×

ผลวิจัยชี้ 86% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง สูญเสียการรับรส-กลิ่น แต่หายได้ใน 6 เดือน

โดย THE STANDARD TEAM
11.01.2021
  • LOADING...
ผลวิจัยชี้ 86% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง สูญเสียการรับรส-กลิ่น แต่หายได้ใน 6 เดือน

วารสารอายุรศาสตร์ (Journal of Internal Medicine) เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยล่าสุดจากกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 2,500 คน ใน 18 โรงพยาบาลของยุโรป พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง 86% สูญเสียสัมผัสในการรับรู้กลิ่นและรสชาติ แต่สามารถหายดีได้ภายใน 6 เดือน

 

โดยกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง พิจารณาจากการที่ไม่มีร่องรอยอาการปอดอักเสบจากไวรัสหรือสูญเสียออกซิเจน และผู้ป่วยสามารถหายดีขึ้นได้จากการพักฟื้นที่บ้าน

 

ซึ่งผลการศึกษายังพบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะกลับมารับรู้กลิ่นได้อีกครั้งหลังผ่านระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 18-21 วัน แต่มีบางรายที่ไม่สามารถรับรู้กลิ่นได้แม้ผ่านไปถึง 6 เดือน ขณะที่ผู้ป่วยโควิด-19 อายุน้อย จะมีอัตราสูญเสียการรับรู้กลิ่นมากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้สูงอายุ

 

จากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการปานกลางจนถึงรุนแรงนั้น พบว่าราว 4-7% จะสูญเสียความสามารถในการรับรู้กลิ่นและรสชาติ ซึ่งผู้ติดเชื้อที่มีอาการปานกลางนั้นจะมีสัญญาณของอาการปอดอักเสบ เช่น มีอาการไอ มีไข้ และหายใจลำบาก ส่วนผู้มีอาการรุนแรงนั้นจะมีอาการป่วยของระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรง โดยส่วนมากคาดว่าจะเป็นผู้สูงอายุ และมีอาการความดันโลหิตสูง เบาหวาน มีความผิดปกติในกระเพาะอาหาร รวมถึงมีอาการผิดปกติของไต ระบบทางเดินหายใจ หัวใจ ตับ และระบบประสาท

 

  • เราจะทดสอบการรับรู้กลิ่นอย่างไร

วิธีที่สามารถใช้ในการทดสอบว่าเราสูญเสียการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติหรือไม่นั้น ทำได้ง่ายๆ เช่น การนำขนมเยลลีบีนมาไว้ในมือข้างหนึ่ง และมืออีกข้างหนึ่งบีบจมูกแน่นๆจนไม่มีอากาศไหลผ่าน ก่อนจะเอาเยลลีบีนใส่ปากและเคี้ยว ซึ่งหากสัมผัสรับรู้รสยังทำงานได้ปกติ และรับรู้ถึงความหวานของเยลลีบีน หมายความว่าสัมผัสในการรับรู้รสชาติยังเป็นปกติ และในระหว่างที่เคี้ยวเยลลีบีน ให้รีบปล่อยมือที่บีบจมูกไว้ ซึ่งหากสามารถรับรู้กลิ่นได้ ก็จะทราบว่าเยลลีบีนที่กำไว้นั้นมีกลิ่นอะไร 

 

  • การสูญเสียการรับรู้กลิ่นนั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นทั่วไป

สำหรับอาการสูญเสียการรับรู้กลิ่นนั้นพบได้ในผู้ป่วยโรคติดเชื้อจากไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน โดยมีทั้งอาการแบบชั่วคราวและถาวร ซึ่งกรณีหนึ่งคือการบวมในจมูกจากผลของไวรัส ทำให้อนุภาคของกลิ่นไปไม่ถึงส่วนบนของจมูกที่มีเส้นประสาทรับกลิ่นอยู่ และเมื่ออาการบวมลดลง ก็จะสามารถรับรู้กลิ่นได้อีกครั้ง 

 

แต่หากไวรัสนั้นก่อให้เกิดอาการเป็นพิษในระบบประสาท ก็อาจทำอันตรายต่อเส้นประสาทรับกลิ่นจนไม่สามารถรับรู้กลิ่นได้ ซึ่งกรณีแบบนี้มีทั้งสูญเสียสัมผัสการรับกลิ่นชั่วคราวและถาวรเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X