หนึ่งในเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่เคยให้ผลตอบแทนในระดับสูงมากในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นปีทองของตลาดคริปโตก็ว่าได้ นั่นคือ เหรียญ LUNA ที่อยู่บนเครือข่ายบล็อกเชน Terra โดยสามารถให้ผลตอบแทนได้สูงถึงระดับ 16,674% ในเวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น ทั้งยังมีเหรียญ UST ซึ่งเป็น Stablecoin ที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับเหรียญ LUNA ที่ให้ผลตอบแทนจากการฝากสูงถึง 20% ต่อปี จนสามารถเรียกได้ว่า ‘Too good to be true’ หรือ ‘ดีเกินจริง’ ได้เลยทีเดียว
แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็มาถึง นั่นคือการพังทลายของเครือข่าย Terra ซึ่งส่งผลให้เหรียญ LUNA ตกลงจนแทบไม่เหลือมูลค่า ส่งผลกระทบต่อทั้งนักลงทุนในไทยและต่างประเทศอย่างมาก
โดยความน่าดึงดูดของเครือข่าย Terra ในช่วงเวลานั้น คือการเสนอตอบแทนในระดับ 20% ต่อปี จากการฝากเงินกับแพลตฟอร์ม Anchor บนเครือข่าย Terra โดยนำเหรียญ UST มาวางบนแพลตฟอร์มและรับดอกเบี้ยเป็น UST
ซึ่งเหรียญ UST เป็น Algorithmic Stablecoin ที่มีการตรึงมูลค่าเทียบเท่ากับ 1 ดอลลาร์ ผ่านกลไกของเหรียญ LUNA ทำให้ภาพการลงทุนในเหรียญ ‘UST’ ในขณะนั้นดูเหมือนจะไร้ความเสี่ยง จึงทำให้มีนักลงทุนบางส่วนนำเงินเก็บทั้งชีวิตมาลงทุน หรือบางรายก็ได้กู้เงินมาลงทุน เพราะผลตอบแทนจากการฝากเงินก็สามารถเอาชนะดอกเบี้ยเงินกู้ได้อยู่แล้ว ในขณะที่นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อมั่นในเครือข่าย Terra จึงได้เข้าไปลงทุนกับเหรียญ LUNA เช่นเดียวกัน
แต่เมื่อเหรียญ UST โดนโจมตี ทำให้เหรียญ LUNA ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จนเกิดภาวะการพิมพ์เหรียญ LUNA มาเพื่อรักษามูลค่า UST อย่างไม่จำกัด ทำให้เหรียญ LUNA มีปริมาณในระบบมหาศาลจนตัวเหรียญแทบจะไร้มูลค่า ซึ่งเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่การพังทลายของเครือข่าย Terra ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เพียงทำให้นักลงทุนรายย่อยได้รับผลกระทบอย่างหนัก หากแต่กองทุนเฮดจ์ฟันด์บางแห่งก็ต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลายไปด้วย
หากย้อนกลับมามองที่นักลงทุนไทย ทางสำนักงานกำกับตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงานข้อมูลว่า นักลงทุนไทยขาดทุนจากเหรียญ LUNA ถึง 96.26% ของผู้ลงทุนเลยทีเดียว และมีขนาดพอร์ตอยู่ในช่วง 5,000-1,000,000 บาท
โดยข้อมูลจาก ก.ล.ต. ได้แบ่ง ลำดับของช่วงเวลาที่ศึกษาออกเป็น 3 ระยะ นั่นคือ
- Pre-Stage ซึ่งเป็นช่วงก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม นับเป็นช่วงเวลาก่อนที่เหรียญ UST จะหลุดจากการตรึงมูลค่า
- Fall-Stage ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหรียญ UST หลุดการตรึงมูลค่าจาก 1 ดอลลาร์
- Bottom Out-Stage ช่วงเวลาหลังวันที่ 13 พฤษภาคม นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหรียญ LUNA ลงไปถึงจุดต่ำสุดในขณะนั้น และศูนย์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยระงับการซื้อขายชั่วคราวเป็นเวลา 1 วัน
โดยข้อมูลของ ก.ล.ต. เผยว่า มีจำนวนบัญชีที่เข้ามีซื้อขายเหรียญดังกล่าวในปี 2565 ที่ 315,077 บัญชี ซึ่งแบ่งเป็น
- 36,396 บัญชี (11.55%) อยู่ในระยะ Pre-Stage
- 57,300 บัญชี (18.19%) อยู่ในระยะ Fall-Stage
- 221,381 บัญชี (70.26%) อยู่ในระยะ Bottom Out-Stage
จากภาพรวมทั้งหมดของผู้ซื้อขายเหรียญ LUNA มีผลตอบแทนขาดทุนรวมคิดเป็น 96% และจำนวนบัญชีส่วนใหญ่เข้ามาซื้อขายในช่วง Bottom Out-Stage เพื่อเก็งกำไร
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานสุทธิของนักลงทุนที่เข้าไปเก็งกำไรในเหรียญ LUNA พบว่ามีการขาดทุนสุทธิรวมถึง 980 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนภายในประเทศเป็นหลักและมีการเข้าไปเก็งกำไรในช่วง Bottom Out-Stage มากที่สุด
ซึ่งทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นำไปสู่ผลสรุปที่ว่า ผู้ซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีเป้าหมายเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น รวมถึงการลงทุนตามกระแสและให้ความสนใจกับตัวเลขผลตอบแทนที่สูงเป็นหลัก โดยพร้อมที่จะยอมรับผลขาดทุนเพื่อแลกกับโอกาสที่จะได้กำไรสูงมากในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งบางครั้งอาจขาดการกระจายการลงทุนและประเมินถึงความเสี่ยงที่จะได้รับ
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของบทศึกษานี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นผลกำไรขาดทุนของผู้ซื้อขายในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ตระหนักถึงการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเข้ามาซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยโอกาสในการทำกำไรที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่ได้มีมากดังที่คาดหวังไว้
นอกจากนี้ ด้วยลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนของราคาที่สูง ดังนั้นเงินที่นำมาลงทุนไม่ควรมาจากการกู้ยืมหรือเป็นเงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และหากสูญเสียเงินส่วนนี้ไปแล้วจะต้องไม่เป็นภาระต่อตัวเองและครอบครัว
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP