×

นักวิเคราะห์ชี้ การออกมาสร้างความเชื่อมั่นของธนาคารกลาง หนุนดัชนีหุ้นจีนพุ่ง 6% ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
13.07.2020
  • LOADING...

การทุ่มเม็ดเงินอัดฉีดตลาดเงินและการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนผ่านสื่อกระบอกเสียงของทางการจีน เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีหุ้น CSI 300 ของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นพุ่งทะยานเกือบ 6% ในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี

โดยการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของตลาดหุ้นจีนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่บรรดานักวิเคราะห์ของชาติตะวันตก

หลายคนเชื่อว่าแรงขับเคลื่อนที่ก่อให้เกิดภาวะ ‘ตลาดกระทิง’ หรือตลาดขาขึ้น นอกจากความมั่นใจของนักลงทุน ยังเป็นผลจากพื้นฐานอันแข็งแรงในนโยบายของธนาคารกลางและนโยบายการคลังของจีน รวมถึงการเติบโตขององค์กร

“สิ่งที่ผมหมายถึง โดยพื้นฐานคือนโยบายของธนาคารกลาง นโยบายการคลัง และการเติบโตขององค์กร หากพูดโดยทั่วไป ในระหว่างการฟื้นตัวและเติบโต การประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของตลาดหุ้น และจากนั้นอาจมีการสนับสนุนเล็กน้อยจากรัฐบาลเพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกง ผมคิดว่ามันยังสามารถไปต่อได้ นี่อาจเป็นเพียงการเริ่มต้นของบางสิ่ง ซึ่งเรายังอยู่ไกลจากสิ่งที่ผมพิจารณาว่าเป็นระดับที่เกิดฟอง (สภาวะตลาดก่อนเกิดภาวะฟองสบู่)” ยาน ฟาน เอค ซีอีโอบริษัทจัดการสินทรัพย์ VanEck กล่าว

สำนักข่าว CNBC รายงานบทวิเคราะห์ ชี้สองปัจจัยที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้น คือความกล้าของจีน และมุมมองของนักลงทุนรายย่อย ที่มั่นใจว่าธนาคารกลางจีนจะยืนหยัดหนุนหลังตลาด

ขณะที่สื่อกระบอกเสียงของทางการจีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมความมั่นใจแก่ตลาด โดยบทบรรณาธิการของ China Securities Journal ในหน้าแรก ได้รับเครดิตว่าเพิ่มเชื้อเพลิงความมั่นใจในตลาดหุ้นจีน จนทำให้หุ้น CSI 300 พุ่งทะยาน หลังตีพิมพ์ข้อความในคืนก่อนหน้า ว่านักลงทุนควรตั้งตารอผลกระทบความมั่งคั่งของตลาดทุน และโอกาสสำหรับ ‘ตลาดกระทิงที่แข็งแรง’

ด้าน บิลล์ อดัมส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ PNC Financial Services Group ชี้ว่า จีนนั้นอยู่ในสถานะที่ดีกว่าหลายประเทศ หลังก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19

ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะพยายามเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจให้มุ่งเน้นไปยังธุรกิจภาคบริการ แต่ ณ ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนก็ยังคงพึ่งพิงภาคการผลิตมากกว่าสหรัฐฯ อยู่ดี ซึ่งโชคดีที่ภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบรุนแรงนักต่ออุตสาหกรรมการผลิตของจีน ทำให้จีนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างเร็ว ขณะที่ในธุรกิจภาคบริการนั้นจีนก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่มากกว่าชาติตะวันตกส่วนใหญ่ด้วย

“ในช่วงเวลาปกติมันมักจะเป็นข้อเสียที่มีการแทรกแซงของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ แต่เมื่อเกิดวิกฤต จีนมีเครื่องมือในการเตรียมพร้อมป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ล้มลง และลดขอบเขตการสนับสนุนในภาคครัวเรือน อีกทั้งยังไม่มีการต่อต้านการแทรกแซงทางการเมือง ท้ายที่สุดประเทศจีนยังมีการรับมือด้านสาธารณสุขที่เข้มข้นกว่ามาก” อดัมส์ กล่าว พร้อมเสริมว่าความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากภาวะขาลงนั้นเหมาะสมกับโมเดลการฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจจากการเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X