วันนี้ (11 เมษายน) ชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่าภายหลังจากที่กระทรวงการคลังปรับแก้ไขระบบเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพิ่มปุ่มยกเลิกลงทะเบียนเพื่อให้โอกาสกับประชาชนที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จให้สามารถไปยกเลิกการลงทะเบียนได้ โดยปุ่มยกเลิกลงทะเบียนเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน
จนถึงขณะนี้วันที่ 11 เมษายน รวมเวลา 8 วัน มียอดผู้ขอลงทะเบียนยกเลิกเข้าร่วมมาตรการรับเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แล้วจำนวนกว่า 6.1 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยมีประชาชนเข้าใช้บริการปุ่มยกเลิกกว่า 76,000 คนต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกระทรวงการคลังได้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง โดยสั่งการทีมกฎหมายของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน ทางกระทรวงการคลังได้ยื่นเอกสารหลักฐานประสานความร่วมมือไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้โพสต์ข้อความลงสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ทั้งหมด 5 ราย ซึ่งยิ่งทำให้ตัวเลขขอยกเลิกการลงทะเบียนพุ่งสูงถึง 5,000 รายภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 20.00-22.00 น. ของวานนี้
นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้ตั้งทีมกฎหมายเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลของบุคคลต่างๆ ในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการแจกเงิน 5,000 บาทในทางที่ไม่สมควร โดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่ 1 คนที่ได้รับเงิน 5,000 บาทจริง และมีการไปโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ว่าได้เงินมาอย่างที่ไม่ควรได้ ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะทำการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ
หากพบว่าผู้นั้นขาดคุณสมบัติจริงก็จะทำการระงับการจ่ายเงินในเดือนต่อไป และให้ส่งเงินที่ได้รับ 5,000 แรกคืนให้กับรัฐบาล โดยที่รัฐบาลจะไม่ดำเนินคดี ส่วนกรณีที่ 2 ผู้โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ว่าได้รับเงิน 5,000 บาท แต่ไม่ได้รับจริง ถือเป็นการสร้างความปั่นป่วนกับสังคม กระทรวงการคลังจะดำเนินคดีทางกฎหมายเอาผิดฐานนำเข้าข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ต่อไป
โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) ได้อ้างอิงข้อมูลทางกฎหมายที่ประชาชนควรรู้จากเพจ ทนายรัชพล ศิริสาคร ประธานชมรมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ระบุว่าการตั้งใจกรอกข้อมูลหลอกลวงรัฐเพื่อหวังลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาล เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกง มาตรา 341 มีโทษขั้นสูงจำคุก 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 มีโทษขั้นสูงจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่โพสต์หมิ่นรัฐบาล ความผิดตามมาตรา 136 มีโทษขั้นสูงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นผู้ที่จะโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเงินเยียวยา 5,000 บาทบนโลกออนไลน์ควรตระหนักถึงผลที่จะตามมาด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์