การลงทุนในแนวการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นับวันยิ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนและผู้คนในวงการต่างๆ เพราะมีส่วนที่จะช่วยโลกที่มีปัญหาต่างๆ รุมเร้าในทุกวันนี้ได้ ชื่อที่เรียกแนวทางการลงทุนแบบนี้อาจมีต่างๆ กัน เช่น Ethical Investing, Impact Investing, Responsible Investing, Social Responsible Investing, หรือ Green Investing เป็นต้น บทความในตอนนี้จะขยายความเรื่องการลงทุนแบบที่เน้นผลลัพธ์ ทั้งการสร้างผลตอบแทนและแสดงความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเพิ่มเติมดังนี้
1. UN Principles for Responsible Investment (PRI)
องค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ เป็นเวทีสำคัญให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันเสนอวิธีการขับเคลื่อนโลกไปสู่จุดที่ดีกว่าร่วมกัน ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้เห็นความสำคัญในเรื่องการลงทุนในตลาดทุนของนักลงทุน (Investor) ว่าควรจะสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุน แต่ต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และยึดมั่นในหลักบรรษัทภิบาล (ESG) และได้ออกหลักการที่เรียกว่า UN Principle for Responsible Investment (PRI) มาในปี 2006 เพื่อเสนอต่อสถาบันการเงินต่างๆ ในตลาดการเงิน เพื่อให้ร่วมเปิดเผยข้อมูลการลงทุนแบบมีความรับผิดชอบนี้ในลักษณะ Voluntary Disclosure ซึ่งมีผู้ลงนาม (Signatories) มากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจาก Investopedia ประมาณไว้ว่า จนถึงปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนที่มีผู้ร่วมลงนามใช้ตามแนวทาง PRI มีสูงถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนตามแนวทาง PRI นับวันก็จะมีบทบาทและอิทธิพลต่อโลกการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของโลกได้รวดเร็วขึ้นด้วย
ปรัชญา PRI จะมุ่งเน้นหาปัจจัย (Factors) ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลที่บริษัทที่ประกอบธุรกิจอาจเป็นสาเหตุหรือทำให้เกิดผลกระทบทางลบ ในกระบวนการทำธุรกิจและพิจารณาว่าบริษัทได้กระทำการใดบ้างที่ช่วยลดผลกระทบทางลบ และส่งเสริมให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อส่วนรวม บริษัทที่ทำได้ดีจะถูกพิจารณาว่าได้ทำธุรกิจอย่างประณีต ทำให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากเป็นบริษัทที่ใส่ใจและบริหารความเสี่ยงที่เรียกว่า ESG Risk ส่งผลให้ความผันผวนในการประกอบการลดลงเกิดเสถียรภาพของการเติบโตในมูลค่าบริษัท นักลงทุนก็จะเกิดความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในบริษัทดังกล่าวมากกว่าบริษัทที่ไม่ใส่ใจในเรื่องนี้
UN PRI ประกอบไปด้วยหลักการพื้นฐาน 6 ข้อ ซึ่งผู้ร่วมลงนามต้องยึดมั่นและนำไปปฏิบัติ ได้แก่
- Principle 1: ผู้ลงทุนจะต้องนำประเด็นเรื่อง ESG เข้าไปในกระบวนการวิเคราะห์และการตัดสินใจลงทุน
- Principle 2: ผู้ลงทุนจะต้องดูแลพอร์ตโฟลิโอการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ (เป็น Active Owner) โดยนำเรื่อง ESG เข้าไปกำหนดไว้ในนโยบายการลงทุนและนำไปปฏิบัติเวลาลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
- Principle 3: ผู้ลงทุนจะต้องค้นหาข้อมูลด้าน ESG ที่มีการเปิดเผยอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
- Principle 4: ผู้ลงทุนจะต้องช่วยสนับสนุนหรือส่งเสริมให้การลงทุนแบบมีความรับผิดชอบ มีความแพร่หลายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในอุตสาหกรรมการลงทุน
- Principle 5: ผู้ลงทุนจะร่วมมือกันเพื่อปฏิบัติตามหลักการ PRI ให้เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็ง
- Principle 6: ผู้ลงทุนจะเผยแพร่รายงานการลงทุนแบบมีความรับผิดชอบโดยแสดงถึงกิจกรรมและความก้าวหน้าต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
ที่ผ่านมาสถาบันการเงินที่เป็นนักลงทุนสถาบันต่างก็ยอมรับหลักการ PRI นี้ และยึดหลักการ 6 ข้อนี้ในการบริหารพอร์ตการลงทุน ตัวอย่างที่ได้ปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง เช่น Norwegian Government Pension Fund, The Government Pension Fund of Thailand, The Canada Pension Plan Investment Board และ The California Public Employee Retirement System (CalPERS) เป็นต้น
อีกตัวอย่างหนึ่งของนักลงทุนสถาบันที่นำหลักการ PRI ไปใช้ เช่น กรณีของบริษัท Standard Life ซึ่งถูกซื้อกิจการจาก Manulife เมื่อปี 2015 และได้เข้าร่วมลงนาม PRI Signatory และเริ่มใช้ ESG Factors ในการประเมิน ESG Risk เพื่อดูโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ (Automobile Supply Chain) โดยเฉพาะเมื่อ European Union (EU) ออกกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะให้รถยนต์ลดการปล่อยมลพิษ (New Anti-Pollution Legislation) เพื่อนำ ESG ประเด็นนี้เข้าทำการวิเคราะห์หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็พบว่าหุ้นบางตัวมีแนวโน้มที่ดี เช่น บริษัท LG Chem ซึ่งเป็นผู้ผลิต Lithium-ion Battery ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะมาทดแทนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษได้ การนำ ESG Factor ดังกล่าวมาพิจารณา ทำให้การประเมินมูลค่า LG Chem เปลี่ยนไปจากเดิม มูลค่าหุ้นดังกล่าวถูกปรับมูลค่าเพิ่มขึ้น (Upward Adjustment)
2. Ethical Investing
การลงทุนแบบที่มีความรับผิดชอบสูง หากมีเกณฑ์เคร่งครัดมาก บางคนก็เรียกว่า Ethical Investing ซึ่ง Ethical อาจหมายถึงศีลธรรม จรรยาที่ดี ซึ่งหลักเหล่านี้อาจจะมาจากข้อปฏิบัติในศาสนา หรือแนวปฏิบัติทางสังคมที่นักลงทุนในกลุ่มนั้นยึดถือปฏิบัติ เช่น กองทุน Islamic Fund อาจจะกำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะไม่ไปลงทุนในธุรกิจที่ขัดกับหลักศาสนา เป็นต้น หรืออาจเป็นกองทุนที่มีการระบุชัดเจนว่าจะไม่ลงทุนในธุรกิจสีเทา (Sin Stocks) เช่น ธุรกิจคาสิโน ธุรกิจเหล้าเบียร์ ธุรกิจยาสูบ หรือธุรกิจอาวุธสงคราม เป็นต้น
ในการวิเคราะห์ข้อมูลของธุรกิจตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกหุ้น การปรับเอาหุ้นเข้าออกจากพอร์ตจึงต้องมีความละเอียดรอบคอบ เพราะหากขัดต่อ Personal Belief ของนักลงทุน ก็จะเกิดการถอนตัวออกจากกองทุน หรือกรณีที่รุนแรงอาจนำไปสู่การฟ้องร้องได้หากขัดต่อเงื่อนไขที่นักลงทุนกำหนดไว้
ประวัติศาสตร์ของการลงทุนแบบ Ethical Investing ย้อนหลังไปได้ถึงศตวรรษที่18 เมื่อกลุ่มนักลงทุนที่เคร่งศาสนา (Quaker) ในสหรัฐฯ ประกาศกฎเข้มงวดในการใช้เงินทุน โดยห้ามไปลงในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาส หรือตัวอย่างกรณีของ จอห์น เวสลีย์ (John Wesley) นักบวชชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งนิกาย Methodism ก็ได้ประกาศว่าไม่สนับสนุนการลงทุนที่ส่งผลกระทบลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานเคมี เป็นต้น
ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา Ethical Investing เริ่มขยับจากการอิงเกณฑ์ทางศาสนามาเพื่อแก้ปัญหาสังคมมากขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 เริ่มมีการลงทุนแบบ Ethical Investing ในบริษัทที่ส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียม หรือความเป็นธรรมต่อแรงงาน และตั้งแต่ทศวรรษ1990 เป็นต้นมา Ethical Investing เริ่มหันมาสนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเริ่มตระหนักถึงพิษภัยจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เริ่มมีการเรียกร้องให้บริษัทในกลุ่มหุ้นพลังงานดำเนินการลดผลกระทบทางลบจากการใช้พลังงานฟอสซิล และหาวิธีการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น จนถึงปัจจุบัน Ethical Investing จึงหันมาครอบคลุมรวมประเด็น ESG ทั้งหมด
3. Green Investing
Green Investing เป็น Socially Responsible Investing (SRI) ประเภทหนึ่ง ซึ่งความหมายของ Green Investing คือรูปแบบการลงทุนในบริษัทหรือโครงการที่มุ่งมั่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (Conservation of Natural Resources) หรือสำรวจ ผลิตพลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน (Production and Discovery of Alternative Energy Sources) หรือการดำเนินการเพื่อให้เกิดอากาศที่ดีและแหล่งน้ำที่เพียงพอ (Implementation of Clean Air and Water Projects) หรือโครงการใดๆ ที่ทำให้เกิดกระบวนการธุรกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Conscious Business Practices) เป็นต้น บริษัทที่เข้าข่ายเป็น Green Investing อาจมีธุรกิจเดิมอย่างอื่นที่ไม่ใช่ Green Business อย่างสมบูรณ์ก็ได้ แต่อาจมีโครงการใหม่ที่สอดคล้อง (Green-Based Initiatives) ก็ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าลงทุนได้
คำว่า Green นี้ นักลงทุนอาจจะต้องตีความ แต่โดยทั่วไปจะหมายถึงธุรกิจหรือโครงการที่ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลิตภัณฑ์ที่นักลงทุนในแนว Green Investing จะเข้าลงทุนอาจเป็น หุ้น กองทุนรวม ETFs หรือตราสารหนี้ก็ได้ ตัวอย่างกองทุนรวมที่มีชื่อเสียงว่าเน้นลงทุนในแนว Green Investing เช่น TIAA-CREF Social Choice Equity Fund (TICRX); Portfolio 21 Global Equity Fund Class R (PORTX) หรือ Green Century Balanced Fund (GCBLX) เป็นต้น
ระดับความ Green เป็นเรื่องที่นักลงทุนรายย่อยต้องตีความและอ่านจากนโยบายการลงทุนของสถาบันที่จะนำเงินของเราไปลงทุนให้ดีก่อน เช่น กองทุนรวมบางแห่งอาจระบุชัดเจนว่าจะลงในบริษัทที่ทำ Renewable Energy เท่านั้น อย่างนี้ถ้าตรงกับ ‘จริต’ ของเรา ก็ลงทุนไปเลย แต่บางกองทุนรวมอาจระบุแค่ว่า จะลงในบริษัทที่ทำธุรกิจแบบมี Good Business Practices โดยกระบวนการทำธุรกิจต้องดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้า ‘Green’ แบบหลังนี้ตรงกับ ‘จริต’ ของเรา ก็ตัดสินใจลงทุนได้ นักลงทุนรายย่อยจึงควรรู้ ‘จริต’ ด้าน ESG ของตนเองว่ามีความกว้างและลึกเพียงใด