สำหรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ….ในมาตรา 23 เรื่องการคำนวณสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในมาตรานี้เริ่มพิจารณาตั้งแต่เวลา 17.50 น.ซึ่งถือเป็นมาตราสำคัญที่มีข้อถกเถียงอย่างเป็นวงกว้างเนื่องจากเป็นมาตราที่ได้มาซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่าจะต้องใช้หลักในการคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส.มาด้วยการหาร 100 ตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอ หรือหารด้วย 500 ตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ซึ่งการเปิดให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายในมาตราที่ 23 อย่างเปิดกว้างจากสมาชิกที่ขอสงวนคำแปรญัตติ
จนกระทั่งวานนี้ เวลา 22.11 น. ทั้งกรรมาธิการและสมาชิกรัฐสภาที่สงวนคำแปรญัตติได้อภิปรายแล้วเสร็จประธานในที่ประชุมจึงเปิดให้สมาชิกรัฐสภาแสดงตนเพื่อลงมติในมาตรา 23 โดยมีสมาชิกอยู่เป็นองค์ประชุมจำนวน 453 คน ถือว่ามากกว่ากึ่งหนึ่ง จึงเปิดให้สมาชิกลงมติในมาตราที่ 23 ว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากโดยการหารด้วย 100 หรือไม่
ซึ่งที่ประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 160 ไม่เห็นด้วย 392 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง
จากนั้นที่ประชุมมีการลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยกับวิธีการคำนวณคะแนนตามที่สมาชิกเสนอให้มีการแก้ไข ระหว่างร่างของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ ที่เสนอให้หาร 500 และร่างของปกรณ์วุฒิ อุดมพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เสนอให้หาร 100 ด้วยวิธีการคำนวณตามที่เสนอ
หากเห็นชอบกับร่างของ นพ.ระวีให้ลงมติเห็นชอบ และหากเห็นด้วยกับร่างของ ปกรณ์วุฒิ ให้ลงมติไม่เห็นชอบ
ท้ายที่สุดที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นด้วยกรรมาธิการเสียงข้างน้อยคือนพ.ระวี มาศฉมาดล คือการหารด้วย 500
ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 354 ไม่เห็นด้วย 162 เสียง งดออกเสียง 37 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง
ทำให้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้มีการคำนวณคะแนนดังนี้
1. คะแนนดิบบัญชีรายชื่อรวมทุกพรรค หาร 500 = คะแนนเฉลี่ยของ ส.ส. พึงมี 1 คน
2. คะแนนดิบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค หารคะแนนเฉลี่ย ส.ส. พึงมี = ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค
3. นำจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค ลบด้วย ส.ส. เขต = ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ
โดยหลังจากนี้จะมีการพิจารณาในมาตราอื่นๆที่มีการแก้ไข และหลังจากนั้นจะมีลงมติทั้งฉบับในวาระ 3