนี้คงต้องติดตามพัฒนาการของโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่าจะยังระบาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่
“การล็อกดาวน์หรือไม่ล็อกดาวน์ไม่สำคัญเท่ากับความเชื่อมั่นของประชาชน เพราะฉะนั้นคงต้องตามดูว่า การแพร่ระบาดจะชะลอลงเมื่อใด หากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงเหลือใกล้ศูนย์ อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของการเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่ม Domestic ได้ แต่คงจะฟันธงยากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด”
ขณะเดียวกัน การที่ GDP โลกถูกปรับขึ้น ทำให้หุ้นในกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจโลกจะมีความโดดเด่นมากกว่า ส่งผลต่อหุ้นในกลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี โลจิสติกส์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ค่อนข้างน่าสนใจ
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) และอัตราดอกเบี้ยของไทยจะทรงตัวต่ำต่อไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อหุ้นกลุ่มปันผลสูง และมีกระแสเงินสดแน่นอน อย่างกลุ่มสาธารณูปโภค รวมถึงกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนการกู้ยืมต่ำ เช่น ไฟแนนซ์
ด้าน สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า เราประเมิน GDP ไทยปีนี้เติบโตประมาณ 2.6% โดยที่การบริโภคในประเทศ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 50-55% ของ GDP อาจจะมีดาวน์ไซด์อยู่บ้าง หากมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินจากภาครัฐหมดลงในเดือนมีนาคมนี้
อย่างไรก็ตาม มาตรการอัดฉีดเงินที่ออกมานี้ ส่งผลลบทางอ้อมต่อบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง อย่างมาตรการให้วงเงิน 3,500 บาทต่อคน ซึ่งไม่สามารถใช้ได้กับบริษัทจดทะเบียน เช่น CPALL หรือ BJC ส่งผลให้ยอดขายของสาขาเดิม (SSSG) ลดลงในระดับ 15% สำหรับช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และอาจจะกดดันต่อเนื่องมาในไตรมาส 1 ปีนี้
ส่วนภาพของตลาดหุ้น ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในปีนี้คือ Dollar Index แม้ว่าในระยะ 12 เดือนข้างหน้า เงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มจะอ่อนค่า โดยคาดว่า Dollar Index จะอ่อนค่าจาก 90.2 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 88 ดอลลาร์ ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าเป็น 29-29.25 บาทต่อดอลลาร์
แต่ในระยะสั้น เงินดอลลาร์อาจจะแข็งค่ากลับขึ้นมาได้ และกดดันให้เงินทุน (Fund Flow) ที่ไหลเข้า Emerging Market หยุดชะงัก โดยปัจจัยที่อาจทำให้เป็นเช่นนั้นคือ โทนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันนี้ หากมีการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อเริ่มกลับมา และตัวเลขการจ้างงานดีขึ้น
ขณะเดียวกัน หากวัคซีนสามารถกระจายได้เร็ว จนถึงระดับ 100 ล้านโดส ในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มชะลอลง
“ในระยะสั้นมองว่าหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์น่าจะเป็นกลุ่มที่ Outperform ตลาด จากแนวโน้มกำไรที่จะฟื้นกลับไปเท่ากับระดับก่อนโควิด-19 ได้เร็วที่สุดรองจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มแบงก์ที่สถานการณ์โดยรวมไม่แย่อย่างที่คิดจากงบฯ ที่ประกาศออกมาล่าสุด และยังมีมูลค่าค่อนข้างถูก ขณะที่หุ้นกลุ่มค้าปลีกน่าจะเป็นกลุ่มที่ Underperform ตลาด ด้วยการบริโภคที่อาจจะชะลอลงอีก สำหรับกลุ่มนี้มองว่าจังหวะฟื้นตัวอาจจะเป็นช่วงครึ่งปีหลัง”
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์