×

เปิดร่างกฎหมายกำหนดเกณฑ์การวิจัย ทำไมจึงถูกมองเป็น ‘กองเซ็นเซอร์’ ทางวิชาการ?

02.09.2024
  • LOADING...
กองเซ็นเซอร์ วิชาการ

ไม่นานมานี้เกิดประเด็นสำคัญที่สร้างความกังวลในวง วิชาการ หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ‘ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. ….’ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567

 

มติดังกล่าวเป็นไปตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอร่างพระราชกฤษฎีกานี้เข้าสู่ที่ประชุม 

 

สอวช. ระบุด้วยว่า การยกร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีบทบาทส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และจริยธรรมการวิจัยที่สอดคล้องกับหลักจริยธรรมสากล สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และหลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาก่อนการประกาศใช้

 

ทว่าเหตุใดร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็น ‘กองเซ็นเซอร์’ ที่จะกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ และทำให้วงการวิจัยถูกกำกับควบคุมมากยิ่งขึ้น THE STANDARD เปิดสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อความตระหนักที่ดีขึ้น

 

กองเซ็นเซอร์ วิชาการ

ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

รัฐมนตรีแต่งตั้ง ‘ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูง’ พิจารณางานวิจัย

 

ประเด็นสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือการแต่งตั้งให้บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มหนึ่งมาเป็น ‘ด่านหน้า’ ในการพิจารณากลั่นกรองงานวิจัยต่างๆ เรียกว่า ‘คณะกรรมการพิจารณาการวิจัยซึ่งอาจมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’

   

คณะกรรมการดังกล่าวมีองค์ประกอบ ดังนี้ 

 

1) ประธานกรรมการ ซึ่งเป็น ‘ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงด้านจริยธรรมการวิจัย ศาสนา วัฒนธรรม หรือจารีตประเพณี’ 

 

2) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวง อว., นายกราชบัณฑิตยสภา และประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

 

และ 3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 5 คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ด้านต่างๆ

 

คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดลักษณะการวิจัย ซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา สอดส่องดูแล และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกานี้ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนาสำหรับการวิจัย รวมทั้งตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดจากการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกานี้

 

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. ….

 

งานวิจัยแบบใดอาจขัดต่อหลักศาสนาและศีลธรรม?

 

ส่วนลักษณะของการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ร่างพระราชกฤษฎีการะบุไว้ ดังนี้

 

1) การวิจัยที่ขัดหรือแย้งหรือละเมิดหลักการสำคัญพื้นฐานของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และน่าจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง

 

2) การวิจัยซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง การดูหมิ่นเกลียดชัง

การด้อยค่า การล้อเลียนวัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของท้องถิ่นหรือของชาติ หรือการวิจัยซึ่งเป็นปฏิปักษ์อย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมหรือจารีตประเพณีของท้องถิ่นหรือของชาติ

 

3) การวิจัยซึ่งขัดต่อศีลธรรมอันดีที่สำคัญของท้องถิ่นหรือประเทศอย่างชัดแจ้ง และน่าจะนำไปสู่การละเมิดศีลธรรมนั้นอย่างกว้างขวาง

 

4) การวิจัยซึ่งน่าจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายในท้องถิ่นหรือสังคม การด้อยค่าหรือละเมิดชีวิต ร่างกาย เกียรติยศ ชื่อเสียงของมนุษย์ ความเสมอภาค สิทธิ หรือเสรีภาพ

 

5) การวิจัยลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

สั่งยุติการวิจัยและหยุดให้ทุนวิจัยได้ทันที

 

กรณีที่มี ‘เหตุอันควรสงสัยว่า’ โครงการวิจัยมีปัญหากับหลักศาสนา ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดวิธีการดำเนินการไว้ ดังนี้

 

1) ให้หน่วยงานซึ่งให้ทุนวิจัย หรือหน่วยงานซึ่งได้รับทำการวิจัย หรือหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย หรือนักวิจัย ส่งงานวิจัยนั้นให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งคณะกรรมการจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และอาจขยายระยะเวลาการพิจารณาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แล้วให้แจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยไปยังหน่วยงานหรือนักวิจัย

 

2) เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการวิจัยมีปัญหากับหลักศาสนา โดยหากการวิจัยนั้นร้ายแรง ให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยุติการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและยุติการวิจัย และหากการวิจัยมีประโยชน์ทางวิชาการหรือวิชาชีพ ควรวิจัยต่อไปได้ ให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อมิให้เกิดความเสียหาย และให้หน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัยและนักวิจัยถือปฏิบัติได้

 

3) ในกรณีที่นักวิจัยหรือหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การวิจัยหรือข้อกำหนดการวิจัย หรือคำวินิจฉัย หรือคำสั่งของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการแจ้งหน่วยงานในระบบวิจัยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และแจ้งหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการให้ทุน ระงับการให้ทุนแก่นักวิจัยหรือหน่วยงานที่ได้รับทุนวิจัย

 

วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

กองเซ็นเซอร์จำกัดเสรีภาพทางวิชาการ?

 

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้ความเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวว่า เป็นเรื่องน่ากังวล โดยเฉพาะการใช้คำว่า ‘ข้อกำหนดจริยธรรม’ ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรม แต่ละคนมีมุมมองที่ต่างกัน

 

กระทั่งการกำหนดให้ประธานคณะกรรมการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงด้านจริยธรรมการวิจัย ที่ไม่ทราบว่าจะวัดหรือคัดเลือกกันอย่างไร

 

“ในขณะที่งานวิชาการเป็นเรื่องของเสรีภาพทางความคิด กฎหมายนี้จึงไม่ต่างจากการมีกองเซ็นเซอร์ จะยิ่งทำให้งานทางวิชาการของไทย ซึ่งเดิมทีถูกกำกับควบคุมอยู่แล้ว ยิ่งทำงานยากลำบากขึ้นอีก” วาโยกล่าว 

 

จึงควรต้องติดตามกันต่อไปว่า ข้อกำหนดต่างๆ ที่กำลังจะมีผลกระทบต่อแวดวงวิชาการไทย จะก่อให้เกิดปัญหาจริงอย่างที่หลายฝ่ายกังวลและวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising