กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในวงการกองถ่ายทำ หลังจากเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการคลายล็อกระยะที่ 2 ของกิจกรรมกลุ่มสีเขียว (กิจกรรมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ) ทั้ง 3 กลุ่มที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
โดยกิจกรรมกองถ่ายทำรายการโทรทัศน์และโฆษณาถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 มีมาตรการให้ออกกองได้ไม่เกิน 5 คนเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับกองถ่ายทำเบื้องหลังเริ่มเป็นกังวลว่ามาตรการคลายล็อกนี้จะถูกนำมาใช้จริงหรือไม่ เนื่องจากการถ่ายทำรายการ ละคร หรือภาพยนตร์ ล้วนจำเป็นต้องมีทีมงานเบื้องหลังมากกว่า 30 คนขึ้นไปทั้งสิ้น
ล่าสุด อ๊อด-บัณฑิต ทองดี และนุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ สองผู้กำกับที่เป็นตัวแทนสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เข้าร่วมประชุมและเสนอมาตรการคลายล็อกในกิจกรรมกลุ่มที่ 3 ร่วมกับกลุ่มธุรกิจกองถ่ายที่เกี่ยวข้องและทางกรมควบคุมโรคเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้ออกมาไลฟ์พูดคุยกับ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ในประเด็นที่เกิดขึ้นผ่านทางเพจสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเมื่อคืนวันที่ 12 พฤษภาคม
THE STANDARD POP ได้สรุปประเด็นที่ผู้กำกับทั้ง 3 คนร่วมพูดคุยกันออกเป็นหัวข้อดังนี้
- มาตรการออกกองไม่เกิน 5 คนไม่เป็นความจริง
หลังประกาศของ ศบค. อ๊อดได้ติดต่อกับทางกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยได้ข้อสรุปว่าการออกกองไม่เกิน 5 คนเป็นความเข้าใจผิดจากทาง ศบค. โดยได้รับการยืนยันจากกรมควบคุมโรคว่าเอกสารมาตรการคลายล็อกที่จะต้องส่งให้กับ ศบค. รับพิจารณาเพิ่งถูกส่งถึงเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 12 พฤษภาคม
โดยในเวลาต่อมา อ๊อดได้เข้าร่วมประชุมกับทางผู้ใหญ่ของ ศบค. เพื่อรับฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับให้ทำเอกสารมาตรการคลายล็อกขึ้นใหม่ให้สามารถเห็นภาพและเข้าใจง่ายขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถพิจารณาได้อย่างไม่ผิดพลาด
- จำกัดให้มีทีมงานอยู่หน้าเซตได้ไม่เกิน 15 คน และใช้เวลาถ่ายทำฉากละ 1 ชั่วโมง
นุชี่ได้เล่าถึงรายละเอียดภายในการประชุมมาตรการคลายล็อกระยะ 2 ของกิจกรรมกลุ่มสีเขียวที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยกรมควบคุมโรคได้กล่าวถึงความกังวลที่อาจทำให้สถานการณ์โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดภายในกองถ่ายทำอยู่สองประเด็นด้วยกัน
ประการแรกคือเรื่องของจำนวนทีมงานที่สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยและกลุ่มธุรกิจกองถ่ายที่เกี่ยวข้องได้เสนอร่างข้อกำหนดต่อกรมควบคุมโรค อนุญาตให้มีทีมงานในกองถ่ายได้ไม่เกิน 30-50 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ลดลงมาจากการออกกองปกติอย่างมาก
แต่หากดูตามเกณฑ์การวัดระดับความเสี่ยงของกรมควบคุมโรคยังถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการแพร่เชื้อภายในกองถ่ายอยู่ เมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ อย่างห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ฯลฯ ที่มีมาตรการควบคุมจำนวนคนที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย รวมถึงความไม่เข้าใจในระบบกองถ่ายของกลุ่มคนภายนอก อาจทำให้ถูกเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ และเกิดความเข้าใจผิดได้
กลุ่มธุรกิจกองถ่ายและกรมควบคุมโรคจึงได้ร่วมกันวางแผนและเสนอให้จำกัดจำนวนทีมงานที่ต้องอยู่หน้าเซต (ฉากที่ต้องถ่ายทำ) ไม่เกิน 15 คนเท่านั้น โดยมีการแบ่งพื้นที่ให้กับทีมงานกลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทีมงานในแต่ละส่วนทำหน้าที่ของตัวเองในฉากนั้นๆ เสร็จแล้ว ให้แยกย้ายไปประจำในจุดของตัวเอง และเหลือเพียงทีมงานที่ต้องดูแลอยู่หน้าเซตเท่านั้น
ประการที่สองคือเรื่องของเวลาในการถ่ายทำ ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาทำงานของทีมงานจะนับเป็นคิวถ่าย โดยหนึ่งคิวเท่ากับ 6-12 ชั่วโมง ซึ่งบางกองถ่ายอาจต้องใช้เวลาในการถ่ายทำ 2-3 คิวต่อวัน ซึ่งหากวัดตามเกณฑ์ระดับความเสี่ยงของกรมควบคุมโรคถือว่าอยู่ในความเสี่ยงสูงเช่นกัน
กลุ่มธุรกิจกองถ่ายจึงเสนอมาตรการป้องกันโดยจำกัดเวลาถ่ายทำไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อหนึ่งฉาก และให้มีเวลาพักเบรก เพื่อไม่ให้ทีมงานอยู่รวมเป็นกลุ่มนานเกินไป และยังคงต้องรักษาเวลาในการถ่ายทำเพื่อไม่ให้เกินเวลาเคอร์ฟิวที่ถูกกำหนดไว้ก่อนหน้านี้
โดยทุกคนได้ลงความเห็นว่ามาตรการทั้งสองข้อนี้ยังสามารถนำไปชี้แจงต่อผู้คนที่อยู่ในบริเวณโดยรอบกองถ่ายทำและอธิบายให้ทุกคนเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น
- หลังจากการปลดล็อกระยะที่ 2 กองถ่ายทำต้องลงทะเบียนออกกองก่อนการถ่ายทำ 3 วัน
อีกหนึ่งมาตรการป้องกันหลังจากเริ่มมาตรการปลดล็อกระยะที่ 2 ทุกกองถ่ายจำเป็นต้องลงทะเบียนก่อนการถ่ายทำ 3 วัน เพื่อแจ้งว่าจะมีการถ่ายทำในวันที่เท่าไร ที่เขตใด จังหวัดใด พร้อมรวบรวมรายชื่อของทีมงานทั้งหมด
เพื่อที่หากมีการตรวจพบว่าทีมงานหรือผู้คนในบริเวณโดยรอบเกิดติดเชื้อ กรมควบคุมโรคจะสามารถติดตามสถานที่ที่มีการถ่ายทำและรายชื่อของทีมงานที่มีความเสี่ยงได้ รวมถึงสามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบได้ว่ากองถ่ายปฏิบัติตามมาตรการคลายล็อกหรือไม่
โดยการลงทะเบียนก่อนถ่ายทำนี้ไม่ได้เป็นข้อบังคับแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้มีข้อกฎหมายบังคับให้กองถ่ายทำต้องขออนุญาตต่อพื้นที่เขตจังหวัดนั้นๆ ก่อน แต่เพื่อป้องกันการร้องเรียนจากผู้คนที่อยู่บริเวณโดยรอบและสะดวกต่อการติดตาม จึงขอความร่วมมือให้ลงทะเบียนเอาไว้ก่อนจะดีที่สุด ซึ่งจะแจ้งช่องทางการลงทะเบียนให้ทราบในภายหลัง
- ขอให้ทุกกองถ่ายทำอดทนรอจนกว่าจะมีประกาศมาตรการปลดล็อกระยะที่ 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้
เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการร้องเรียนว่ามีกองถ่ายบางกองเริ่มฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินมากขึ้น อ๊อดจึงแนะนำให้เพื่อนร่วมอาชีพทุกคนอย่าเพิ่งออกกองในช่วงเวลานี้ และรอการประกาศมาตรการคลายล็อกจากทาง ศบค. ที่จะชัดเจนมากขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคมอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อทีมงานและผู้คนโดยรอบไม่ให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น รวมไปถึงหากฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินจะถือเป็นความผิดและต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง https://www.facebook.com/thaifilmdirectorpage/videos/542405516669595/
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: