×

รำลึก 50 ปี 14 ตุลา: รำลึกการปฏิวัติประชาธิปไตย 2516

14.10.2023
  • LOADING...

“ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา

รวี โดมพระจันทร์
บทกวีของคนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัย 14 ตุลา

 

หมายเหตุผู้เขียน:

 

ผู้เขียนเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2516 และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เหตุการณ์การประท้วงใหญ่ในเดือนมิถุนายน 2516 อันเป็นกรณีการ ‘ลบชื่อ 9 นักศึกษารามคำแหง’ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีทุ่งใหญ่ ซึ่งในเวลาต่อมาได้นำไปสู่เหตุการณ์ครั้งสำคัญของการเมืองไทยในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และสืบต่อมาด้วยเหตุการณ์การสังหารใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

 

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรชนผู้เสียชีวิตทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา รวมถึงเพื่อนพ้องน้องพี่และผู้นำทางสังคมทั้งที่เสียชีวิตในเมือง และในฐานที่มั่นชนบทภายใต้ร่มเงาของสถานการณ์สงครามปฏิวัติไทย

 

กล่าวนำ

 

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร…ไม่ว่าคุณจะมีอุดมการณ์แบบใด ทุกคนและทุกฝ่ายล้วนยอมรับถึงความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อย่างไม่คลางแคลงใจ และยังยอมรับว่าเหตุการณ์นี้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงนี้ยังก่อให้เกิดผลอย่างมีนัยสำคัญต่อพัฒนาการของการเมืองไทยอย่างมากมาย จนต้องถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่มี ‘สถานะพิเศษ’ ของการเมืองไทยสมัยใหม่

 

ฉะนั้น ในทางรัฐศาสตร์เราอาจต้องถือว่า 14 ตุลา เป็น ‘การปฏิวัติทางการเมือง’ (Political Revolution) ของสังคมการเมืองไทยอีกครั้ง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทางการเมืองครั้งนี้ ไม่ใช่เป็น ‘การปฏิวัติทางสังคม’ (Social Revolution) ที่เป็นการจัดการกับโครงสร้างเก่าในแบบ ‘รื้อทิ้ง’ ทุกอย่าง

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ไม่ได้มีความสำคัญกับผู้คนในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของเดือนตุลาคมเท่านั้น หากแต่ความสำคัญเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด ‘ภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่’ (New Political Landscape) และได้ทิ้งมรดกที่เป็น ‘นัยทางการเมือง’ ไว้เป็นผลสืบเนื่องกับการเมืองไทยสมัยใหม่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น สังคมการเมืองไทยร่วมสมัยไม่อาจละเลยถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุการณ์ในวันดังกล่าวได้ 

 

อีกมุมหนึ่งในทางรัฐศาสตร์ เราต้องถือว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือ ‘การปฏิวัติประชาธิปไตย’ (Democratic Revolution) ในโลกสมัยใหม่ของสังคมการเมืองไทยอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะไม่เล่าเรื่องของเหตุการณ์ 14 ตุลา เนื่องจากมีหนังสือและบทความจำนวนมาก (รวมทั้งหนังสือของผู้เขียน) บอกเล่าถึงที่มาและการต่อสู้ในวันดังกล่าว แต่บทความนี้อยากทดลองนำเสนอมุมมองต่อการพิจารณาสถานะและผลสะเทือนของ 14 ตุลา เพื่อให้เห็นถึงการก่อตัวของการเมืองชุดใหม่ หรือที่เรียกว่า ‘การเมืองยุคหลัง 14 ตุลา’

 

สถานะ 14 ตุลาคม 2516 

 

หากเราทดลองมองย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ถึงชัยชนะของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลา นั้น เราจะเห็นนัยสำคัญของเหตุการณ์นี้โดยสังเขป 7 ประการ ได้แก่

 

1) 14 ตุลา คือการปฏิวัติประชาธิปไตยในการเมืองไทย

 

ถ้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นดังกระแส ‘คลื่นลูกแรก’ (The First Wave of Democracy) ของประชาธิปไตยไทย หรืออาจถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยครั้งแรกในสังคมการเมืองไทยนั่นเอง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนารูปแบบการปกครองของ ‘ระบอบรัฐธรรมนูญ’ (Constitutionalism) ที่การเมืองของประเทศก้าวสู่ความเป็น ‘มหาชนรัฐ’ โดยมีกติกาทางกฎหมายในรูปแบบของรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกำกับ แม้หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้แล้ว อาจจะมีภาวะของการ ‘ล้มลุกคลุกคลาน’ ไปกับเงื่อนไขการเมืองและสังคมไทย และทั้งอาจจะไปไม่ถึงจุดที่เป็นอุดมคติของการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองทั้งหมด แต่สภาพเช่นนี้ก็มิได้หมายถึงการสิ้นสุดของการต่อสู้เรียกร้องระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย

 

การล้มระบอบทหารในปี 2516 จึงเป็นดั่งการมาของ ‘คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สอง’ ซึ่งก็มีนัยคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (Transition to Democracy) ครั้งที่ 2 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นัยของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2516 จึงเป็นปรากฏการณ์ที่มีความหมายอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของการสร้างประชาธิปไตยในการเมืองไทยสมัยใหม่ หรือดังที่กล่าวในข้างต้นแล้วว่า 14 ตุลา มีนัยถึง ‘การปฏิวัติประชาธิปไตย’ อย่างชัดเจนในสังคมการเมืองไทย

 

2) 14 ตุลา คือการโค่นล้มระบอบทหารด้วยพลังประชาชนครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

หากพิจารณาประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว เราจะเห็นได้ว่า การเมืองไทยอยู่ในตัวแบบของ ‘การเมืองประเทศโลกที่สาม’ ที่รัฐประหารยังคงเป็น ‘กฎ’ มากกว่า ‘ข้อยกเว้น’ กล่าวคือ รัฐประหารทั้งสำเร็จและล้มเหลวเกิดขึ้นในการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง จนติดอันดับในหมู่ประเทศที่มีรัฐประหารมากบนเวทีโลก และระบอบการปกครองแบบทหารกลายเป็นแบบแผนหลักในการเมืองไทย จนการเลือกตั้งพร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนนั้นกลายเป็น ‘การเมืองแบบชั่วคราว’ 

 

ฉะนั้น ในยุคก่อนปี 2516 จึงมองไม่เห็นเลยว่า ระบอบเสนานิยมที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานในการเมืองไทยนั้นจะถูกเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร จนดูเหมือนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร 2490 จะมีความต่อเนื่องจนถึงยุคของ จอมพล ถนอม กิตติขจร อันเป็นการสืบทอดอำนาจที่ยาวนานชุดหนึ่งในการเมืองไทย

 

ในสภาพเช่นนี้แทบไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า การปกครองของรัฐบาลทหารของจอมพล ถนอม จะเป็นวาระสุดท้ายของ ‘ระบอบเสนานิยม 2490’ ที่สืบทอดต่อเนื่องกันมา แต่แล้วผลจากการ ‘ล้อมปราบ’ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 กลับกลายเป็นจุดพลิกของสถานการณ์ที่ทำให้ระบอบนี้ล้มลง แม้จะมีข้อมูลความขัดแย้งระหว่างผู้นำทหารระดับสูงในขณะนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงแรงขับเคลื่อนจากการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารบนท้องถนน

 

ดังนั้น เหตุการณ์ 14 ตุลา จึงเป็นครั้งแรกที่กองทัพต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่…ใหญ่ขนาดที่ทหารไม่กล้าแต่งเครื่องแบบออกมาเดินบนท้องถนนในกรุงเทพฯ! แม้ในอีก 3 ปีต่อมา ฝ่ายขวาจัดจะนำพาสังคมไทยกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมได้สำเร็จในปี 2519 แต่สถานะแห่ง ‘การปฏิวัติประชาธิปไตย’ ก็มิอาจถูกทำลายลงได้ และยังเป็นความทรงจำจนปัจจุบัน 

 

3) 14 ตุลา คือการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดในการเมืองไทย

 

เราคงต้องยอมรับในช่วงทศวรรษของปี 2510 ระบอบทหารดำรงอยู่โดยไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของชนชั้นกลางที่เป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย คนเหล่านี้ต้องการมีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง และขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับต่อบทบาทของทหารในการเมือง จนนำไปสู่การกำเนิดของ ‘กระแสต่อต้านเสนานิยม’ และในอีกด้านหนึ่งก็เป็นผลจากการขยายตัวของ ‘กระแสเสรีนิยม’ อันทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีความเป็นตัวแทนของการปะทะกันระหว่างกระแสการเมืองสองชุดคือ ‘เสรีนิยม vs. เสนานิยม’ อย่างชัดเจน

 

การขยายตัวของกระแสเสรีนิยมได้กลายเป็นรากฐานของการพาคนหนุ่มสาวเข้าสู่โลกทางการเมือง อันนำไปสู่การจัดตั้ง ‘ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย’ (ศนท.) ในปี 2513 และการเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ได้นำพาประชาชนเข้าร่วมในการต่อต้านรัฐบาลทหารและเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลายเป็นการชุมนุมครั้งที่ใหญ่ที่สุดในการเมืองไทย ซึ่งประมาณการว่าผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจอมพล ถนอม บนถนนราชดำเนินมีจำนวนมากกว่า 5 แสนคน ในวันที่ 14 ตุลาคม และแน่นอนว่าการชุมนุมครั้งนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่เข้าร่วมเหตุการณ์ทุกคนจนปัจจุบัน

 

4) 14 ตุลา คือจิตวิญญาณการต่อสู้ทางการเมืองของคนหนุ่มสาว

 

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้น เป็นพัฒนาการของการก่อตัวของขบวนคนหนุ่มสาวที่ต้องการแสวงหา ‘สังคมที่ดีกว่า’ และขบวนนี้ในบริบทของการเมืองภายในก็คือ การฟื้นตัวของขบวนปัญญาชนหลังปี 2500

 

ต่อมาในปี 2511 กิจกรรมนักศึกษาเริ่มก่อตัวอีกครั้งที่เห็นได้ถึงการกำเนิดของกิจกรรมออกสู่ชนบท ด้วยการจัดตั้ง ‘ค่ายอาสาพัฒนาชนบท’ ในมหาวิทยาลัย และพัฒนาเป็น ‘กลุ่มบูรณะชนบท’ ในปี 2513 และในอีกด้านหนึ่งได้เกิดกิจกรรมการเมืองด้วยการจัดตั้ง ‘กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง’ ในปี 2512 จนต่อมาได้พัฒนาไปสู่การจัดตั้ง ‘ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย’ ในปี 2513 และทั้งยังเห็นถึงการเกิดกลุ่มกิจกรรมอิสระในมหาวิทยาลัยต่างๆ คู่ขนานกันด้วย

 

ด้วยชัยชนะของการโค่นล้มระบอบทหาร ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในปี 2516 ยังคงเป็นหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ขบวนการนิสิตนักศึกษาไทย แม้ในอีก 3 ปีต่อมา ขบวนการนี้จะจบด้วยการถูกปราบปรามอย่างหนักในเมืองก็ตาม แต่ประวัติศาสตร์หน้านี้ยังคงเป็น ‘ความฝัน’ ของนักกิจกรรมทางการเมืองในทุกมหาวิทยาลัยเสมอ 

 

5) 14 ตุลา คือการเรียกร้องประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง

 

ภาพคู่ขนานกับการเติบโตของขบวนการนิสิตนักศึกษาก็คือ การขยายตัวของชนชั้นกลาง อันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางที่ไม่ใช่กลุ่มข้าราชการ หากแต่มีนัยหมายถึงกลุ่มคนที่เติบโตจากการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของความเป็นเมือง (Urbanization) และขับเคลื่อนด้วย ‘การสร้างความเป็นสมัยใหม่’ (Modernization) ตาม

 

ในอีกด้านก็เป็นผลจากการขยายตัวของระบบการศึกษาในขณะนั้น ที่ทำให้กลุ่มคนในเมืองมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการสร้างมหาวิทยาลัยเปิดยุคใหม่ คือการเปิดมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี 2514 คนเหล่านี้เติบโตเป็น ‘ชนชั้นกลางนอกระบบราชการ’ เพราะในการศึกษาสังคมไทยแบบเดิมนั้น ชนชั้นกลางมีความหมายถึงข้าราชการ และพวกเขาเริ่มมีความคิดที่ปฏิเสธระบอบการปกครองของทหารมากขึ้น อันเป็นผลจากการคอร์รัปชันของผู้นำทหาร ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทหารในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ และที่สำคัญชนชั้นกลางเริ่มต้องการตัวแทนของพวกเขาในรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร

 

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ด้านหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือความสำเร็จของการเรียกร้องประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือความสำเร็จของชนชั้นกลางในการเรียกร้องเช่นนี้ด้วย

 

6) 14 ตุลา คือการพังทลายของอำนาจผูกขาดในกองทัพ

 

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นดั่งการพังทลายของการรวมศูนย์อำนาจภายในกองทัพ อำนาจในมือของ ‘สองจอมพล-สองตระกูล’ ถูกทำลายลงทันที และเปิดโอกาสให้ผู้นำทหารสายอื่นๆ เติบโตขึ้นในกองทัพ โดยเฉพาะในกองทัพบก และยังมีนัยสำคัญถึงการขยายบทบาทของ ‘นายทหารระดับกลาง’ ที่การพังทลายของระบบผูกขาดอำนาจในกองทัพแบบเดิมส่งผลให้เกิด ‘ช่องว่างแห่งอำนาจ’ จนกลายเป็นโอกาสของนายทหารระดับกลาง (ระดับผู้บังคับกองพัน และระดับผู้บังคับการกรม) ก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมือง ดังตัวอย่างของนายทหาร จปร.5 และ จปร.7 (กลุ่มยังเติร์ก) 

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีชัยชนะของประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 โครงสร้างอำนาจภายในกองทัพจะยังคงอยู่ในแบบเดิมที่มีการรวมศูนย์อยู่บนยอดพีระมิด แต่ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายในกองทัพอีกแบบหนึ่ง หากพิจารณาในมุมมองเช่นนี้แล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือการ ‘ปลดปล่อย’ กองทัพออกจากพันธนาการของอำนาจในแบบเก่า แม้เส้นทางของกองทัพกับการเมืองไทยต่อมาจะไม่ราบรื่น และประเด็นของการสร้าง ‘ทหารอาชีพ’ ยังคงเป็นเรื่องที่ตกค้างในการเมืองไทยไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม

 

7) 14 ตุลา คือการสิ้นสุดของการเมืองเก่าและก้าวสู่การเมืองใหม่

 

นัยสำคัญอีกประการของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็คือ การสิ้นสุดของการเมืองชุดเก่าของไทยที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการรัฐประหาร 2490 ผลพวงของการเมืองในยุคสมัยดังกล่าวปิดฉากลงด้วยการล้มลงของระบอบทหาร ในอีกด้าน ภูมิทัศน์ใหม่เช่นนี้เป็นผลให้การเมืองหลังจากปี 2516 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเห็นได้ชัดถึงการมีบทบาทของประชาชนมากขึ้น จนในระยะต่อมาการเมืองไทยในอีกมุมหนึ่งมีความเป็น ‘การเมืองของมวลชน’ (Mass Politics) ที่ตามมาด้วยการเรียกร้องและการประท้วงเช่นที่เราเห็นในระบอบประชาธิปไตย

 

ความใหม่หลังปี 2516 ยังตามมาด้วยปัจจัยสำคัญอีกประการคือ การเมืองที่เป็น ‘การแข่งขันของพรรคการเมือง’ บนพื้นฐานของ ‘ประชาธิปไตยตัวแทน’ (Representative Democracy) เป็นรากฐานของการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่การต่อสู้ของผู้นำทหารในแบบเดิม หรืออาจกล่าวได้ว่า นับจากปี 2516 จนถึงปัจจุบัน การเมืองไทยมีประชาชนและพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญ ภูมิทัศน์ใหม่หลังปี 2516 ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า การเมืองไทยมิได้มีเพียงผู้นำทหาร ชนชั้นนำ และกลุ่มอนุรักษนิยมเท่านั้น การเอาชนะการแข่งขันผ่านพรรคการเมืองจึงเป็นเวทีสำคัญในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ และไม่ตอบรับกับชุดความคิดเก่าของผู้นำทหารที่ ‘อำนาจรัฐจากปากกระบอกปืน’ ด้วยการรัฐประหารนั้น ไม่มีความชอบธรรม และเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นตัวแทนของการเรียกร้องประชาธิปไตย เช่นที่เห็นการลุกขึ้นสู้ของเสรีชนในหลายประเทศทั่วโลก จนต้องเรียกชัยชนะของนิสิต นักศึกษา ประชาชนในปี 2516 ว่า ‘ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงเทพฯ’ หรือ ‘Bangkok Spring’ นั่นเอง

 

การปฏิวัติประชาธิปไตย

 

แม้ผลของความเปลี่ยนแปลงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จะสะดุดลงจากรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ก็ใช่ว่านัยที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นจะถูกทำลายและหมดสภาพไปแต่อย่างใด หากแต่ผลสืบเนื่องของ ‘การปฏิวัติประชาธิปไตย’ ในครั้งนั้นยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีรัฐประหารเกิดขึ้นในการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นในปี 2534 ต่อมาในปี 2549 และซ้ำอีกครั้งในปี 2557 จนทำให้การเมืองไทยยังคงวนเวียนอยู่กับการรัฐประหารไม่สิ้นสุดก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้เสียงเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยสิ้นสุดลงแต่อย่างใด 

 

อย่างไรก็ตาม สถานะของเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ ‘จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ อย่างชัดเจน หรือหากมองในกรอบทางรัฐศาสตร์ของทฤษฎี ‘เปลี่ยนผ่านวิทยา’ (Transitology) แล้ว เหตุการณ์นี้คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในการเมืองไทยสมัยใหม่ จนอาจต้องถือเสมอว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นหนึ่งใน ‘การปฏิวัติประชาธิปไตย’ ที่สำคัญของสังคมไทย

 

ดังนั้นไม่ว่าจะมองจากมุมทางการเมืองใด…มีจุดยืนทางการเมืองใดก็ตาม ทุกฝ่ายยอมรับว่า ‘เหตุการณ์ 14 ตุลา’ เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของการเมืองไทยสมัยใหม่ ไม่แตกต่างกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475…

 

เจตนารมณ์ 14 ตุลา จงเจริญ…ประชาธิปไตยจงเจริญ!

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X