วานนี้ (8 สิงหาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำหนังสือสอบถามถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการขึ้นอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินใน กทม. ในส่วนเกษตรกรรม ให้เท่ากับเพดานภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ 0.15% ว่าสามารถทำได้หรือไม่ จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ในอัตรา 0.01-0.1% เพราะพบว่าเจ้าของที่ดินหลายรายซึ่งมีที่ดินอยู่ในโซนสีแดงเขตพาณิชยกรรม ใจกลางเมือง แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ปรับเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่ดินเกษตรกรรม เพราะหากปล่อยรกร้างว่างเปล่าต้องเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.3-0.7%
โดยชัชชาติกล่าวว่า กทม. ไม่ได้มีแนวคิดจะเก็บภาษีเพิ่ม แต่มีประเด็นที่คนมีพื้นที่ใจกลางเมืองแต่เอามาทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสิทธิ์ของเจ้าของที่ที่ปฏิบัติตามกฎของกระทรวงการคลัง กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมต้องปลูกกล้วยกี่ต้น ปลูกมะนาวกี่ต้น แต่ปัจจุบันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ กทม. ยังต่ำกว่ากรอบอยู่ จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เจ้าของที่ดินมาทำแปลงเกษตรกรรม โดยที่ไม่สอดคล้องกับเจตนาจริงๆ จึงมีแนวคิดว่าพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่โซนพาณิชยกรรมเข้มข้น ถ้ามีการนำมาทำเกษตรกรรมควรเก็บภาษีเต็มกรอบเพดานตามที่กฎหมายกำหนด คือ 0.15%
ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่าทำได้หรือไม่ เป็นเพียงแนวคิด จึงต้องสอบถามไปที่กระทรวงการคลังว่าทำได้หรือไม่ เพราะกระทรวงการคลังให้เก็บภาษีตามกรอบเพดานได้ แต่ไม่ได้บอกว่าจะเอาผังเมืองมาเป็นตัวกำกับได้หรือไม่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้บังคับใช้ แค่สอบถามไปก่อนเท่านั้น
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า แม้กระทรวงการคลังจะตอบกลับมา แต่ยังต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า พื้นที่มีทั้งหมดกี่แปลง มีเกษตรกรจริงๆ กี่คน เพราะไม่อยากให้กระทบกับเกษตรกรจริงๆ เป้าหมายของ กทม. คือเก็บเพิ่มภาษีกับคนที่ไม่ใช่เกษตรกร แต่อาศัยตัวกฎหมายเลี่ยงการจ่ายภาษีจำนวนมาก ด้วยการหลบไปทำเกษตรกรรม แต่ถ้าเก็บก็ไม่ได้เก็บเพิ่มมาก เพราะเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นอัตราที่ต่ำอยู่แล้ว
แนวคิดนี้ต้องการเป็นแรงจูงใจให้เจ้าของที่ดินเอาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาให้ กทม. ทำสวนสาธารณะในระยะเวลา 7 ปี โดยที่เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษี เป็นการกระตุ้นให้เอาที่ว่างเปล่ามาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น
ชัชชาติกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ขอสรุปว่ายังไม่ได้ปรับภาษีขึ้น แค่สอบถามไปที่กระทรวงการคลัง ว่าถ้าจะเอาผังเมืองมากำกับร่วมกับอัตราภาษีสามารถทำได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีคนทำ ขอประชาชนอย่าเพิ่งตื่นเต้น อย่าเพิ่งตกใจกัน เพราะเป็นแนวคิดที่พยายามทำให้เกิดประโยชน์สุงสุดกับประชาชน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีคนพูดเยอะว่าทำไมมีคนเอาที่มาปลูกกล้วย ปลูกอ้อย กลางเมือง ดังนั้น เป็นแนวคิดหนึ่งที่จะตอบปัญหาตรงนี้ได้ ถ้ากระทรวงการคลังตอบกลับมา