×

Re-positioning Thailand เปิดข้อเสนอฝ่ายค้าน รับมือสงครามเศรษฐกิจรอบด้าน

30.04.2025
  • LOADING...
Re-positioning Thailand

วันนี้ (30 เมษายน) ในงานฟอรัม ‘Re-positioning Thailand: วางตำแหน่งใหม่เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้า’ ที่จัดขึ้นตามโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน หัวข้อ ‘แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2568 : รับมือกำแพงภาษีและสงครามการค้า’ เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์ของผู้นำฝ่ายค้าน และแลกเปลี่ยนความเห็นกับทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาชน ผ่าน 3 ประเด็น

 

 

วางตำแหน่งใหม่เศรษฐกิจไทย

 

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Re-positioning Thailand: วางตำแหน่งใหม่เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้า ถึงความจำเป็นในการวางตำแหน่งใหม่ให้เศรษฐกิจไทยท่ามกลางสงครามการค้า โดยเน้นย้ำว่าทุกภาคส่วนควรส่งข้อเสนอที่ดีที่สุดให้ ‘ทีมไทยแลนด์’ ในการเจรจาต่อรองกับต่างประเทศ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุดและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

 

ณัฐพงษ์วิเคราะห์สถานการณ์โลก โดยชี้ให้เห็นว่าหลายประเทศในเอเชียได้เริ่มเจรจาเพื่อลดผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯ แล้ว ขณะที่ไทยยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร พร้อมทั้งเสนอฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่กรณีที่ดีที่สุดที่การเจรจาทั้งหมดประสบความสำเร็จ ไปจนถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากไทยไม่เตรียมตัวและถูกตั้งกำแพงภาษีสูง ทำให้สินค้าล้นตลาดและเศรษฐกิจไทยชะลอตัว

 

เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนนี้ ณัฐพงษ์เสนอให้มองไทยเป็นประเทศขนาดกลางที่มีศักยภาพในการกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ โดยใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในกรอบอาเซียน และปรับมุมมองจากการเป็นผู้ตามกระแสโลกไปสู่การเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทในการกำหนดระเบียบโลกใหม่

 

 

พร้อมกันนี้ ณัฐพงษ์ได้เสนอ 5 เสาหลักยุทธศาสตร์ ที่สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ทันที ได้แก่

 

  1. เจรจา กับสหรัฐฯ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าอื่น
  2. กระชับ ความสัมพันธ์กับนานาประเทศบนหลักการค้าที่เป็นธรรมและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
  3. รับมือ สินค้าล้นตลาดด้วยมาตรการป้องกันการนำเข้าผิดกฎหมายและการกำกับดูแลที่เป็นธรรม
  4. เยียวยา ผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวเข้ากับห่วงโซ่อุปทานใหม่
  5. ลงทุน โดยคำนึงถึงภูมิรัฐศาสตร์ ห่วงโซ่อุปทานโลก และสังคมวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบโลกใหม่

 

ระหว่างเจรจาการค้า ควรเตรียมพร้อมเศรษฐกิจภายในอย่างไร

 

ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเศรษฐกิจภายในว่า กำแพงภาษีนี้เป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบภายในประเทศแน่นอน และเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการใช้วิกฤตครั้งนี้ปรับปรุงประเทศ ขอเสนอแนวทาง 3 R ซึ่งเป็นแนวทางที่สหรัฐฯ ใช้รับมือตอนภาวะตลาดหุ้นดิ่งลงเหว

 

 

R ตัวแรกคือ Relief คือ การเยียวยาผลกระทบเฉพาะหน้า ต้องเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

 

R ตัวที่สอง ได้แก่ Recovery เป็นการกระตุ้นการบริโภค โดยทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อเตรียมอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือการที่รัฐบาลจะกระตุ้นการบริโภคในไตรมาส 2 ด้วยดิจิทัลวอลเล็ต เราคิดว่าในเวลานี้ ที่ยังไม่รู้ว่าผลกระทบจะหนักขนาดไหน

 

R ตัวที่สาม ได้แก่ Reform การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ที่เราไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้ภายใต้ระเบียบการค้าโลกใหม่ได้ เนื่องจากเราโตต่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้าเราทำแค่เฉพาะหน้าหรือระยะสั้น เราก็จะสูญเสียโอกาสในวิกฤตครั้งนี้ไปเปล่าๆ จึงควรปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ เป็นโอกาสที่เราจะใช้เม็ดเงินครั้งใหญ่ทุ่มทำโครงการที่เรายับยั้งไว้ และอยากให้มุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานระดับย่อย พร้อมปรับปรุงคุณภาพชีวิตประชาชนไปในคราวเดียวกัน

 

“สิ่งสำคัญคือการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา สม่ำเสมอ เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและลดความสับสน เพราะตอนนี้แนวทางการสื่อสารของรัฐมนตรีแต่ละคนไม่ตรงกัน ไม่รู้จะเชื่อใคร ทั้งหมดต้องใช้กลไกภาครัฐในการขับเคลื่อนร่วมกัน รวมถึงทำให้นโยบายการเงินการคลังสอดคล้องกัน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลไกของการให้แรงจูงใจ และปรับปรุงกฎระเบียบภาครัฐที่เป็นอุปสรรคทางด้านการค้า การธุรกิจ เพื่อให้ทำได้อย่างคล่องตัว นอกจากนั้นก็ต้องไม่ลืมเรื่องประเด็นการเมือง สิทธิมนุษยชน และการต่างประเทศ ที่วันนี้กลับมากระแทกเศรษฐกิจได้อย่างที่เราไม่คาดคิดด้วย” ศิริกัญญาเสนอแนะ

 

 

ไทยจะมีส่วนร่วมจัดระเบียบโลกใหม่ได้แค่ไหน

 

ขณะที่ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน และที่ปรึกษาคณะกรรมการกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร มองว่า ข้อดีของสงครามการค้าครั้งนี้คือการย้ำเตือนเราอีกครั้งว่าการส่งออกและนำเข้ามีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องยอมรับว่าสินค้าสวมสิทธิ์ก็มีผลอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนความเชื่อมโยงซับซ้อนเรื่องการค้าไปพร้อมๆ กัน

 

ยกตัวอย่าง กราฟบริโภคและการผลิตของประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เส้นทั้งสองมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในปี 2565 กลับเกิดจุดเปลี่ยนที่ทำให้สองเส้นนั้นแยกทางกัน มีช่องว่างห่างออกจากกันเรื่อยๆ ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ หากยิ่งกระตุ้นการบริโภค อาจทำให้ภาคการผลิตของเราถดถอยกว่าเดิม เนื่องจากมีสินค้าเข้ามาทดแทน และสงครามการค้าในครั้งนี้ก็ยิ่งมีแต่จะซ้ำเติมให้ช่องว่างนั้นห่างกันกว่าเดิม

 

 

ดังนั้นจึงควรทำงานเป็นทีม มีภารกิจและหน้าที่ร่วม แต่แบ่งหน้าที่กันอย่างเป็นระบบ

 

  1. กองหลัง ต้องทำหน้าที่อุดรูรั่วหลังบ้าน ป้องกันเงินไหลออกจากประเทศ โดยเฉพาะเรื่องสินค้านำเข้า ซึ่งควรใช้กฎหมายเข้ามาบังคับ ทำให้การแข่งขันยุติธรรม เพื่อต่อกรกับปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงกับสินค้าภายใน

 

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน เรายืนยันว่าเราแค่ต้องการความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและเป็นธรรม ไม่ใช่ลูกไล่ ต้องมีการปรับอำนาจต่อรองกัน

 

  1. กองกลาง รักษาสมดุล ในส่วนสมดุลงบประมาณ ซึ่งในแต่ละปีมีงบที่เหลือมาไว้จัดสรรให้ด้านอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อย ซึ่งปัจจัยหลักในเรื่องนี้ก็คือหนี้ครัวเรือน และการปล่อยสินเชื่อ สะท้อนว่าการใช้เงินไม่มีความสมดุลกัน

 

ส่วนการรักษาสมดุลรุกและรับ จะต้องมีการดำเนินยุทธศาสตร์แบบคู่ขนาน เพื่อพัฒนาทักษะเดิมในประเทศ ระหว่างที่ดึงดูดการเงินทุนจากต่างประเทศ มีบริษัทท้องถิ่นเพื่อเสริมอยู่ด้วยในทั้งระบบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เราจึงควรมองให้ไกลกว่าตัวเลขของการลงทุน เพราะนี่ไม่ใช่ความสำเร็จ หากเราฝันว่าเราอยากจะเป็นจุดศูนย์กลางการลงทุน

 

  1. กองหน้า ประสานงานกันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในหลายบริษัทมีการดำเนินการแยกกัน ไม่เชื่อมโยงกัน คิดเพียงแต่กรอบของอุตสาหกรรมตัวเอง ทำให้ไม่เกิดการส่งเสริมระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีนโยบายใดที่จะเชื่อมโยงในส่วนนี้

 

วีระยุทธยังกล่าวถึงข้อเสนอนโยบายอุตสาหกรรม ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์ก่อน เนื่องจากปัญหาของนโยบาย เมื่อเราพูดถึงเป้าหมายอุตสาหกรรมไทย ใครที่ไม่ถูกรวมก็มักจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งรัฐบาลต้องทำให้เขาเหล่านั้นเชื่อได้ว่า การที่เขาไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ไม่ได้แปลว่าเขาจะถูกทิ้ง แต่เขาจะยังได้รับการส่งเสริมหาตลาดใหม่ จากการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบด้วยเช่นเดียวกัน ต้องออกแบบให้อุตสาหกรรมอื่นเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ได้

 

 

นอกจากนั้นยังมีข้อเสนออีก 4 ข้อ คือ

 

  1. ขอให้ทีมไทยแลนด์ในภาคอุตสาหกรรมเริ่มต้นการจัดระเบียบกองหลังให้เป็นระเบียบกว่านี้
  2. จัดสรรงบประมาณที่สมดุล
  3. ส่งเสริมบริษัทท้องถิ่นให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัทต่างชาติในทุกภาคส่วนของระบบเสมอ
  4. เพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ

 

นอกจากอุตสาหกรรมแล้ว ภาคเกษตรไทยจะสะเทือนหรือไม่

 

ด้าน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต และทีมเศรษฐกิจพรรคประชาชน กล่าวว่า ภาคการเกษตรเป็นภาคที่เจอคำว่าวิกฤตบ่อยครั้ง และยังคงมีวิกฤตต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงสร้างประชากรที่มีแนวโน้มผู้สูงอายุมากขึ้น การระบาดของโรคในสัตว์ ตลอดจนภาระหนี้สินเรื้อรัง ซึ่งจะจำกัดทั้งความเป็นไปได้และโอกาสในการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างของเกษตร

 

สิ่งสำคัญในสงครามการค้าครั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ เพ่งเล็งการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ เข้าไทยน้อยลง และอัตราภาษีที่เราเรียกเก็บสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างสูง เชื่อว่าเรื่องนี้จะต้องอยู่บนโต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ แน่นอน

 

 

ส่วนผลกระทบ ดร.เดชรัต แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ

 

  1. ไทยอาจส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลง โดยเฉพาะยาง กุ้ง อาหารทะเลแปรรูป และข้าว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 7-8 พันล้านบาท
  2. เราอาจจำเป็นต้องเปิดตลาดให้สหรัฐฯ มากขึ้น เช่น เนื้อหมู ข้าวโพด ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศประมาณ 2 ล้านรายเช่นเดียวกัน
  3. อาจเกิดความผันผวนในตลาดโลก หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือมีการลักลอบนำเข้าไทย โดยเฉพาะกระเทียม หอมใหญ่ และพืชผักแปรรูป
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising