×

รายงานเผย พลังงานหมุนเวียนชิงส่วนแบ่งตลาดพลังงานโลกเพิ่มขึ้นในปี 2022 แต่ยังตามหลังเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกไกล

โดย THE STANDARD TEAM
28.06.2023
  • LOADING...
พลังงานหมุนเวียน

รายงาน Statistical Review of World Energy ประจำปีฉบับล่าสุด เผยให้เห็นว่า ความต้องการพลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1% ในปีที่แล้ว ขณะที่พลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ยังไม่มากพอที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งเทียบเคียงเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งยังคงครองสัดส่วนถึง 82% ของอุปทานพลังงานโลก

 

จูเลียต ดาเวนพอร์ต ประธานสถาบันพลังงาน (Energy Institute) ซึ่งเป็นองค์กรอุตสาหกรรมระดับโลกที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “แม้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จะเติบโตแข็งแกร่ง แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานทั่วโลกกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 

 

“เรายังคงมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับความตกลงปารีส” 

 

ทั้งนี้ ปีที่แล้วถือเป็นปีแห่งความวุ่นวายในตลาดพลังงาน หลังจากรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาก๊าซและถ่านหินพุ่งทะยานทำสถิติในยุโรปและเอเชีย

 

โดยผลิตภัณฑ์น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินยังคงครอบคลุมความต้องการพลังงานส่วนใหญ่ในปี 2022 แม้ว่ากำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะขยายตัวมากที่สุดมาอยู่ที่ 266 กิกะวัตต์ โดยพลังงานแสงอาทิตย์เติบโตมากที่สุด ตามมาด้วยพลังงานลม รายงานระบุ

 

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 43% ภายในปี 2030 จากระดับของปี 2019 เพื่อบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส ซึ่งจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

 

ปีนี้นับเป็นปีแรกที่สถาบันพลังงาน ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา KPMG และ Kearny เป็นผู้จัดพิมพ์เผยแพร่รายงาน Statistical Review of World Energy หลังรับช่วงต่อมาจากบริษัท BP ซึ่งเริ่มจัดทำรายงานมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 โดย BP ตีพิมพ์รายงานฉบับแรกเมื่อเดือนเมษายน 1952 เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินทั่วโลก 

 

สำหรับภาพรวมการใช้พลังงานทั่วโลกนั้น รายงานระบุว่า ความต้องการพลังงานต้นกำเนิด (Primary Energy หมายถึงแหล่งพลังงานที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ หรือเชื้อเพลิงธรรมชาติ อย่าง ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นต้น) เพิ่มขึ้นประมาณ 1% ทั่วโลก ชะลอตัวลงจากที่เพิ่มขึ้น 5.5% ในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ความต้องการพลังงานยังคงสูงกว่าระดับก่อนโควิดในปี 2019 อยู่ประมาณ 3% 

 

ทุกภูมิภาคนั้นมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ยกเว้นยุโรป รวมถึงยุโรปตะวันออก โดยพลังงานหมุนเวียน ไม่รวมไฟฟ้าพลังน้ำ คิดเป็น 7.5% ของการใช้พลังงานทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 1% ส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงครองสัดส่วนการใช้พลังงานทั่วโลกอยู่ที่ 82%

 

ด้านการผลิตไฟฟ้ามีขนาดเพิ่มขึ้น 2.3% ชะลอลงจากปีก่อนหน้า โดยพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีส่วนแบ่งในภาคการผลิตไฟฟ้าเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 12% และเป็นอีกครั้งที่แซงหน้าพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งลดลง 4.4% และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสุทธิที่เพิ่มขึ้นถึง 84% ขณะที่ถ่านหินยังคงครองสัดส่วนมากที่สุดในภาคการผลิตไฟฟ้า ที่ประมาณ 35.4%

 

ส่วนภาพรวมการใช้น้ำมันนั้น เพิ่มขึ้น 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) เป็น 97.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับระดับก่อนโควิดในปี 2019 ปริมาณการใช้น้ำมันลดลง 0.7%

 

ขณะที่อุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากความต้องการน้ำมันอากาศยาน และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับดีเซลที่ฟื้นตัวขึ้น

 

ส่วนการผลิตน้ำมันมีการขยายตัว 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่วนแบ่งขนาดใหญ่สุดมาจากสมาชิก OPEC และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ไนจีเรียลดลงมากที่สุด ส่วนกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 534,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศนอกกลุ่ม OECD

 

ขณะที่ก๊าซธรรมชาตินั้น ด้วยราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ในยุโรปและเอเชีย ส่งผลให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติทั่วโลกลดลง 3% แต่ยังคงคิดเป็น 24% ของการใช้พลังงานต้นกำเนิด ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย

 

ส่วนภาพรวมการผลิตก๊าซนั้นทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีขนาดเพิ่มขึ้น 5% ที่ 5.42 แสนล้านลูกบาศก์เมตร (bcm) ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยการเติบโตส่วนใหญ่มาจากอเมริกาเหนือและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

ทั้งนี้ ความต้องการ LNG ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากยุโรป โดยยุโรปนำเข้าเพิ่มขึ้น 57% ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ซื้อ LNG ลดลง โดยญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้า LNG รายใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่จีน

 

สำหรับถ่านหินนั้น ราคาถ่านหินแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พุ่งขึ้น 145% ในยุโรป และ 45% ในญี่ปุ่น

 

โดยภาพรวมการใช้ถ่านหินมีขนาดเพิ่มขึ้น 0.6% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014 โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ของจีนและอินเดีย ขณะที่ความต้องการในอเมริกาเหนือและยุโรปลดลง ส่วนผลผลิตถ่านหินมีจำนวนสูงกว่าปีที่แล้ว 7% โดยส่วนใหญ่มาจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย

 

ด้านพลังงานหมุนเวียน การเติบโตของพลังงานหมุนเวียน ไม่รวมไฟฟ้าพลังน้ำ ชะลอตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 14% แต่กำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมยังคงเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 266 กิกะวัตต์ โดยพลังงานแสงอาทิตย์ครองส่วนแบ่งสูงสุด ขณะที่จีนผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพิ่มมากที่สุด

 

แร่

  • ราคาลิเทียมคาร์บอเนตพุ่งขึ้น 335% ราคาโคบอลต์เพิ่มขึ้น 24%
  • การผลิตลิเทียมและโคบอลต์เพิ่มขึ้น 21%

 

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ส่วนภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน ซึ่งรวมถึงกระบวนการอุตสาหกรรมและการเผาทิ้งนั้น มีขนาดเพิ่มขึ้น 0.8% แตะระดับสูงสุดระดับใหม่ที่ 39.3 พันล้านตันเทียบเท่า CO2

 

ภาพ: Ryan Pyle / Corbis via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X