×

รีพับลิกันฉายภาพจุดอ่อนไบเดน ดันกฎหมายประเมินคำสั่งประธานาธิบดีว่าทำให้เกิดเงินเฟ้อมากแค่ไหน

06.03.2023
  • LOADING...

โจ ไบเดนชนะการเลือกตั้งในปี 2020 และได้รับความนิยมสูงมากจากประชาชนชาวอเมริกันเกือบจะทันทีที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเขาได้คะแนนความพึงพอใจในผลงานหรือ Job Approval Rating เกือบ 60% เนื่องจากรัฐบาลของเขาได้ฉายภาพให้เห็นถึงการทำงานอย่างมืออาชีพ ไม่เหมือนสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดูจะเต็มไปด้วยภาพของความวุ่นวายและเรื่องอื้อฉาวของทั้งตัวทรัมป์เองและคณะรัฐมนตรี 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลงานการบริหารประเทศของไบเดนออกมาจริงๆ คะแนนนิยมของเขาก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จากปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลของเขาจะไม่สามารถแก้ไขได้เสียที จน ณ ตอนนี้ Job Approval Rating ของไบเดนตกลงมาเหลือแค่ 40% กว่าๆ เท่านั้น ซึ่งก็เป็นคะแนนนิยมที่ตกต่ำระดับเดียวกับทรัมป์เลยทีเดียว

 

การเมืองคือเรื่องปากท้อง 

อดีตประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตอย่างบิล คลินตัน เคยกล่าวไว้ว่า ชาวอเมริกันไม่สนใจอะไรอย่างอื่น เพราะพวกเขาโหวตเลือกประธานาธิบดีด้วยผลงานทางเศรษฐกิจอย่างเดียวเท่านั้น คำกล่าวนี้เป็นจริงมาจนถึงปัจจุบัน เพราะปัญหาข้าวยากหมากแพงจากเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี กำลังทำให้คนอเมริกันมองว่ารัฐบาลของไบเดนเป็นรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ จนนำมาสู่คะแนนนิยมที่ตกต่ำของเขา

 

อันที่จริงถ้าเราไปดูคะแนน Job Approval Rating ในหัวข้อต่างๆ จะพบว่า Job Approval Rating ของไบเดนในด้านอื่นๆ เช่น นโยบายด้านสังคม สาธารณสุข และการต่างประเทศของเขาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี โดยเขาได้คะแนนอยู่ที่ 40% ปลายๆ จนเกือบถึง 50% อย่างไรก็ดี คะแนนด้านเศรษฐกิจของเขานั้นต่ำมาก (บางโพลลงไปถึง 30%) ซึ่งนั่นก็ทำให้คะแนน Job Approval Rating โดยรวมของเขาตกมาที่ 40% ต้นๆ เท่านั้น

 

นโยบายของเขาคือตัวปัญหา

ที่สำคัญไปกว่านั้นชาวอเมริกันส่วนใหญ่มองว่าปัญหาเงินเฟ้อเกิดจากการใช้เงินอย่างมือเติบของไบเดน เพราะในช่วง 2 ปีแรกของรัฐบาลของเขา ไบเดนผ่านร่างกฎหมายขนาดใหญ่ 2 ร่าง ได้แก่ American Rescue Plan Act ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาจากการระบาดของโควิด และร่าง Bipartisan Infrastructure Bill ซึ่งเป็นการลงทุนกับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่มูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

แน่นอนว่าการที่รัฐบาลใช้เงินสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี ย่อมเป็นการเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐในระบบ อันจะส่งผลให้ค่าของเงินนั้นด้อยลง (ซึ่งก็คือเงินเฟ้อนั่นเอง) ซึ่งเมื่อไปรวมปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ยังมีปัญหาค้างคามาจากสมัยล็อกดาวน์ บวกกับปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ยิ่งทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาถีบตัวขึ้นสูง จนชาวอเมริกันรู้สึกได้ถึงค่าครองชีพที่รายได้ของพวกเขาเริ่มจะสู้ไม่ไหว

 

รีพับลิกันเลือกที่จะตีในจุดที่เจ็บ

พรรครีพับลิกันพลิกกลับมาชนะเลือกตั้งในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสครองเสียงข้างมากในสภาล่างเป็นครั้งแรกตั้งแต่ไบเดนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และพวกเขาก็ได้เลือกใช้เสียงข้างมากนี้ในการโจมตีจุดอ่อนที่สุดของไบเดนด้วยการผ่านร่างกฎหมายที่มีชื่อว่า Reduce Exacerbated Inflation Negatively Impacting the Nation หรือ REIN IN ที่ระบุให้สำนักงานงบประมาณแผ่นดินต้องประเมินทุกๆ คำสั่งของประธานาธิบดี (Executive Order) ว่าจะมีผลเพิ่มเงินเฟ้อกี่เปอร์เซ็นต์

 

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมาย REIN IN มีโอกาสแทบจะเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ที่จะผ่านทั้งสภาสูง (ที่เดโมแครตครองเสียงข้างมากอยู่) และได้รับการลงนามรับรองจากประธานาธิบดีให้ออกมาเป็นกฎหมายจริงๆ ทว่านี่เป็นการเล่นการเมืองที่ฉลาดของพรรครีพับลิกัน เพราะปัญหาเงินเฟ้อเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของไบเดนและพรรคเดโมแครต และร่างกฎหมายนี้จะเป็นการฉายภาพให้ชาวอเมริกันได้เห็นถึงความล้มเหลวของพวกเขาในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ของเดโมแครตถึง 59 คน จำใจลงคะแนนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่อยากถูกมองว่าเพิกเฉยกับปัญหาเงินเฟ้อนั่นเอง 

 

นอกจากนี้ ร่างกฎหมาย REIN IN ก็อาจเป็นสิ่งที่บอกเราเป็นนัยๆ ถึงกลยุทธ์ในการหาเสียงของพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งปี 2024 ว่าพวกเขาคงเน้นไปที่นโยบายทางเศรษฐกิจเป็นหลัก หลังจากทำผลงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรจากการเลือกตั้งกลางเทอมที่ต่อสู้กันด้วยนโยบายทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องการทำแท้งเสรีและสิทธิของบุคคลข้ามเพศ

 

ภาพ: Demetrius Freeman / The Washington Post via Getty Images

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising