นักวิเคราะห์ประเมินกำลังซื้อฟื้นต่อเนื่องในไตรมาส 2 หลังจากกลุ่มค้าปลีกโชว์ยอดขายไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 10% แต่แนะเกาะติดเงินเฟ้อพุ่งสูงกดดันผลการดำเนินงาน เหตุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กำลังซื้ออืด ท่ามกลางต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแต่อาจไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายได้
จากผลการดำเนินงานธุรกิจค้าปลีก (ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค) ในไตรมาส 1/65 ที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นตามยอดขายที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้นักวิเคราะห์กลุ่มค้าปลีกประเมินว่ากำลังซื้อของสินค้าอุปโภคบริโภคในไตรมาส 2/65 จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องจากไตรมาส 1 โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่มขึ้น
วิชชุดา ปลั่งมณี ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากยอดขายต่อสาขาเดิม หรือ SSSG ในไตรมาส 1/65 ที่ผ่านมา สะท้อนถึงกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัวที่ต่อเนื่องมาจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว หลังจากที่ประเทศไทยเปิดเมืองมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อจะต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2/65
ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มอุปโภคบริโภคที่จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อลำดับแรกคือค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ ต่อมาคือโมเดิร์นเทรด และห้างสรรพสินค้า เนื่องจากกำลังซื้อที่ฟื้นตัวนั้นจะอยู่ในกลุ่มสินค้าจำเป็น สินค้าที่ราคาต่อชิ้นค่อนข้างต่ำ ทำให้ร้านสะดวกซื้อจะมีการฟื้นตัวอย่างโดดเด่นที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกประเภทโมเดิร์นเทรดนั้น แม้จะเห็นการฟื้นตัวของ SSSG ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา แต่แรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อที่กระทบต่อกำลังซื้อภาคประชาชนและต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น อาจจะทำให้การเติบโตในไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก
วิชชุดากล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนกำลังซื้อในไตรมาส 2 ปีนี้คือการเปิดประเทศที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและตะวันออกกลาง ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และต่อเนื่องไปถึงกลุ่มท่องเที่ยว รวมถึงการเปิดเทอมแบบออนไซต์ที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นรูปแบบปกติมากขึ้น
หวั่นเงินเฟ้อสูงกดดันกำลังซื้ออืด-ปรับราคายาก
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2 นี้ กำลังซื้ออาจจะเริ่มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกดดันการใช้จ่ายภาคประชาชนโดยเฉพาะระดับกลาง-ล่าง ขณะเดียวกัน ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นทั่วโลกจะเริ่มกระทบกับผู้ผลิตมากขึ้นและอาจทำให้ต้องปรับราคาสินค้าเพื่อรักษาความสามารถการทำกำไร
“เรื่องการปรับราคาสินค้า ผู้ผลิตน่าจะมีการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยเงินเฟ้อที่สูงซึ่งกดดันกำลังซื้ออยู่ ทำให้การปรับราคาไม่อาจช่วยลดผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ค้าปลีกส่วนมากมักจะบริหารจัดการและเจรจากับซัพพลายเออร์อยู่แล้ว เพื่อให้ทั้งคู่ค้าและลูกค้าสามารถประคองตัวอยู่ได้ท่ามกลางสัญญาณทางเศรษฐกิจที่อาจจะไม่ได้ฟื้นตัวตามคาด” วิชชุดากล่าว
ทั้งนี้ ประเมินว่าหุ้นค้าปลีกที่จะมี SSSG ที่ขยายตัวโดดเด่นคือ CPALL โดยเชื่อว่าจะยังเห็น SSSG เป็นบวกได้ในระดับ 10%YoY จากการเข้าสู่ฤดูร้อนและวันหยุดยาวจากเทศกาลสงกรานต์ การเปิดเทอม รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สินค้าพร้อมทาน เครื่องดื่ม รวมถึงสินค้า Personal Care มียอดขายที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสาขาในจังหวัดท่องเท่ียว โดยทาง CPALL คาดว่าทั้งปี 2565 ยอด SSSG จะเป็นบวกได้รับ 3-5%YoY ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของ GDP
บล.บัวหลวงเพิ่มคาดการณ์กำไร 1-2%
ฝ่ายวิจัย บล.บัวหลวง ระบุว่า จากการสอบถามข้อมูลจาก CPALL ได้รับการยืนยันตัวเลขการเติบโตของยอดขายต่อสาขาเดิมที่ 10% ตั้งแต่ต้นไตรมาสจนถึงปัจจุบัน จึงคาดว่าจะได้เห็นการเติบโตของ SSSG ที่แข็งแกร่งในช่วงที่เหลือของปี 2565 ซึ่งจะกลบผลกระทบของอัตรากำไรขั้นต้นที่ถูกกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงปรับประมาณการกำไรหลักปี 2565-2567 ขึ้นอีก 1-2% โดยเรายังคงแนะนำซื้อด้วยราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปีปี 2565 ใหม่ท่ี 80 บาท
สำหรับความเสี่ยงเรื่องอัตรากำไรจะถูกกดดันจากราคาอาหารและค่าไฟที่สูงขึ้นนั้น ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับราคาที่สูงขึ้นได้ โดยการทำโปรโมชันและปรับราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม คาดอัตรากำไรของ CPALL จะถูกกดดันในปี 2565 จากสินค้าอาหารโดยเฉพาะสินค้าพร้อมรับประทาน (RTE) ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/65 ยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารคิดเป็น 74% ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งมีสัดส่วนของ RTE ที่ 25% นอกจากนี้อัตรากำไรยังถูกดดันจากกลยุทธ์ด้านราคาอีกด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลง แต่ด้วยการเติบโตของยอดขายของ CPALL ที่ฟื้นตัวเร็วจะยังคงทำให้สามารถรายงานกำไรที่เติบโต YoY
‘โมเดิร์นเทรด’ เสี่ยงยอดขายโตน้อย
ฝ่ายวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของค้าปลีก (โมเดิร์นเทรด) ประเมินว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/65 แต่อาจจะไม่เติบโตโดดเด่นเท่ากับร้านสะดวกซื้อ
โดยล่าสุดฝ่ายวิจัยได้เข้ารับฟังข้อมูลจาก MAKRO และคาดการณ์ว่าแนวโน้มการเติบโตของ SSSG ในไตรมาส 2/65 จะดีกว่าไตรมาสแรก โดย MAKRO น่าจะเพิ่มขึ้น 1% และ Lotus’s ไทย เพิ่มขึ้น 0.4% หนุนจากความกังวลต่อโควิดที่น้อยลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในหลายประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับมีผลบวกทางอ้อมจากการที่คู่ค้าทยอยปรับขึ้นราคาขาย เพื่อสะท้อนต้นทุน ผลักดันให้ภาค SSSG เดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา บวกเร่งตัวขึ้นไม่ตำ่กว่า 5% จาก 1% ในไตรมาส 1 นำโดยสาขาในต่างประเทศอย่างกัมพูชา เมียนมา และอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ค้าปลีกโมเดิร์นเทรดจะมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนมากขึ้น ทั้งจากปัญหาต้นทุนพลังงาน เงินเฟ้อเร่งขึ้น และการเกิด Food Shortage ซึ่งทางผู้บริหารมองว่าอาจกระทบมาร์จิ้นสินค้าในระยะสั้น แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ผ่านการจัดหาสินค้าผ่านเครือ CP แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีแรงกดดันเพิ่ม
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยยังคงคาดกำไรปกติปี 2565-2566 เป็น 1.05 หมื่นล้านบาท และ 1.70 หมื่นล้านบาท เติบโต 46% และ 62% ตามลำดับ