×

จับตาความเสี่ยง ‘หุ้นไซส์เล็ก’ หลังสัดส่วนรายย่อยในตลาดลดลง ดัชนีอาจไหลยาวหากตลาดปรับฐาน แนะสำรองเงิน 15-20% ของพอร์ต

05.08.2021
  • LOADING...
retail-investor-stock-risk

ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้ สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนในประเทศหรือนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นมาจนแตะระดับ 50% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ที่อยู่ในระดับ 30-40% แต่หลังจากเข้าสู่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 43% 

 

การเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นของนักลงทุนรายย่อยเริ่มเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ตลาดปรับฐานลงไปหนักในช่วงเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้ในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ขณะเดียวกันจะเห็นว่าสภาพคล่องในตลาดก็เพิ่มขึ้นมากสะท้อนผ่านปริมาณเงินฝากในระบบ

 

ปริมาณเงินฝากในระบบที่เพิ่มขึ้นสะท้อนผ่านปริมาณเงิน M2 ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินบางส่วนถูกโยกย้ายเข้ามายังตลาดหุ้น และทำให้หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กค่อนข้างคึกคักในช่วงตลอด 1 ปีที่ผ่านมา 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า สภาพคล่องในระบบเริ่มเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด ส่วนหนึ่งเกิดจากความตกใจในเรื่องการผิดนัดชำระของหุ้นกู้เอกชน และปัญหาของกองทุนบางส่วนเมื่อปีก่อน แต่ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นสภาพคล่องในระบบชะลอตัวลงอีกครั้ง

 

“สายป่านของแต่ละคนเริ่มร่อยหรอลงไปในระหว่างที่โควิดยังลากยาว ทำให้คนนำเงินเก็บออกมาใช้กันมากขึ้น ส่วนหนึ่งสามารถสะท้อนได้จากปริมาณการซื้อขายในตลาดซึ่งไม่เห็นระดับ 1 แสนล้านบาทต่อวันมาระยะหนึ่งแล้ว และสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยก็ลดจาก 50% ในช่วงครึ่งปีแรก ลงมาเหลือ 40% ต้นๆ และลงไปต่ำกว่า 40% ในบางวัน” 

 

หากการแพร่ระบาดของโควิดยังลากยาวต่อไปก็มีโอกาสที่สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยจะลดลงไปอีก แต่ในส่วนนี้ไม่น่าจะกระทบต่อการปรับขึ้นของดัชนีหุ้น เพราะที่ผ่านมานักลงทุนรายย่อยเป็นเหมือนฝ่ายค้ำยันตลาดมากกว่า และการผลักดันตลาดยังต้องอาศัยนักลงทุนรายใหญ่

 

“ถ้าสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยลดลงไปต่อเนื่อง ความเสี่ยงขาลงอาจจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ส่วนที่สำคัญกว่านั้นคือหุ้นที่มีขนาดเล็กในปัจจุบันเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะปริมาณ Bid และ Offer ที่ลดลงไปมาก เมื่อต้องการขายหุ้นออกในอนาคตก็อาจจะทำได้ยากขึ้น หรือเมื่อเกิดการปรับฐานราคาก็อาจจะลงได้รุนแรงมากขึ้น”

 

ด้าน เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพคล่องส่วนเกินในระบบยังคงสูงอยู่มาก แต่การลงทุนของรายย่อยที่ชะลอลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น สะท้อนจากผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ลดลง ตรงข้ามกับตลาดหุ้นที่มีความคึกคักลดลง 

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้เป็นเช่นนี้คือเรื่องของโควิด และไม่ใช่แค่ที่ไทยแต่เป็นเช่นนี้ทั่วโลก ซึ่งการชะลอลงของรายย่อยย่อมเป็นความเสี่ยงต่อหุ้นขนาดกลางเล็ก และจริงๆ แล้วหุ้นขนาดกลางใหญ่ก็ถูกกระทบเช่นกัน เพราะต่างชาติก็ยังคงเป็นฝ่ายขายอยู่ต่อเนื่อง

 

“ส่วนตัวมองว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ไปอีกสักพักใหญ่ จนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณบวก ซึ่งก็คือตัวเลขของผู้ป่วยที่รักษาหายเริ่มมากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ จะช่วยให้บรรยากาศกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่หากตัวเลขการติดเชื้อใหม่ยังสูงกว่า ก็ยากที่ตลาดจะยืนอยู่เหนือ 1,550 จุด” 

 

สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้ความเสี่ยงต่างๆ ตามมามากขึ้น ทั้งโอกาสที่ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจจะถูกปรับลง หรือล่าสุดที่ กนง. เริ่มเสียงแตกระหว่างการคงอัตราดอกเบี้ยหรือลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เงินบาทก็มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงไปอีก ส่วนกำไรต่อหุ้นของตลาดก็มีโอกาสจะถูกปรับลดลง 

 

“สำหรับกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ แนะนำว่านักลงทุนควรสำรองเงินไว้ 15-20% ของพอร์ต ส่วนหุ้นที่มีในพอร์ตควรเลือกหุ้นที่กำไรยังเติบโตได้ และอีกส่วนหนึ่งคือหุ้นที่ยังคงมีเงินปันผล โดยเฉพาะหุ้นที่สามารถจ่ายปันผลระหว่างกาล” 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X