กระแสการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) เป็นสิ่งที่ฮิตอย่างมากในยุคนี้ ที่ฮิตนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่แฟชั่นอะไร แต่เป็นความห่วงใยของผู้คนทั้งหลายที่มองเห็นว่า ยิ่งมนุษย์มีกิจกรรมเพื่อดำเนินชีวิตบนโลกไป ไม่ว่าจะผ่านกิจกรรมครัวเรือน กิจกรรมธุรกิจ อะไรต่างๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาบนโลก ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อมและสังคมมีปัญหาและเสื่อมโทรมมากขึ้น เช่น ปัญหาขยะ น้ำเสีย อากาศเสีย เป็นต้น และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมของโลก เช่น การเกิดปัญหาโลกร้อนตามมาและเชื่อมโยงไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เช่น ทำให้เกิดภัยแล้ง อุทกภัย ปัญหาฝุ่นละออง เป็นต้น จนอาจเกิดอันตรายต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์บนโลกในระยะยาวได้
ในด้านสังคมนั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความยากจน การละเมิดสิทธิมนุษย์ชน เป็นต้น ยังเป็นสิ่งที่เห็นอยู่ทั่วไป ทั้งในสังคมของประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาเป็นต้น นักลงทุนถือว่าเป็นผู้มีกำลังเงินทุนที่สามารถใช้พลังอำนาจนี้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้โดยมุ่งแสวงหาและสนับสนุนธุรกิจที่บริหารธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง มีผลประกอบการที่ดี แต่มีความประณีตในการดำเนินธุรกิจที่ดูแลผู้เกี่ยวข้องทั้งใกล้และไกลครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม
การลงทุนในลักษณะนี้เรียกว่า การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Investments หรือ RI) ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนที่สนใจการลงทุนแบบ RI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทความตอนนี้จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนแบบ RI เพื่อเป็นความรู้ให้แก่นักลงทุนไทยที่กำลังสนใจในการลงทุนแนวนี้
1. แนวโน้มการลงทุนแบบ RI ในปี 2021
จากข้อมูลในบทความเรื่อง ‘2021 ESG Trends to Watch/December 2020’ ใน msci.com ของ MSCI (Morgan Stanley Capital International) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำดัชนีหุ้นชั้นนำของโลกได้สรุปไว้ว่าในปี 2021 เรื่องที่เป็นแนวโน้มใหญ่ของการลงทุนแบบ RI หรือ ESG ประกอบไปด้วย 5 เรื่อง ได้แก่
-
ความสนใจเกี่ยวกับภูมิอากาศ (Climate)
โดยอธิบายว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (2015) ประเทศต่างๆ ในโลกไปตกลงกันที่ปารีสว่าจะช่วยกันลดปัญหาโลกร้อน โดยจะร่วมมือกัน ลดอุณหภูมิของโลกลงมา 2 องศาเซลเซียส แต่ในความเป็นจริงเรื่องนี้เป็นไปได้ช้ามาก ในปี 2021 บรรดานักลงทุน (สถาบัน) หวังว่าจะกดดันเรื่องนี้เพิ่มเพื่อทำให้บริษัทต่างๆเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญใน Business Model ที่จะทำให้กระบวนการทำธุรกิจ เกิดการช่วยปล่อยก๊าชเรือนกระจกเพิ่มขึ้น
-
กระแสการลงทุนแบบ ESG หรือ RI (ESG Bubbles)
นักลงทุนในยุคปัจจุบันมีกลุ่มที่สนใจอยากให้โลกนี้ดีขึ้นในจำนวนมากขึ้นและมีการขยายตัวอย่างมาก แต่ตอนนี้ไม่ใช่ยุคที่จะต้องมาออกแรงโน้มน้าวว่าการลงทุนแบบนี้ดีอย่างไรแล้ว แต่จะเป็นยุคที่หาข้อเท็จจริงว่าดีอย่างไรรวมทั้งการหาเครื่องมือเพื่อสรุปให้นักลงทุนให้เห็นว่าใครทำดีบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการคัดกรองหาหุ้น ESG ที่ดี ตรงตามความต้องการ
-
ความสนใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
นักลงทุนจะให้ความสำคัญและสนใจกับเรื่องวิกฤตด้านความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ซึ่งสืบเนื่องมาจากเรื่องโควิด-19 ซึ่งอาจมีต้นตอมาจากสัตว์ป่า เช่น ค้างคาว ที่คนเข้าไปล่า การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพภายในธรรมชาติ และก่อให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งผลกระทบนี้เราก็ยังประสบอยู่ เรื่องดังกล่าวก่อให้เกิดความร้ายแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจเกินกว่าจะประเมินมูลค่าความเสียหายได้
-
การเปิดเผยข้อมูล ESG (Disclosure)
ปัจจุบันเป็นยุคของความท้วมท้นของข้อมูลการลงทุน รวมทั้งข้อมูล ESG ด้วย ซึ่งมีมากมาย ผ่านการรายงานในรูปแบบต่างๆ บนช่องทางที่หลากหลาย ในยุคต่อไปจากนี้จะมีความพยายาม ค้นหาวิธีหรือเครื่องมือแบบ AI (Artificial Intelligence) ที่จะจัดการและสรุปข้อมูล ซึ่งถ้าใครทำได้ก็จะเป็นที่ต้องการของนักลงทุนมากขึ้น
-
ความสนใจในเรื่องการแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคม (Social Inequality)
แต่เดิมโลกก็พบกับปัญหาความยากจน สัดส่วนคนจนมีมากกว่าคนรวย การเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมอยู่แล้ว เหตุการณ์โควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมทำให้ปัญหาเหล่านี้มีมากขึ้น เพราะบุคคลได้รับความอ่อนแอทางเศรษฐกิจเพิ่ม คาดการณ์ว่าความสนใจเรื่องสิทธิมนุษย์ชนจะมีมากขึ้นเพื่อหวังว่าผู้ประกอบธุรกิจจะคำนึงถึงเรื่องนี้ ในประเด็นต่างๆ เช่น การดูแลแรงงาน สิทธิเด็ก สิทธิสตรี ผู้ด้อยโอกาส ระหว่างกระบวนการทำธุรกิจ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะอยู่ในความสนใจของนักลงทุนเพิ่มขึ้น
2. การผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Reality Bites)
ข้อตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องโลกร้อนในปี 2015 นั้น บรรดานักลงทุนสถาบันที่เป็น Global Investors ก็ได้มีส่วนร่วมผลักดันด้วย โดยใช้พลังอำนาจจากเงินทุนที่มีอยู่ในมือกดดันให้บริษัทต่างๆ (ผู้ออกหลักทรัพย์) ให้ความร่วมมือ แต่เมื่อผ่านไป 5 ปี แม้จะทำได้ระดับหนึ่งผ่านการสร้างพอร์ตการลงทุนในลักษณะ ‘Cooler Portfolio’ แต่ก็ยังห่างจากเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า บรรดานักลงทุนสถาบันคงต้องดำเนินการให้เข้มข้นขึ้นโดยผลักดันให้กระบวนการทำธุรกิจบน Business Model ของแต่ละบริษัทต้องมีแผนและกิจกรรมที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่าเดิม และบริษัทที่ทำใด้จึงจะเป็นเป้าหมายการลงทุน
MSCI มีกลุ่มเป้าหมาย (Universe) ของการลงทุนอยู่ด้วยถึง 8,900+ บริษัทอยู่ใน MSCI ACWI Investable Market Index (IMI) ที่สามารถนำมาคัดกรองผ่าน MSCI’s Warming Potential Metricเพื่อดูว่าใครที่ทำได้ดีในเรื่องการลดโลกร้อน
โดยบริษัทที่ถูกคัดเลือกเข้าสู่ Portfolio ได้ จะต้องสามารถดำเนินกิจกรรมธุรกิจที่ช่วยลดโลกร้อนได้โดยต้องสามารถลดอุณหภูมิโลกลงได้ 2 องศาเซลเซียส หรือ 1.5 องศาเซนเซียส ทั้งนี้จะมีการเพิ่มน้ำหนักใน Portfolio สำหรับบริษัทที่ทำได้จากเป้าหมายต่างๆ ดังกล่าวจากฝั่งนักลงทุน จะเป็นตัวผลักให้ฝั่งบริษัทหรือธุรกิจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำธุรกิจของตนเอง และดำเนินกิจกรรมที่จะลดโลกร้อน
รวมทั้งมีการคำนวณวัดผลและเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนให้แก่นักลงทุน และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบในต่างประเทศ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญของเดนมาร์กและสหราชอาณาจักร เริ่มค้นหาสินทรัพย์ลงทุนที่มีลักษณะเป็น Green Investments เช่น Green Bond ที่นำเงินไปลงทุนใน Green Infrastructure หรือการลงทุนในลักษณะ Zero and Negative – Carbon Investments
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ประเภทนี้ยังมีอยู่ไม่มากนัก อาจเป็นเพราะยังมีขั้นตอนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่มาก ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า