ผลการศึกษาฉบับใหม่จากสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า เหตุคนยิงกันเกือบ 8,000 ครั้งของสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุจากอากาศที่ร้อนจัดผิดฤดูกาล ซึ่งบ่งชี้ว่า ‘ภาวะโลกรวน’ ที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากปกตินั้นมีส่วนทำให้เหตุความรุนแรงจากอาวุธปืนเพิ่มขึ้นด้วย
โดยปกติเป็นที่ทราบกันดีว่าเหตุคนยิงกันในสหรัฐฯ มักจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในช่วงฤดูร้อน ซึ่งผู้คนมักจะใช้ชีวิตในพื้นที่กลางแจ้ง และอากาศที่ร้อนอบอ้าวก็ยิ่งทำให้ผู้คนมีอารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่ายกว่าปกติ แต่การวิจัยฉบับใหม่บ่งชี้ว่า อุณหภูมิที่สูงกว่าระดับมาตรฐานในทุกช่วงฤดูกาลก็เพิ่มความเสี่ยงให้คนยิงกันได้มากกว่าเดิมด้วย
งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร JAMA Network Open โดยประเมินเหตุคนยิงกันใน 100 เมืองทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2015-2020 และพบว่ามีเหตุยิงกัน 7,973 ครั้งที่มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 6.85% ของเหตุคนยิงกันทั้งหมด (โดยไม่นับรวมการฆ่าตัวตาย)
นักวิจัยอธิบายว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนยิงกันจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น เพราะอากาศร้อนจะเพิ่มระดับฮอร์โมนความเครียด ซึ่งจะทำให้คนฉุนเฉียวมากขึ้น นอกจากนี้การที่อากาศอบอุ่นขึ้นกว่าปกติมักทำให้ผู้คนอยากออกไปนอกบ้านและมีการติดต่อกับคนอื่นๆ มากขึ้น ส่งผลให้เกิดโอกาสในการทะเลาะกันมากขึ้นด้วย โดยอุณหภูมิที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อเหตุคนยิงกันในหลายเมืองนั้นอยู่ที่ 29-32 องศาเซลเซียส
นักวิจัยกล่าวว่า ความรุนแรงจากอาวุธปืนเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่สำคัญในสหรัฐฯ โดยอัตราการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2014 และในปี 2020 มีรายงานที่ระบุว่า ความรุนแรงจากอาวุธปืนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในหมู่เด็กและวัยรุ่น
“เราเห็นความสัมพันธ์โดยรวมที่สอดคล้องกันอย่างมากระหว่างอุณหภูมิที่สูงขึ้นกับความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุยิงกัน” ดร.วิเวียน ลียงส์ (Vivian Lyons) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยกล่าว “เมื่อเราทราบแล้วว่าความรุนแรงจากอาวุธปืนมักจะเกิดในวันที่อากาศร้อนไม่ว่าจะอยู่ในฤดูกาลใดก็ตาม ทำให้เราสามารถสร้างความพยายามในการป้องกันความรุนแรงได้” พร้อมย้ำว่าผู้ที่เกี่ยวข้องควรนำองค์ความรู้นี้ไปใช้สร้างมาตรการป้องกันที่รัดกุมขึ้นในวันที่อากาศร้อนเกินปกติ เช่น การปลูกต้นไม้และสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่ม เพื่อให้พื้นที่ในเมืองเย็นลง
“หลังจากวิจัย ฉันมีความกังวลว่าความรุนแรงจากอาวุธปืนจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาวะโลกรวนยังคงดำเนินต่อไป” ลียงส์กล่าว ตอกย้ำให้เราเห็นชัดว่าภัยจากโลกรวนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในแง่สิ่งแวดล้อม แต่ยังกระทบไปถึงสภาพจิตใจของมนุษย์ด้วย
ภาพ: Mr.Nikon Via Shutterstock
อ้างอิง: