วันนี้ (4 มกราคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิดสายพันธุ์โอไมครอน พบว่า ขณะนี้มีการศึกษาในพื้นที่ประเทศแอฟริกาใต้ ในผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว 14 วัน ทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและยังไม่ฉีดวัคซีน โดยเจาะเลือดตรวจดูภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนและสายพันธุ์เดลตา พบว่า ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14-15 เท่า และบางรายภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นสามารถสู้กับเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ประมาณ 4 เท่า
ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมในผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทยครบ 2 สัปดาห์ โดยนำเลือดมาตรวจว่าสามารถจัดการเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้มากแค่ไหน
“การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนแม้จะส่งผลให้การติดเชื้อของประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต และการติดเชื้อในประเทศไทยขณะนี้ 70-80% ยังเป็นสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนทำให้ภูมิคุ้มกันสู้กับเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ และจะขึ้นสูงในกลุ่มฉีดวัคซีน ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงยังเป็นประโยชน์ และไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด การใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ยังป้องกันการติดเชื้อได้” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า กรณีมีข่าวพบสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้น ข้อเท็จจริงคือเป็นสายพันธุ์ B.1.640 ที่เคยตรวจพบก่อนสายพันธุ์โอไมครอน และไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ส่วนการตรวจพบการกลายพันธุ์ 2 สายพันธุ์ย่อย คือ B.1.640.1 และ B.1.640.2 ในฝรั่งเศส โดยต้นทางมาจากคองโก ประมาณ 400 ราย ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง N501Y และ E484Q ที่อาจทำให้หลบจากวัคซีนได้ เป็นตำแหน่งที่พบทั้งในสายพันธุ์เบตา แกมมา และโอไมครอน จึงเป็นเพียงการรายงานเพื่อให้รับรู้และมีการติดตามเฝ้าระวังเหมือนกับสายพันธุ์โอไมครอนที่ตรวจพบ 3 สายพันธุ์ย่อย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 3 มกราคม 2565 ประเทศไทยตรวจพบสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว 2,062 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,105 ราย และติดเชื้อในประเทศ 957 ราย พบใน 54 จังหวัด โดยทั้งหมดได้รับการดูแลในระบบรักษาพยาบาลตามเกณฑ์และไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น