×

ดีแทค-มูลนิธิชัยพัฒนา-เนคเทค ร่วมมือวิจัยเพาะ ‘เห็ดหลินจือ’ ในฤดูหนาวอุณหภูมิเลขตัวเดียวสำเร็จด้วย 5G คลื่น 700 MHz

โดย THE STANDARD TEAM
20.05.2022
  • LOADING...
เห็ดหลินจือ

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ดีแทคร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและเนคเทค สวทช. คิดค้นโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ นำเทคโนโลยี 5G คลื่น 700 MHz พร้อม IoT และ Machine Learning ตอบโจทย์เพาะเห็ดหลินจือในฤดูหนาวเลขตัวเดียวสำเร็จ พร้อมนำองค์ความรู้มาพัฒนาการทำเกษตรแม่นยำ เก็บดาต้าปัจจัยแวดล้อม ลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค สู่การควบคุมโรงเรือน ตั้งทุกค่า คำนวณเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เพาะปลูก ดึงธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติร่วมทดสอบและวิจัย เตรียมเผยแพร่องค์ความรู้ต่อเกษตรกรในพื้นที่หนาวเย็น ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน 

 

เห็ดหลินจือมีคุณภาพทางโภชนาการและยาสูงมาก โดยเห็ดหลินจืออบแห้งมีมูลค่าประมาณกิโลกรัมละ 2,000 บาท และสำหรับสปอร์เห็ดหลินจือมีมูลค่าสูงถึงประมาณกิโลกรัมละ 20,000 บาท สามารถเพาะได้ดีในอุณหภูมิ 25-28 องศาเซลเซียส แต่ไม่สามารถเติบโตได้ในฤดูหนาวเลขตัวเดียว ซึ่งภาคเหนือของไทยระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิในฤดูหนาวอาจจะลดลงอยู่ที่ 7-10 องศาเซลเซียส ทำให้ไม่สามารถเพาะเห็ดหลินจือได้ ดังนั้นถ้าคิดค้นวิธีการเพาะปลูกในอากาศหนาวดังกล่าวได้ จะสามารถถ่ายทอดความรู้และพัฒนาให้กับเกษตรกรไทยได้

 

เห็ดหลินจือ

 

ดีแทค มูลนิธิชัยพัฒนา และเนคเทค จึงได้ร่วมมือทดลองเพาะเห็ดหลินจือในฤดูหนาว ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเทคโนโลยี 5G และการนำเทคโนโลยี Machine Learning มาใช้ร่วมกับ IoT ซึ่งจะมีการเก็บดาต้าภาพถ่าย ขนาด รูปร่าง และสี ตลอดช่วงการเจริญเติบโตด้วยระบบกล้องบันทึกภาพความละเอียดสูง รวบรวมเป็นฐานข้อมูลและใช้โปรแกรมวิเคราะห์ภาพ ที่จะพัฒนาการเพาะเห็ดหลินจือได้แม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งคาดการณ์สภาพแวดล้อม ปรับสภาพความเหมาะสม อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น และแสง รวมทั้งยังอัปเดตชุดข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถจัดการได้ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน เพื่อพัฒนาการเกษตรที่จะมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งเป็นการสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

 

เห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือ

 

ดร.อนุตรา วรรณวิโรจน์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “การพัฒนาการเกษตรในปัจจุบันจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง นำมาสู่แนวคิดแผนการพัฒนาโครงการฯ นำเทคโนโลยีเข้าไปปรับใช้กับการเกษตรในหลากหลายมิติ เช่น การจัดการผลิตพืช การใช้พลังงาน และการตลาด เพื่อให้สอดรับกับความท้าทายทางการเกษตรในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง หรือ IoT จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในโรงเรือน และนำมาซึ่งความต่อเนื่องของผลผลิต”

 

ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “เรานำความรู้ด้านเทคโนโลยี 5G ที่สร้างความแตกต่างและมีความแม่นยำสูงมาใช้ในการศึกษาเชิงลึกของการเติบโตสายพันธุ์เห็ดหลินจือ โดยดีแทคมีส่วนร่วมออกแบบและวางแผนติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ รวมทั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงการติดตั้งและดูแลเสาสัญญาณ เพื่อขยายพื้นที่สัญญาณเครือข่าย 5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนโครงสร้างระบบฐานข้อมูลบนคลาวด์ เพื่อเก็บข้อมูลปัจจัยเพาะปลูก ตลอดจนจัดทำแอปพลิเคชันแสดงผลภาพถ่ายหน้าจอมือถือ เพื่อให้สะดวกในการดูแลและบริหารจัดการ

 

“ดีแทคนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งมีความจำเป็นในการเพิ่มเติมองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาผลิตภาพทางการผลิต นอกจากนี้ยังคาดหวังในผลการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรที่ยากจน โดยนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืชผลในโรงเรือนที่มีมูลค่าสูงอย่างเห็ดหลินจือที่ตลาดมีความต้องการสูง เป็นการนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์คุณภาพชีวิต สร้างรายได้และกำไรให้เกษตรกร” ประเทศกล่าว

 

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวได้ดำเนินมาสู่โครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ ระยะที่ 3 พร้อมการนำเทคโนโลยี 5G สู่การควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดหลินจือช่วงเดือนธันวาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 ส่งผลให้เห็ดหลินจือออกดอกและสามารถดักสปอร์ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของตลาดได้สำเร็จ ถือเป็นการก้าวไปอีกขั้นของโครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะในการพิชิตโจทย์ความท้าทายอันเกิดจากธรรมชาติ

 

เห็ดหลินจือ

 

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวเสริมว่า “จากผลการศึกษาในระยะที่ 1 และ 2 ทางคณะทำงานเห็นสมควรให้ทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการก่อน โดยเนคเทคได้ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์และระบบอัตโนมัติเพื่อการเกษตร ได้แก่ เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ความชื้น และความเข้มแสง โดยรับ-ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไปยัง IoT Cloud Platform เพื่อติดตาม ควบคุม สั่งการระบบต่างๆ ภายในโรงเรือน ผ่านแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้มาใช้วิเคราะห์จำลองสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหลินจือ และทดสอบปัจจัยต่างๆ ภายในตู้ควบคุม หรือ Growth Chamber ขนาด 100 ก้อน พบว่า เราได้ข้อมูลสำคัญที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมตามความต้องการ และโรงเรือนขนาดเล็กขนาด 400-500 ก้อน เพื่อศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม และนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรือนเพาะเห็ดหลินจือขนาดใหญ่ ซึ่งจะขยายความรับผิดชอบนี้แก่ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ National Biobank of Thailand ภายใต้กำกับดูแลของ สวทช. ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เข้าร่วมในการศึกษาวิจัย ให้ได้ข้อมูลปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตของเห็ดหลินจือนอกฤดูกาลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งปรับปรุงกระบวนการสู่การดำเนินงานโครงการในระยะที่ 3 ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น และการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน เช่น AI ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ ขยายผลไปสู่เกษตรกร เพื่อช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้ในระยะยาว”

 

เห็ดหลินจือ

 

ดร.ชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับโครงการความร่วมมือทางด้านวิจัยที่เกิดขึ้น ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการเตรียมพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคตภายใต้ความท้าทายในยุคดิจิทัล ที่ข้อมูลถือเป็นหัวใจ, AI เป็นสมองช่วยคิดวิเคราะห์, เครือข่าย (Network) เป็นเส้นเลือดใหญ่ในการส่งผ่านข้อมูล ดังนั้นการได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างมูลนิธิชัยพัฒนาและดีแทคจะทำให้เกิดระบบนิเวศของการใช้เทคโนโลยีที่ก่อประโยชน์ต่อคนหมู่มาก เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของเนคเทค ที่ต้องการเป็นฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ” 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising