×

‘นวมทอง ไพรวัลย์’ แท็กซี่ชนรถถัง ต้านรัฐประหาร ประวัติศาสตร์สามัญชนที่ยังไม่ถูกลืม

31.10.2022
  • LOADING...

31 ตุลาคมปีนี้ เป็นวันครบรอบ 16 ปีการจากไปของ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ คนขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 เพื่อประท้วงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต่อมาเขาผูกคอกับสะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เสียชีวิตในวันที่ 31 ตุลาคม 2549 พร้อมกับมีจดหมายลายมือ 2 ฉบับเป็นข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน 

 

วันเวลาผ่านไปนับสิบกว่าปี เรื่องราวของ นวมทอง ไพรวัลย์ ไม่ได้ถูกพูดถึงแต่เพียงในงานรำลึกครบรอบวันจากไปที่สะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ‘สดมภ์อนุสรณ์ นวมทอง ไพรวัลย์’ ที่จัดขึ้นทุกปีโดยนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น 

 

ล่าสุดยังมีความพยายามตามหาวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ นวมทอง ไพรวัลย์ โดย ‘โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา – October 6 Museum Project’ ซึ่งไม่ได้รวบรวมเพียงเรื่อง 6 ตุลา 19 แต่ขยายถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ด้วย 

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในฐานะผู้ก่อตั้งโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา – October 6 Museum Project และ สุภาภรณ์ อัษฎมงคล อดีตผู้สื่อข่าวในช่วงปี 2533-2555 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้จัดนิทรรศการ ‘6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ | 6 October: Facing Demons’ ณ Kinjai Contemporary นิทรรศการซึ่งจัดโดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา – October 6 Museum Project ร่วมกับมูลนิธิคณะก้าวหน้า – Progressive Movement และ Common School

 

เก็บของสำคัญ แม้ยังไม่ทราบว่าในอนาคตจะนำไปทำอะไร

ธนาพลกล่าวว่า การเก็บวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง เกิดจากความสนใจการเมืองไทย ถ้ามีโอกาสเก็บก็จะเก็บไว้ แม้ยังไม่ทราบว่าในอนาคตจะนำไปทำอะไร แต่ทราบว่าเป็นของที่มีความสำคัญ สามารถใช้ในการอธิบายเรื่องราวได้ ประกอบกับเป็นคนทำหนังสือก็ต้องเก็บข้อมูลต่างๆ อยู่แล้ว หรือหากวัตถุสิ่งของเกี่ยวกับเหตุการณ์ใดที่ไม่ได้เก็บเองก็จะเก็บข้อมูลว่าสิ่งเหล่านั้นอยู่ที่ใคร เผื่อสามารถยืมมาจัดแสดงในนิทรรศการ เช่น เหรียญที่ระลึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรือหนังสือของฝ่ายต่างๆ รวมถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วย

 

นอกจากรวบรวมสิ่งของเกี่ยวกับ 6 ตุลา 19 แล้ว ก็ได้พยายามรวบรวมสิ่งของในเหตุการณ์การเมืองสมัยใหม่นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน เนื่องจากยุครัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่เริ่มสร้างรัฐสมัยใหม่ สร้างระบบราชการ 

 

โดยได้ประสานงานกับ สุภาภรณ์ อัษฎมงคล ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถในการหาข้อมูล มีคอนเน็กชันโดยเฉพาะกับสื่อมวลชนรุ่นเก่าๆ และข้อมูลหลายอย่างก็ได้มาจากสุภาภรณ์

 

ส่วนการรวบรวมสิ่งของต่างๆ รวมถึงแท็กซี่ของ นวมทอง ไพรวัลย์ เนื่องจากกรณี นวมทอง ไพรวัลย์ เป็นไอคอนทั้งเหตุการณ์และตัวบุคคล แม้ในที่สุดจะทราบว่าแท็กซี่คันดังกล่าวถูกแยกชิ้นส่วนแล้ว

 

วัตถุพยานทางประวัติศาสตร์ 

สุภาภรณ์กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์ในการนิยามการเขียนประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง ก็มักจะนิยามว่า ต้องมีหลักฐานเอกสารชั้นต้น ต้องมีวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์ ดังนั้น การเก็บสิ่งของเหล่านี้ ก็เพื่อยืนยันว่ามีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ของเหล่านี้ผ่านกาลเวลาและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งนั้นๆ เป็นสิ่งที่บอกเล่าเหตุการณ์

 

แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่มีสิ่งของแล้วจะทำอะไรเรื่องประวัติศาสตร์ไม่ได้เลย เพราะถ้าไม่มีสิ่งของก็ใช้ ‘เรื่องเล่า’ ของคนที่ผ่านเหตุการณ์ แต่ถ้ามีของจริงก็นำมาทำอะไรต่อได้เพื่อที่จะส่งต่อเรื่องราวการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 

 

ภารกิจตามหาแท็กซี่ชนรถถัง

เมื่อถามว่า ตามหาสิ่งของเกี่ยวกับ นวมทอง ไพรวัลย์ ภายใต้ภารกิจใด 

 

สุภาภรณ์กล่าวว่า จุดเริ่มต้นโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา – October 6 Museum Project มีความสนใจการเก็บของที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งนอกจากโฟกัส 6 ตุลาแล้ว ยังสนใจเหตุการณ์การเมืองไทยสมัยใหม่ด้วย นับแต่จัดนิทรรศการ 6 ตุลา ก็มีคนนำหนังสือพิมพ์เก่า เอกสารเก่าในยุคนั้นมามอบให้ทางโครงการฯ เพิ่มขึ้น

 

สำหรับการตามหาสิ่งของเกี่ยวกับ ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ได้รับโจทย์จากทางโครงการฯ เมื่อปีที่แล้ว (2564) ว่าอยากจัดหาแท็กซี่ลุงนวมทอง

 

เมื่อได้โจทย์มาก็คิดว่า ควรจะต้องตามหาจากแหล่งใดบ้าง เริ่มต้นจากการดูข่าวเก่าว่าใครเป็นเจ้าของ ได้ข้อมูลในข่าวเป็นแท็กซี่สีม่วง ทะเบียน ทน 435 (ปัจจุบันข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมักระบุเป็น ทน 345 คาดว่าจะเกิดจากการคัดลอกอย่างผิดพลาด) 

 

รถแท็กซี่ชนรถถังที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าสวนอัมพร เป็นโตโยต้า โคโรลล่า ของ ‘สหกรณ์แหลมทองแท็กซี่จำกัด’ ในข่าวตอนนั้นบอกว่าสภาพกระโปรงหน้ารถยุบไปจนถึงกระจกหน้า มุดไปใต้รถถัง ที่รถมีข้อความพ่นด้วยสเปรย์ว่า ‘พลีชีพ’ ประตูอีก 2 ข้าง บอกว่า ‘สละชีพเพื่อประชาธิปไตย’

 

เป็นเหตุการณ์วันที่ 30 กันยายน 2549 ที่ลุงนวมทองขับแท็กซี่ชนรถถัง วันนั้นลุงนวมทองบาดเจ็บ ซี่โครงซ้ายหัก คางแตก ปากแตก ตาซ้ายบวม ถูกนำส่งไปโรงพยาบาลวชิระ

 

อีก 1 เดือนต่อมา คือวันที่ 31 ตุลาคม 2549 คือวันที่ลุงนวมทองไปผูกคอตายที่สะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 

 

ติดตามแท็กซี่ นวมทอง ไพรวัลย์ หลังชนรถถังแล้ว 15 ปี 

สุภาภรณ์กล่าวอีกว่า การติดตามเริ่มต้นสืบค้นข้อมูลเมื่อ 22 กันยายน 2564 นับว่าผ่านเหตุการณ์ไป 15 ปีแล้ว โดยดูแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 4-5 แหล่งใหญ่ คือ 

 

  • สหกรณ์แหลมทองแท็กซี่จำกัด
  • สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดุสิต
  • กรมการขนส่งทางบก
  • สุรศักดิ์ ทองทวีชัยกิจ ซึ่งชื่อปรากฏในข่าวเวลานั้นว่าเป็นเจ้าของแท็กซี่ และระบุที่อยู่ของสุรศักดิ์ด้วย
  • อีกแหล่งต้องไปตามคือครอบครัวไพรวัลย์ ได้คุยกับ ป้าบุญชู ไพรวัลย์ ภรรยาลุงนวมทอง 

 

เริ่มค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต จากชื่อสหกรณ์ มีชื่อเดียวกัน 3 สหกรณ์ รายแรกเบอร์โทรศัพท์ติดต่อไม่ได้ รายที่สองเป็นเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับทำบัญชีซึ่งบอกว่าไม่ทราบข้อมูลอื่นๆ นอกจากทำบัญชีตามเอกสารที่ส่งมา จึงเหลือติดต่อแหล่งสุดท้าย สหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ แขวงหนองบอน เขตประเวศ มีคนรับสาย ให้ข้อมูล 

 

สหกรณ์นี้บอกว่า มาดูแลสหกรณ์นี้ได้ 4 ปี ไม่ใช่ผู้บริหารสหกรณ์ชุดเดียวกับช่วงปี 2549 จึงไม่ทราบว่า เจ้าของเดิมยังเป็นสมาชิกสหกรณ์อยู่หรือไม่ อีกอย่างคือถ้าแท็กซี่คันนั้นปิดบัญชีไปแล้ว ก็ต้องถามผู้บริหารเดิมซึ่งก็ติดต่อไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม เขาให้ข้อมูลว่า มีรถแท็กซี่ในสังกัดที่เป็นสีม่วง แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส่วนทะเบียน ทน 435 น่าจะปลดป้าย หรือถอดอะไหล่ไปแล้ว เพราะพ้นอายุการเป็นแท็กซี่ไปหลายปี อาจจะต้องไปเช็กทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก แต่ถ้าต้องการจะทำจำลองเลียนแบบ เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ หากทราบว่าเป็นรถรุ่นไหน ก็สามารถทำจำลองเลียนแบบขึ้นได้

 

สุภาภรณ์กล่าวต่อไปอีกว่า ได้ติดต่อ สน.ดุสิต เจ้าหน้าที่บอกว่า ต้องทำหนังสือสอบถาม แต่จากการได้โทรคุยกับทางสถานีตำรวจอยู่หลายวัน ตอนแรกเหมือนเขาจำว่าเป็นอีกเคสหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ แต่คุยไปคุยมาคือไม่ใช่เคสนั้น คนละเคส และสรุปคือ เขาแนะนำให้ทำหนังสือสอบถามไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ว่ายังมีหลักฐานบันทึกประจำวันหรือไม่ การทำคดีสิ้นสุดอย่างไร 

 

หลังจากติดต่อ 3 สหกรณ์ 1 สถานีตำรวจแล้ว สุภาภรณ์เล่าว่า ได้ติดต่อ ป้าบุญชู ไพรวัลย์ ภรรยาลุงนวมทอง แต่ป้าบุญชูไม่ทราบข้อมูลเรื่องรถแท็กซี่ ไม่เคยยุ่งเรื่องรถ ไม่เคยเจอเจ้าของอู่ อย่างไรก็ตาม ป้าบุญชูบอกว่า “รู้สึกดีใจที่ไม่ทิ้งกัน” นี่คือคำพูดป้าบุญชู จากการที่ได้โทรหาครั้งแรก ในความหมายของป้าบุญชูคือ ยังมีคนถามหาลุงนวมทองและคิดถึงอยู่

 

สุภาภรณ์ยังได้เล่าถึงการตามหาแท็กซี่จากแหล่งสุดท้าย ซึ่งเป็นชื่อบุคคลในข่าวว่าเป็นเจ้าของแท็กซี่ ปรากฏชื่อ สุรศักดิ์ ทองทวีชัยกิจ อายุ 36 ปี เป็นเจ้าของอู่รถแท็กซี่ที่ลุงนวมทองเช่ามาขับ สมัยนั้นการเขียนข่าวยังเขียนละเอียดระบุถึงบ้านเลขที่ จึงได้ข้อมูลเพื่อที่จะตามสุรศักดิ์ ที่บ้านเลขที่นี้ ในวันที่ 3 ตุลาคม 2564 ที่ซอยรามคำแหง 106 เป็นหมู่บ้านอายุไม่ต่ำ 30 ปี ทุกบ้านมีบ้านเลขที่ 2 แบบ คือแบบเก่า กับแบบใหม่ เพราะในบางท้องที่จะมีทั้งบ้านเลขที่เก่า แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นบ้านเลขที่ใหม่ 

 

ไปเดินหาพร้อมเพื่อน พบเลขที่บ้านเขียนตัวเล็กๆ ไม่ทันสังเกต ตอนแรกมองไม่เห็น พอดีเพื่อนมองเห็น ก็คิดว่าน่าจะใช่ ปรากฏว่าคนที่อยู่ในบ้านเลขที่นี้ไม่ใช่เจ้าของ แต่เป็นผู้เช่า เช่าเพื่อเก็บสต๊อกของร้านอาหาร จึงตามไปร้านอาหารอยู่อีกซอย ได้เบอร์โทรศัพท์ผู้เช่า จากลูกน้องของเขาที่ร้านอาหาร เมื่อโทรไปเขาบอกชื่อเจ้าของบ้านที่เขาเช่าหลังนั้น และให้เบอร์โทรศัพท์มา 

 

สรุป ไปเจอน้องชายของสุรศักดิ์ เป็นเจ้าของบ้านในข่าว เขาให้ข้อมูลว่า พี่ชายของเขาคือสุรศักดิ์ เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว เขาเป็นน้องชายของสุรศักดิ์คนในข่าว 

 

ส่วนแท็กซี่คันนั้น เป็นของน้าชายที่รับมาทำอีกที 

 

สุภาภรณ์กล่าวต่อไปว่า ต่อมาได้โทรไปสอบถามบริษัทน้าชายของสุรศักดิ์ พนักงานบริษัทตอบว่า แท็กซี่ทะเบียน ทน 435 หลังเกิดเหตุชนรถถังแล้ว ไม่ได้ซ่อมแซม แต่แจ้งหยุดการใช้รถ แล้วขายเป็นซากรถทิ้งไป ส่วนทะเบียนรถส่งคืนสหกรณ์ไปแล้ว 

 

จึงทราบว่ารถแท็กซี่ถูกย่อยขายเป็นเศษเหล็กไปแล้วเมื่อ 3-4 ปีก่อน นั่นหมายความว่า ย้อนหลัง ถูกขายไปประมาณปี 2560 

 

จากการคุยกับพนักงานบริษัท เขาบอกว่าหลังเกิดเหตุไม่ได้ซ่อมแซม เข้าใจว่าน่าจะเป็นสภาพจอดไว้เฉยๆ 

 

ลองจินตนาการพร้อมกับข่าวว่า ขับแท็กซี่ชนรถถังจนยับเยินไปแล้ว และสิ่งที่ไปชนไม่ใช่รถบุคคลธรรมดา แต่ไปชนรถถัง 

 

บทเรียนการเก็บวัตถุทางประวัติศาสตร์

สุภาภรณ์กล่าวว่า สรุปเราตามหาแท็กซี่ลุงนวมทองช้าไป 4-5 ปี เป็นบทเรียนว่า ถ้าอยากจะเก็บสิ่งของอะไรที่น่าจะเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ได้ ให้รีบทำแต่เนิ่นๆ 

 

หากจะต้องตามให้ละเอียดกว่านี้ยังสามารถตามต่อได้อีกว่าในทางคดีที่ สน.ดุสิต จบตรงไหน เคสปิดอย่างไร 

 

สะพานลอยหน้าไทยรัฐ เมื่อปี 2549

สุภาภรณ์เล่าว่า ตอนปี 2549 เธอยังทำงานอยู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตอนนั้นเป็นผู้สื่อข่าวหน้าวิทยาการ ทราบข่าวลุงนวมทองทางหน้าหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ยังเป็นสื่อหลักอยู่ ส่วนข่าวสารในโลกอินเทอร์เน็ตตอนนั้นมีแล้วแต่ยังไม่มากเท่าปัจจุบัน และในปีที่เกิดเหตุการณ์คือปี 2549 การใช้โซเชียลมีเดียจะสัมพันธ์กับการใช้เทคโนโลยีใช้โทรศัพท์มือถือของผู้คนซึ่งมีการเข้าถึงและใช้กันมากขึ้นในระยะหลัง 

 

สำหรับสะพานลอยที่ลุงนวมทองไปแขวนคอเมื่อปี 2549 ตอนนั้นยังไม่มีไทยรัฐทีวีอยู่ จุดนั้นจึงยังไม่ใช่ประตูหลัก สะพานลอยด้านนั้นคนยังไม่ใช้เยอะ ส่วนใหญ่คนจะเดินเข้าประตูอีกประตูของไทยรัฐ แต่ตอนนี้เป็นประตูหลักที่คนจะเข้าฝั่งไทยรัฐทีวี ซึ่งก็คือประตูใกล้จุดที่ลุงนวมทองแขวนคอ 

 

สมัยนั้นยังไม่พลุกพล่านมาก แต่ก็เป็นการเลือกจุดที่ลุงนวมทองหวังผลว่ามาแขวนคอที่หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ใหญ่ของประเทศ แสดงถึงความเป็นคนที่คิดอยู่พอสมควรในการจะทำอะไร 

 

ความระทึกระหว่างตามหาแท็กซี่ลุงนวมทอง

สุภาภรณ์เล่าว่า ต้องตามหาเหมือนหนังนักสืบ มีข้อมูลเพียงบ้านเลขที่ของคนในข่าวเมื่อปี 2549 และเรามาหาในปี 2564 แต่ก็ต้องไป เพราะถ้าไม่ไปก็ไม่ตอบโจทย์เพื่อจะดูสภาพสิ่งของ ถึงที่สุดต้องไปตามบ้านเลขที่เมื่อ 15 ปีก่อนจริงๆ ไปเดินวนกับเพื่อน เราเป็นคนแปลกหน้าที่อยู่ๆ ไปหาสิ่งของที่คนที่ยังอยู่เขาก็อาจจะไม่รู้เรื่องนั้น คล้ายนักสืบประมาณหนึ่ง

 

จริงๆ อยากได้รถถังที่ถูกแท็กซี่ชนด้วย เผื่อเขาจะสนใจให้ทางโครงการ

 

สิ่งของอื่นนอกจากแท็กซี่ 

สุภาภรณ์กล่าวด้วยว่า จากการได้คุยกับป้าบุญชู จึงสอบถามถึงสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับลุงนวมทอง เช่น จดหมายลายมือลุงนวมทอง ป้าบุญชูให้คำตอบว่า ช่วงงานศพมีคนมาช่วยเหลือเยอะ มี อาจารย์ธิดา โตจิราการ มาช่วยงานศพเหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ 

 

ส่วนเรื่องจดหมายลายมือของจริง ยังไม่ทราบว่าใครเก็บไว้ ยังไม่รู้ว่าต้นฉบับอยู่ที่ไหน 

แต่เชื่อว่าต้องอยู่ที่ไหนสักแห่ง ตอนนี้มีเพียงสำเนา หากทราบว่าต้นฉบับอยู่ที่ไหน ในแง่การเก็บวัตถุทางประวัติศาสตร์ ก็ควรจะเก็บต้นฉบับ 

 

นอกจากนั้นได้สอบถามทาง อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน เขาก็บอกว่ามีเป็นสำเนา ไม่มีต้นฉบับ 

 

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา – October 6 Museum Project กับพิพิธภัณฑ์สามัญชน เป็นคนละแห่งกัน แต่มีความคล้ายกันคือ ทั้ง 2 แห่งยังไม่มีที่ตั้งถาวรของตัวเอง แต่เห็นความสำคัญในการเก็บสิ่งของเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ซึ่งขยายความจากประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือประวัติศาสตร์ทางการ โดยมาให้ความสำคัญกับตัวคนที่เข้าร่วม เรื่องวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวกับคนที่เข้าร่วมตรงนั้นก็จะมีความหมายมากขึ้น ถ้าเราเอามาแล้วดูว่าเขาเป็นใคร อย่างไร 

 

ส่วนเสื้อที่ลุงนวมทองสวมใส่ในวันแขวนคอ และมีบทกวีของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ทางครอบครัวก็ไม่ทราบว่าอยู่ไหน ไม่สามารถสรุปได้ว่าเผาไปตอนฌาปนกิจหรือไม่ เพราะก่อนจัดพิธีอาจจะมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดอื่นก็ได้  

 

เมื่อทางครอบครัวเห็นว่าถามถึงลุงนวมทอง หลังจากนั้นทิ้งช่วงไปพักใหญ่ๆ ป้าบุญชูบอกว่ามีชุดทำงานที่สามารถมอบให้ได้ เป็นยูนิฟอร์มพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ลุงนวมทองเคยอยู่แผนกขับรถ ทางโครงการฯ จึงได้รับมอบชุดมา 

 

ส่วนของที่สามารถรับบริจาคหากครอบครัวลุงนวมทองมอบให้ได้ คือเอกสารจดบันทึก เนื่องจากทราบว่าลุงนวมทองเป็นคนชอบจดบันทึก อาจจะไม่ใช่ไดอะรี แต่เป็นการจดค่าใช้จ่ายหรือบันทึกอะไรในชีวิตประจำวัน เป็นเอกสารที่ลุงขีดเขียนสมุดบัญชีรายวัน แบบนี้ก็เก็บได้ ถ้าทางครอบครัวยังเก็บไว้หรือเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการมอบให้คนรุ่นหลังศึกษา ของแบบนี้ก็ช่วยให้คนเห็นตัวตนของบุคคลคนนั้นได้ด้วย ป้าบุญชูบอกถ้าจะหาอันนี้ต้องค้นต้องรื้อของอื่นที่บ้านออกมา ต้องใช้เวลา แล้วเขายังไม่สะดวกตอนนี้ 

 

ความสำคัญของการการเก็บต้นฉบับและศึกษาจากของจริง 

เวลาที่เราเห็นของจริง มันจะสร้างความรู้สึกกับคนได้มากกว่าของจำลอง เช่น ตอนตามแท็กซี่ แล้วทางสหกรณ์บอกว่าไม่มีของจริง แต่ถ้าจะทำจำลองขึ้นมาใหม่ เขาสามารถทำได้และบอกราคามาด้วย

 

ซึ่งในมุมเรา ถ้ามีของจริง ก็ต้องเก็บของจริง 

 

เราให้คุณค่ากับของแท้ที่ผ่านเหตุการณ์ตรงนั้นมา 

 

ส่วนของทำจำลองเลียนแบบขึ้นมา แม้เลียนแบบให้เหมือนอย่างไรมันก็ไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นของแท้ ตัววัตถุนั้นได้ผ่านเหตุการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง สำคัญและเป็นวัตถุพยานของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นว่าคือสิ่งนี้ 

 

ยกตัวอย่างที่ตัวเองรู้สึกประทับใจ คือเคยไปพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่เวียดนาม เขายังเก็บธงชาติจากอดีตเอาไว้ ผ้าบางแล้ว สีแดงของธงก็จางแล้ว แต่เป็นธงที่ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเวียดนามสมัยใหม่ ยังจำได้ติดตา นี่คือของสำคัญที่อยู่ในประวัติศาสตร์นั้นจริงๆ ผ่านกาลเวลาจนมาถึงปัจจุบัน ดูตื่นเต้นกว่าของจำลองเลียนแบบแน่นอน 

 

เปิดจดหมาย 2 ฉบับก่อนจบชีวิต

สำหรับจดหมาย 2 ฉบับของ นวมทอง ไพรวัลย์ ที่เขียนด้วยลายมือก่อนเสียชีวิต ประกอบด้วย ฉบับลงวันที่ 29 ตุลาคม 2549 และ ฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 

 

จดหมายฉบับลงวันที่ 29 ตุลาคม 2549 ก่อนเสียชีวิต 31 ตุลาคม 2549 นวมทองระบุว่า ทำการพลีชีพครั้งที่ 2 เพื่อลบคำสบประมาทของ พ.อ. อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”  

 

“ความคิดผม เมื่อหายป่วยดี ก็จะทำมาหากินขับรถแท็กซี่ ไม่ก่อวีรกรรมอีกต่อไป แต่พบข้อความการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของท่านรองโฆษก คปค. ในเชิงปรามาสดังกล่าวก็เลยต้องสนองตอบกันหน่อย เพราะนิสัยคนไทยฆ่าได้แต่หยามไม่ได้ และเหตุผลที่ผมเลือกวันสุดท้ายของเดือนตุลาคมเป็นวันพลีชีพ เพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่วิญญาณของวีรชนที่สถิตอยู่ที่อนุสรณ์สถานฯ ที่ผมทำการพลีชีพนี้ได้เรียกร้องกระทั่งได้มาซึ่งประชาธิปไตย และวิญญาณของผมก็จะสถิตอยู่กับเหล่าวีรชนแห่งนี้ตลอดไป และขอยืนยันว่าปฏิบัติการทั้งสองครั้งทำด้วยใจ ไม่มีใครจ้าง

 

สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก ลาก่อน พบกันชาติหน้า…” ตอนหนึ่งในจดหมายของ นวมทอง ไพรวัลย์

 

และอีกฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ระบุว่าเตรียมจะพลีชีพที่ ‘อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา’ แต่มีเจ้าหน้าที่รดน้ำต้นไม้ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนไปที่หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 

 

สะพานลอยที่หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีการจัดงานรำลึกการจากไปของ นวมทอง ไพรวัลย์ ทุกปี โดยมวลชนและแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย 

 

จุดดังกล่าวมีพิธีเปิดเป็น สดมภ์อนุสรณ์ นวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 โดยแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X