×

กรมชลประทานเผยงานวิจัยแก้ปัญหาปลาข้ามลุ่ม การป้องกันความผิดปกติของระบบนิเวศจากเขื่อนน้ำยวม [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
25.03.2023
  • LOADING...

หนึ่งในปัญหาที่ถูกยกมาเป็นข้อโต้แย้ง นำไปสู่การเรียกร้องให้ระงับการสร้างเขื่อนน้ำยวมคือ ความไม่แน่ชัดของมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการอพยพของสัตว์น้ำและการป้องกันพันธุ์ปลาต่างถิ่นหลุดข้ามลุ่มน้ำ กลายเป็นโจทย์ท้าทายที่กรมชลประทานต้องเร่งหาวิธีรับมือ พร้อมชี้แจ้งข้อมูลรองรับ เพื่อลดความกังวลก่อนโครงการจะเดินหน้า 

 

 

การสร้างเขื่อนน้ำยวมมีองค์ประกอบหลักคือ อุโมงค์ส่งน้ำเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร ความยาว 61.52 กิโลเมตร ที่ใช้สำหรับผันน้ำยวมจากอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปยังบ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยที่สันเขื่อนมีความสูง 69.5 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดความกังวลว่าปลาบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนจะไม่สามารถว่ายขึ้นสู่แม่น้ำยวมด้านเหนือเขื่อนได้

 

นอกจากการทำลายเส้นทางอพยพของปลาแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศจากน้ำไหลกลายเป็นน้ำนิ่งและลึกของอ่างเก็บน้ำที่มีระยะทางยาวตามลำน้ำถึง 22 กิโลเมตร อาจส่งผลให้ปลาที่เคยจับได้ในอดีต เช่น ปลาสะแงะ, ปลากดหัวเสียม, ปลาคม, ปลาเวียน และปลาท้องถิ่นชนิดต่างๆ สูญหายหรือลดลง 

 

ที่สำคัญการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำยวมไปลงที่ห้วยแม่งูดที่อยู่ห่างออกไปตามแนวอุโมงค์ใต้ดิน อาจทำให้ปลาในลุ่มน้ำสาละวินติดไปสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เมื่อปลาสองลุ่มน้ำมีลักษณะของพันธุกรรมที่แยกกันชัดเจนเล็ดลอดข้ามไปได้ อาจเกิดการปะปนของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลียนสปีชีส์ (Alien Species) อย่างเช่น ปลาเฉพาะถิ่นของลุ่มน้ำสาละวิน เช่น ปลาพลวง, ปลากดหัวเสียม, ปลากดหมู หรือปลากระสูบขีดสาละวิน ฯลฯ ถ้ามีการหลุดเข้าไปแล้วสามารถปรับตัวอาศัยในแม่น้ำปิงได้ อาจจะส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศทางด้านลบได้ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างประชากรและสมดุลของห่วงโซ่อาหาร

 

 

คุณธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำวิจัยเพื่อหาแนวทางป้องกันปลาข้ามลุ่มน้ำสาละวินมาลุ่มแม่น้ำปิง โดยได้มีการสำรวจนิเวศวิทยาทางน้ำและเก็บตัวอย่างปลา แพลงก์ตอน และสัตว์หน้าดิน รวม 8 สถานี เพื่อศึกษาและหามาตรการป้องกัน ได้แก่ การติดตั้งตะแกรงเพื่อป้องกันเศษไม้ ขยะ และวัชพืช รวมทั้งปลาขนาดใหญ่ เข้าสู่บริเวณสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา โดยมีการติดตั้งระบบการยับยั้งปลาด้วยคลื่นเสียง โดยแบ่งระดับเสียงออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับ Acoustic Sound (20 Hz – 20 kHz) กับระดับ Infrasound (0.01-20 Hz) เพื่อรบกวนและขับไล่สัตว์น้ำไม่ให้ว่ายน้ำเข้ามาในเขตบริเวณที่ตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งระบบป้องกันสัตว์น้ำที่จะสามารถขับไล่ปลา กำจัดลูกปลา และไข่ปลาที่หลุดเข้าสู่พื้นที่สถานีสูบน้ำได้ 

 

 

“ที่ผ่านมาเราได้ทดลองโดยใช้แบบจำลองขนาด 4 เมตร และใส่เครื่องมือ 3 อย่างลงไป ได้แก่ การใช้เสียง, การใช้แสง และฟองอากาศ โดยมีกรมประมงช่วยให้คำแนะนำพร้อมทั้งคัดเลือกพันธุ์ปลาเพื่อวิจัย ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลากด และปลาดุก จากแบบจำลองพบว่าวิธีการทั้ง 3 แบบ สามารถไล่ปลาได้มากกว่า 90% ถือเป็นความสำเร็จในระดับ Lab Scale แนวทางต่อไปคืออาจจะต้องติดตั้งเครื่องแบบผสมผสาน เนื่องจากปลาแต่ละสายพันธุ์มีความคุ้นเคยในแต่ละเรื่องต่างกัน”

  

ธนาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การอพยพของปลาในธรรมชาติมี 2 ช่วงหลัก คือเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ระดับน้ำตามธรรมชาติเริ่มสูง ปลาจากลุ่มน้ำสาละวินตอนล่างจะว่ายขึ้นมาหากินและวางไข่ตามแม่น้ำเมย แม่น้ำยวม และแม่น้ำเงา ถึงช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม ระดับน้ำตามธรรมชาติเริ่มลด ปลาจะย้ายกลับบริเวณลุ่มน้ำสาละวินตอนล่าง ตั้งแต่สบเมยลงไปถึงบริเวณปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสาละวิน ซึ่งตามแผนการผันน้ำจะผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลในช่วงฤดูฝน เดือนมิถุนายน-มกราคมของทุกปี 

 

“อีกโจทย์หนึ่งที่ยังเป็นเพียงแนวคิดคือ การออกแบบเลย์เอาต์ที่เหมาะสม เพื่อให้ปลาทุกสายพันธุ์ ทุกขนาด สามารถว่ายน้ำข้ามเขื่อนได้ เขื่อนน้ำยวมซึ่งมีความสูงประมาณ 69 เมตร ปลาจากฝั่งน้ำยวมจะว่ายน้ำไปโครงสร้างเขื่อนต้องไม่เป็นอุปสรรค แต่ด้วยโครงสร้างที่สูงมาก จึงต้องออกแบบเลย์เอาต์ทางผ่านปลา เพื่อให้ปลาสามารถว่ายมาได้ โดยดูขนาดปลาและประเภทปลาต่างๆ รวมถึงสัตว์น้ำอีกหลายชนิด เช่น กุ้ง และสัตว์น้ำชนิดอื่น” 

 

 

คุณธนากล่าวต่อว่า งานวิจัยครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนภารกิจของกรมชลประทาน ทั้งเรื่องสิ่งประดิษฐ์ กระบวนการ และการสร้างนวัตกรรม จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นการลองหยิบประเด็นที่สงสัยมาใส่ในแบบจำลองต่างๆ ลองผิดลองถูก เพื่อจะได้ตัวที่ถูกมาใช้

 

นอกจากงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะใช้ในโครงการ กรมชลฯ ได้ประสานงานกับกรมประมงและให้งบประมาณในการศึกษาวิจัยหาวิธีการเพาะขยายพันธุ์และอนุบาลลูกปลา เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ รวมไปถึงการรวบรวมและลำเลียงพ่อแม่ปลาที่จับได้จากบริเวณท้ายเขื่อน แล้วนำไปปล่อยบริเวณเหนือเขื่อน เพื่อช่วยในเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของปลาในน้ำยวม คาดว่าปลาที่ปล่อยลงในอ่างเก็บน้ำยวม เมื่อเติบโตขึ้นแล้วถึงฤดูน้ำหลากบางส่วนจะสามารถว่ายลงสู่ท้ายน้ำเข้าสู่แม่น้ำเมยหรือลำน้ำยวมตอนบน ลำน้ำเงา และลำน้ำสาขาที่เชื่อมต่อกัน ทำให้ผลผลิตปลาในลำน้ำต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

 

รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในการติดตามการเปลี่ยนแปลงนิเวศวิทยาทางน้ำ ซึ่งครอบคลุมลักษณะทางชีววิทยาประชากรและพลวัตประชากรปลาในแม่น้ำยวมและลำน้ำสาขาต่างๆ เพื่อตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแผนป้องกันและลดผลกระทบ 

 

 

“กรมชลประทานได้วางแผนแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้ 17 แผน และมีแผนติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีก แผนเหล่านี้จะทำให้งานของกรมชลฯ มีผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้แจ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณน้ำที่จะเติมเขื่อนภูมิพล เรื่องของนิเวศวิทยา สามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรสัตว์น้ำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้” คุณธนากล่าวทิ้งท้าย 

 

นวัตกรรมของโครงการน้ำยวม ทั้งระบบป้องกันปลาข้ามลุ่มน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ที่ป้องกันพันธุ์ปลาต่างถิ่นหลุดข้ามลุ่มน้ำ รวมถึงมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่นั้น คำตอบที่แน่ชัดอาจเกิดขึ้นได้หากโครงการผันน้ำยวมเกิดขึ้นจริง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising