ถ้า Catopia หนึ่งในหนังสั้นจากโปรเจกต์ Ten Years Thailand ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง คือการจำลองภาพที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า สิงสู่ ก็คือภาพยนตร์ที่บอกเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แทรกผ่านเรื่องราวเหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นใน ‘สำนักจิตต์อสงไขย’ ได้อย่างสมจริง
นักแสดงนำทีมโดยนายแม่ (รับบทโดย ทาริกา ธิดาทิตย์) เจ้าสำนักผู้น่าเกรงขาม, เดช (รับบทโดย อนันดา เอเวอริงแฮม) ทายาทหนึ่งเดียวของนายแม่, ปราง (รับบทโดย ณัฐฐาวีรนุช ทองมี) แฟนสาวของเดช, กฤษ (รับบทโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล) ลูกศิษย์ที่หมกมุ่นในเรื่องไสยศาสตร์, นพ (รับบทโดย พีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข) คนในสำนักที่เข้ามาด้วยผลประโยชน์บางอย่าง, เครือ (รับบทโดย จารุนันท์ พันธชาติ) แม่บ้านผู้ซื่อสัตย์ประจำสำนัก และสร้อย (รับบทโดย พลอย ศรนรินทร์) เด็กสาวกำพร้าที่เครือรับมาดูแล เป็นตัวละครสำคัญในเรื่อง และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ ‘กลุ่มคน’ ต่างๆ ในสังคมไปพร้อมๆ กัน
สิงสู่ เริ่มต้นเล่าถึงการทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ของนายแม่ เพื่อเรียกวิญญาณดวงหนึ่งกลับมา แต่เกิดความผิดพลาด กลายเป็นชักนำวิญญาณเร่ร่อนที่ค่อยๆ เข้ามา ‘สิงสู่’ ด้วยการ ‘ควบคุม’ ร่างกายของคนในสำนักที่มี ‘ความกลัว’ ต่ออะไรบางอย่าง เพื่อขยายอำนาจและเตรียมที่ทางให้กับพรรคพวกของตัวเอง
ตาม ‘หน้าหนัง’ ที่เราเห็นผ่านโปสเตอร์, เรื่องย่อและตัวอย่างภาพยนตร์ สิงสู่ คือหนังสยองขวัญเต็มรูปแบบ มีเนื้อเรื่องชวนติดตาม ตัวละครมีความขัดแย้งภายใน มีการร้อยเรียงความสัมพันธ์ที่เจ็บปวด ซึ้งกินใจ และยังมีฉากระทึกขวัญ ยิงจัมป์สแกร์ออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงกลางๆ เรื่องที่วิญญาณถูกสะกดและเปลี่ยนร่างเข้าสิงทีละคน ก็สร้างความตื่นเต้นแบบไม่ให้คนดูได้พัก จนพูดได้ว่า สิงสู่ คือหนังสยองขวัญที่ตอบโจทย์เรื่องความสนุกได้ดีแบบไม่เคอะเขิน
แต่ความน่าสนใจที่มากกว่านั้นคือ การออกแบบตัวละครในสำนัก ด้วยสมการซ้อนในเรื่องราวส่วนตัวที่สามารถแทนค่าให้หนึ่งตัวละคร กลายเป็นตัวแทนสะท้อน ‘กลุ่มก้อน’ ของคนในสังคมหลากหลายชนชั้น หลากหลายประเภท ซึ่งการพยายามตีความเพื่อแทนค่าตัวละครทั้งหมด และเปรียบเทียบกับไทม์ไลน์การถูก ‘สิงสู่’ ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ ก็เป็นกิมมิกสำคัญที่ชวนคิดตามได้สนุกไม่แพ้กัน
หากคิดตามคอนเซปต์หลักของหนังที่วิศิษฏ์เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ผีมันจะเข้าจู่โจมคนที่มีความกลัว ความกลัวจะเรียกมันมา” ทุกตัวละครในเรื่องล้วนมีความกลัวที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่กลัวสูญเสียอะไรบางอย่าง และต้องการเรียกสิ่งนั้นกลับคืนมา, กลัวที่จะสูญเสียความเชื่อ และไม่กล้าไว้ใจใครอีก, กลัวไม่ได้รับผลประโยชน์, กลัวตัวเองไม่มีชีวิตรอดต่อไป ฯลฯ
ภายใต้ความกลัวนั้นทำให้เราได้เห็นการวางตัวในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจของตัวละครที่แตกต่างกัน บางคนก็พยายามค้นหาความจริง, บางคนพยายามออกมาช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์ให้กับคนอื่น, บางคนก็ไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่าการเอาชีวิตรอดให้ได้ในแต่ละวัน, บางคนก็พยายามอยู่รอดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้, บางคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้โดยตรง แต่ก็ทำได้เพียงปฏิบัติตามคำสั่งอย่างไม่อาจขัดขืน และสุดท้ายไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใครแต่ผลลัพธ์สุดท้าย คือทุกคนล้วนตกเป็นเหยื่อของการถูก ‘ควบคุม’ ไม่ต่างกัน
ขณะที่วิญญาณเร่ร่อนเปรียบเสมือนอำนาจของอะไร ‘บางอย่าง’ ที่ถึงแม้จะถูกเรียกมาด้วยความไม่ตั้งใจ และผิดจากวัตถุประสงค์ของคนที่เรียกมาตั้งแต่ต้น แต่กลับค่อยๆ เพิ่มขีดความสามารถของตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ โดยที่คนในสำนักทำได้เพียงแค่ขับไล่หรือสะกดเอาไว้เพียงชั่วคราว สุดท้ายพวกมันก็แค่ล่องลอยวนเวียนรอคอยเวลาที่จะกลับมายึดร่างของใครสักคนอีกครั้ง
และที่น่าเศร้าที่สุดคือ ตัวละครที่ดูเหมือนจะไม่รู้อีเหน่และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากที่สุด แต่ดันกลายเป็นตัวละครที่ต้องเดือดร้อน และตกเป็นเป้าของการสิงสู่บ่อยครั้งที่สุด ในขณะที่ตัวละครที่เป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด กลับถูกสิงเพียงแค่ในช่วงต้น และหลับใหลยาวนาน ปล่อยให้ตัวละครอื่นๆ ต่อสู้กับการควบคุมของวิญญาณเร่ร่อนอย่างลำบาก และออกมามีบทบาทในช่วงสุดท้าย ที่เหตุการณ์บานปลายจนวิญญาณนั้นมีอำนาจที่อยู่เหนือการควบคุม
ด้วยความที่หนังมีสัญญะปลายเปิด และค่อนข้างต้องใช้ประสบการณ์และความเข้าใจทางการเมืองพอสมควร สารภาพตามตรงว่า ในฐานะคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวการเมืองอย่างเข้มข้น เราเองก็ไม่แน่ใจว่าการตีความและแทนค่าสมการตามตัวละครต่างๆ นั้นจะถูกต้องตามที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอหรือเปล่า
แต่อย่างน้อยการกลับมาเสิร์ชหาข้อมูลที่เกิดขึ้นในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจ ‘สถานะ’ ของตัวละครในเรื่องให้มากขึ้น และกลับมาทบทวนตัวเอง ว่าเราคือตัวละครไหนในสำนักจิตต์อสงไขย, เราคือสมาชิกกลุ่มใดในสังคม, เรากำลังถูก ‘อะไรบางอย่าง’ ยึดครองควบคุมร่างกายอยู่จริงหรือไม่, เรากำลังปฏิบัติเช่นใดเพื่อดำรงตนอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติที่กำลังเป็นอยู่ และเราจะปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้ดำเนินต่อไปถึงเมื่อไร
รวมทั้งการตระหนักถึงความเสี่ยงก่อน ‘ทำพิธี’ เรียกร้อง ‘อะไรบางอย่าง’ เพราะสิ่งที่ได้อาจไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีแบบที่เราตั้งใจ
ก็นับว่าเป็นบทเรียนราคาแพงที่เรียนรู้จากหนัง ‘ต้นทุนต่ำ’ ได้อย่างคุ้มค่าและแสบทรวงจริงๆ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล