ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัว 2.8% ภายใต้สมมติฐานการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจบลงในช่วง 3 เดือน ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวของไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยจะออกมาตรการด้านภาษี 4 มาตรการ ได้แก่
1. การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 จากเดิมที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปี 2563 โดยจะขยายเป็นภายในเดือนมิถุนายนของปี 2563
2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสัมมนาให้ลูกจ้าง เช่น ค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง ค่าทัวร์ ฯลฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2563 สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงแรม หากลงทุน (รีโนเวต) ต่อเติม เปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการโรงแรมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2563 สามาถนำมาหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง
4. มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ) โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินฯ (เที่ยวบินในประเทศ) จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ทั้งนี้ต้องรอกฎกระทรวงที่จะประกาศบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563
ทั้งนี้มาตรการทางภาษีที่สนับสนุนการอมรมสัมมนา คาดว่าจะมีผู้ประกอบการใช้สิทธิ์ 1,000 ราย โดยปกติมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 435 ล้านบาท ดังนั้นคาดว่าการเพิ่มอัตราการหักรายจ่าย 2 เท่าจะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ 87 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่มาตรการภาษีเพื่อปรับปรุงกิจการโรงแรม คาดว่าจะมีผู้ประกอบการใช้สิทธิ์ 1,000 ราย โดยรวมคาดว่าจะมีการลงทุนปรับปรุงรวม 24,000 ล้านบาท ดังนั้นคาดว่ากรมสรรพากรจะสูญเสียรายได้ 120 ล้านบาทต่อปี (จากการหักลดค่าเสื่อม 20 ปี รวม 2,400 ล้านบาท)
นอกจากนี้ยังมีมาตรการด้านการเงิน โดยสถาบันการเงินของรัฐมีมาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม รวมถึงมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องและปรับปรุงสถานประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย คิดเป็นวงเงินรวม 123,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังมองว่ามีปัจจัยบวกคือมาตรการรัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินมาตรการแบบผ่อนคลายต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์