×

วิจัยชี้ วิกฤตโลกรวนกระตุ้นให้โรคภัยไข้เจ็บในมนุษย์รุนแรงกว่าเดิม

10.08.2022
  • LOADING...
โรคภัยไข้เจ็บ

ผลการวิจัยล่าสุดระบุว่า สภาวะโลกรวนเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โรคภัยไข้เจ็บซึ่งเกิดจากจุลชีพก่อโรคทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม 

 

นักวิจัยได้รวบรวมเอกสารทางวิทยาศาสตร์กว่า 70,000 ฉบับที่วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างอันตรายจากสภาพอากาศที่มีต่อโรคติดเชื้อต่างๆ โดยมีเอกสารบางส่วนที่พิจารณาหลักฐานย้อนหลังถึง 700 ปี ก่อนเกิดวิกฤตโลกรวนจากฝีมือมนุษย์ โดยในจำนวนโรคติดเชื้อต่างๆ 375 ชนิด นักวิจัยพบว่ามีโรคจำนวน 218 ชนิดทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงภาวะโลกร้อน

 

รายงานระบุว่า โรคที่มีสาเหตุจากจุลชีพก่อโรคอย่างโรคไข้ซิกา มาลาเรีย ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา หรือแม้แต่โควิด ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน ไฟป่า ฝนตกหนัก และน้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

โดยภาวะโลกร้อนและรูปแบบของฝนที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเอื้อต่อการเจริญเติบโตของพาหะนำโรคต่างๆ เช่น ยุง เห็บ และหมัด ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย โรคลายม์ โรคไข้สมองอักเสบ และโรคอื่นๆ

 

ขณะเดียวกัน พายุและน้ำท่วมใหญ่ยังทำให้ผู้คนต้องอพยพย้ายที่อยู่อาศัยชั่วคราว ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาเสี่ยงใกล้ชิดกับเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ รวมถึงอหิวาตกโรค นอกจากนี้ วิกฤตโรคร้อนยังส่งผลให้ความสามารถในการรับมือกับจุลชีพก่อโรคของมนุษย์ลดลงด้วย เช่น ภัยแล้งอาจทำให้ระบบสุขาภิบาลย่ำแย่ลง ส่งผลให้เกิดโรคบิด ไทฟอยด์ และโรคอื่นๆ ตามมา

 

คามิโล โมรา นักภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นปัจจัยที่กระตุ้นความรุนแรงของโรคภัยในคนทั่วโลก อีกทั้งยังมีโรคอื่นๆ ที่มนุษย์ไม่เคยรู้จัก ซึ่งอาจอุบัติขึ้นอีกในอนาคต โดยเขากล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ‘ไม่ต่างกับการเอาไม้แหย่สิงโต ที่ท้ายที่สุดจะหันกลับมาเล่นงานมนุษย์’ 

 

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ด้วยว่าวิกฤตโลกรวนทำให้การแพร่ระบาดของโควิดรุนแรงกว่าเดิม เนื่องจากเหตุไฟป่าและน้ำท่วมได้ส่งผลให้สัตว์ป่าต้องย้ายถิ่นที่อยู่ ยกตัวอย่างเช่น ‘ค้างคาว’ ที่ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ใกล้กับมนุษย์มากขึ้น ขณะที่ตัวโมราเองก็เป็นผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยาจากการระบาดในโคลัมเบียเมื่อ 2-3 ปีก่อน หลังฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและเกิดน้ำท่วมขังกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงจำนวนมาก

 

แอรอน เบิร์นสไตน์ ผู้อำนวยการศูนย์สภาพอากาศ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมโลกแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แสดงความคิดเห็นว่า “การย้ายถิ่นของผู้คนจำนวนมาก (จากปัญหาโลกรวน) อาจกระตุ้นให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อได้ทุกชนิด ตั้งแต่เยื่อหุ้มสมองอักเสบไปจนถึง HIV หรือสรุปได้ว่า สภาพภูมิอากาศที่ไม่เสถียรกลายเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ที่ทำให้โรคติดเชื้อแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม”

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า ในช่วงปี 2030-2050 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อ เช่น มาลาเรียและท้องร่วง รวมถึงภาวะขาดสารอาหารและโรคลมแดดมากถึงปีละ 250,000 คน ซึ่งเป็นโรคที่ถูกกระตุ้นด้วยวิกฤตโลกรวนทั้งสิ้น 

 

ภาพ: fizkes Via Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X