×

เรมเดซิเวียร์ ยาต้านไวรัสที่จะช่วยพลิกสถานการณ์วิกฤตโควิด เพราะชีวิตรอไม่ได้

โดย THE STANDARD TEAM
02.09.2021
  • LOADING...
Remdesivir

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เรมเดซิเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่พัฒนาโดยบริษัทยาของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับโรงงานผลิต 10 แห่งในอินเดีย ทำให้ไทยได้รับยาต้านไวรัสชนิดนี้ในราคาที่สามารถจับต้องได้ (ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อคอร์สการรักษา 6 วัน) และเข้าถึงวิธีการรักษาที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ
  • แม้เรมเดซิเวียร์อาจไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ช่วยทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกได้ในหลายๆ แง่มุม เช่น ลดจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล จำนวนวันที่นอน ICU และวันที่ต้องใช้ออกซิเจน อีกทั้งยังช่วยลดความตึงมือต่อบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
  • จากเดิมที่จะใช้เรมเดซิเวียร์กับคนไข้สีแดงเข้มเท่านั้น คนจึงเข้าถึงตัวยาได้น้อย แต่ถ้าปรับมาให้ยาตั้งแต่ตอนที่คนไข้ยังเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีแดงอ่อน คนก็จะเข้าถึงตัวยานี้ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

หลายประเทศในประชาคมโลกยังคงเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหญ่ที่สร้างความท้าทายให้แก่การบริหารจัดการวิกฤตและระบบสาธารณสุขเป็นอย่างมาก หลังโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ หรือ ‘โควิด-19’ แพร่ระบาดมานานเกือบ 2 ปีแล้ว โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกสูงกว่า 200 ล้านราย เสียชีวิตแล้วกว่า 4.5 ล้านราย และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากการเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิดที่มีคุณภาพให้กับประชาชนจะเป็นวิธีการที่จะช่วยรับมือและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้ที่สุดแล้ว ยาต้านไวรัสก็ถือว่ามีส่วนสำคัญไม่แพ้กันที่จะช่วยพลิกสถานการณ์วิกฤตโควิด โดยเฉพาะในประเทศที่ระบบสาธารณสุขเริ่มตึงมือ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เตียงขาดแคลน และการเร่งฉีดวัคซีนโควิดยังไม่รุดหน้าเท่าที่ควร

 

Remdesivir

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ นายแพทย์เกริก อัศวเมธา อายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ ถึงประเด็นการสร้างความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ยาต้านไวรัสที่กลายเป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญที่ใช้ต่อกรกับโรคโควิดที่มีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิดที่เชื้อลงปอด พร้อมทั้งพูดคุยถึงข้อจำกัดสำคัญในการเข้าถึงยาต้านไวรัสชนิดนี้ รวมถึงมุมมองที่จะสะท้อนให้เห็นว่า เรมเดซิเวียร์ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพลิกสถานการณ์วิกฤตโควิดภายในประเทศไทยได้อย่างไร

 

Remdesivir

ภาพ: Felipe Caparros / Shutterstock

 

เรมเดซิเวียร์ 101

เรมเดซิเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา ไม่ว่าจะเป็น โรคซาร์ส (SARS) เมอร์ส (MERS) และอีโบลา (Ebola) ก่อนที่จะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด นับตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนโควิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานได้เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยผลการศึกษาประสิทธิภาพของยาต้านไวรัสชนิดนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี มีส่วนสำคัญในการช่วยยับยั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนไวรัส ส่งผลให้เรมเดซิเวียร์ได้รับการอนุมัติและบรรจุในบัญชียาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงแล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น

 

เดิมทีถือเป็นยาต้านไวรัสที่พัฒนาโดยบริษัทยาของสหรัฐฯ เมื่อปี 2015 ก่อนที่จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับโรงงานผลิต 10 แห่งในอินเดีย ทำให้ประเทศไทยได้รับยาต้านไวรัสชนิดนี้ในราคาที่สามารถจับต้องได้ (ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อคอร์สการรักษา 6 วัน) และเข้าถึงวิธีการรักษาที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ ซึ่งประเทศไทยนำเข้าเรมเดซิเวียร์เพื่อใช้เป็นกรณีฉุกเฉินแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 ตามกฎระเบียบของคณะกรรมการอาหารและยา

 

ยาต้านไวรัส 2 ชนิดที่ประเทศไทยใช้อยู่ในขณะนี้คือ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่เป็นยาเม็ด กับเรมเดซิเวียร์ที่เป็นยาฉีด โดยส่วนใหญ่เรมเดซิเวียร์จะใช้ในเคสที่มีอาการรุนแรง เคสที่เชื้อลงปอด ปอดอักเสบจนต้องนอนโรงพยาบาล และเคสที่มีออกซิเจนต่ำกว่า 94% โดยจะให้ยาวันละ 1 ครั้ง โดยทั่วไปจะให้ประมาณ 5 วัน ส่วนในเคสที่อาการหนักมากๆ อาจจะพิจารณาให้ 10 วันได้ 

 

Remdesivir

ภาพ: Pallava Bagla / Corbis via Getty Images

 

แนวทางการใช้ยาต้านไวรัส 

นพ.เกริก อธิบายถึงธรรมชาติของการติดโรคโควิดว่า โดยทั่วไปธรรมชาติของโควิดจะแบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกคือช่วง 7-10 วันแรก ที่จะมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอหลังจากที่เชื้อฟักตัว จะเป็นเฟสที่ไวรัสทำร้ายเรา เรียกว่า ‘Viral Phase’ พอเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 2 แล้ว (Day of Illness: DOI) จะมีกลไกที่ชื่อว่า ‘Inflammatory Phase’ หรือ เกิดการอักเสบขึ้น

 

โดยเราจะสามารถเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เรารับเชื้อมา 3-5 วัน การแพร่จะจบใน 10-14 วัน ถ้าไม่ได้ลงปอดรุนแรง นั่นจึงเป็นที่มาของการกักตัว 14 วัน แต่ในกรณีที่เชื้อลงปอดรุนแรง ต้องนอน ICU นอนโรงพยาบาลนาน โอกาสในการแพร่เชื้อก็อาจนานกว่า 2 สัปดาห์ก็ได้ 

 

“ยาต้านไวรัส ไม่ว่าจะเป็นฟาวิพิราเวียร์หรือเรมเดซิเวียร์เอง เราอยากให้ในช่วงแรกของโรค เป็นช่วงไวรัสเฟส ถ้าบางคนมาด้วยอาการในวันที่ 10 แล้ว อาจแปลว่าใกล้จะหายแล้ว การใช้ยาต้านไวรัสก็อาจไม่จำเป็น ถ้าเราอยากจะฆ่าไวรัส เราต้องฆ่าภายใน 7-10 วันแรก

 

“โดยเราจำเป็นต้องรู้ว่าคนไข้เป็นมากี่วันแล้ว ถ้าคนไข้อาการไม่เยอะ เป็นเหมือนหวัดเฉยๆ เราก็รักษาเหมือนหวัด เอกซเรย์ปอดแล้วไม่มีปัญหาอะไร ค่าออกซิเจนดี กลุ่มนี้ก็จะถือว่าเป็นหวัด กลุ่มนี้ยาต้านไวรัสก็อาจจะไม่จำเป็นเท่าไร แต่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอย่างคนที่อายุเยอะ 60 ปีขึ้นไป หรือว่าคนไข้ที่เป็นโรคอ้วน คนที่มีโรคประจำตัวเยอะ กลุ่มนี้มักจะต้องประเมินและอาจจะต้องได้รับยาต้านไวรัสเร็วหน่อย เพราะว่าเขามีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงได้

 

“ขณะที่คนไข้บางรายอาจมีอาการรุนแรงได้แล้วตั้งแต่ในเฟส 1 โดยเฉพาะสายพันธ์ุอัลฟาหรือเดลตา เพราะเชื้อแบ่งตัวเร็วขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยบางรายจะมีอาการทรุดตั้งแต่วันที่ 7-8 ออกซิเจนจะเริ่มร่วง โดยเฉพาะคนไข้ที่มีโรคประจำตัว คือเรามีเวลารอที่จะพิจารณาการให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือเรมเดซิเวียร์ แต่เรารอนานเกินไปไม่ได้ ถ้าเรารอจนปอดอักเสบไปเยอะมากแล้ว ยาก็อาจจะได้ประโยชน์ไม่ชัดเจนแล้ว เพราะคนไข้เข้าไปสู่เฟสที่มีการอักเสบแล้ว

 

“การต่อสู้แบ่งเป็น 2 ยก ยกแรกไวรัสอัดเรา ยกสองการอักเสบอัดเรา เราจำเป็นจะต้องทำให้คนไข้ไม่ช้ำเกินไป ภายใน 7-10 วันแรก ถ้ามียาต้านไวรัสตัวใดที่เหมาะสม เพื่อทำให้ปอดไม่ช้ำเกินไป เพราะปอดของคนไข้จะทรุดลงอีกครั้งได้เมื่อยกสองมาถึง”

 

Remdesivir

ภาพ: Athit Perawongmetha / Reuters

 

เรมเดซิเวียร์ในฐานะ ‘Game Changer’

แม้ว่างานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) จะบ่งชี้ว่ายาต้านไวรัสชนิดนี้อาจไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ จนนำไปสู่การแนะนำไม่ให้แพทย์ใช้เรมเดซิเวียร์เป็นตัวยาหลักในการรักษาผู้ป่วยโควิด แต่นักวิจัยในหลายประเทศอย่างสหรัฐฯ ได้นำเรมเดซิเวียร์ไปศึกษาในเคสผู้ป่วยหนัก พบว่า แม้เรมเดซิเวียร์จะไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็มีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและคลายภาวะตึงมือของระบบสาธารณสุขที่ห้อง ICU เต็ม เตียงผู้ป่วยขาดแคลนได้

 

“งานศึกษาวิจัยในเคสผู้ป่วยหนักพบว่า เรมเดซิเวียร์ไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ก็ช่วยในหลายๆ เรื่อง เช่น ลดจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล ลดจำนวนวันที่นอน ICU ลดจำนวนวันที่ต้องใช้ออกซิเจน แสดงให้เห็นว่ายาต้านไวรัสนี้มีส่วนช่วยลดความรุนแรงของโรค 

 

ถ้าเรามาด้วยสถานะที่เป็นผู้ป่วยสีเหลือง แต่เชื้อยังไม่ได้ลงปอดรุนแรง ออกซิเจนยังไม่ต่ำมาก ยาก็จะดึงให้เราอยู่ในสีเหลืองต่อได้ หรือไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นสีแดง ลดความตึงต่อการนอนโรงพยาบาล ต่อ ICU ลดความตึงต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ได้แค่ช่วยทำให้คนไข้มีอาการดีขี้นแต่เพียงอย่างเดียว เราจะเห็นว่าในภาพรวม เรมเดซิเวียร์ทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกได้ในหลายๆ แง่มุม

 

นอกจากนี้ นพ.เกริก ยังมองว่า “ข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับฟาวิพิราเวียร์ที่เป็นยาต้านไวรัสหลักของเมืองไทยค่อนข้างน้อย ยาดังกล่าวน่าจะพอใช้ได้เมื่อเจอกับไวรัสสายพันธ์ุดั้งเดิมจากอู่ฮั่น พอเป็นสายพันธ์ุที่แบ่งตัวเก่งขึ้น กระจายเก่งขึ้น ความรุนแรงเริ่มเยอะขึ้น ยาต้านไวรัสจำเป็นต้องให้เร็ว แล้วฟาวิพิราเวียร์เป็นตัวที่อ่อนกว่า ไวรัสแบ่งตัวไประดับหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นเรา ‘ไล่ตามเกม’ อยู่ ถ้าเราใช้ยาตัวที่อ่อนกว่า หรืออาจพอใช้ได้ในคนไข้ที่แข็งแรง แต่ถ้าในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวอาจจะไม่ทันการณ์ เราจะวิ่งตามไม่ทัน ฆ่าไวรัสไม่ทัน ฆ่าได้ช้า

 

แต่ข้อมูลที่เห็นชัดเจนคือ เรมเดซิเวียร์ลดการนอนโรงพยาบาล โอกาสที่คนไข้จะมานอน 14 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์แล้วไม่กลับจะเป็นไปได้น้อยลงมาก เพราะถึงคนไข้จะมีอาการปอดอักเสบก็จริง แต่ 7-10 วันเราจะทำให้คนไข้กลับบ้านได้ เตียงจะเปิดมากขึ้น คนไข้จะไม่ต้องนอนรอเตียงที่บ้าน ถ้าเราให้ยาเร็วขึ้นก็จบเร็วขึ้น ปอดอักเสบเป็นน้อยไม่ต้องนอน ICU ไม่ต้องรอออกซิเจน ดีแล้วกลับบ้าน มันหยุดที่จะทรุดต่อแล้ว โอกาสที่คนไข้เตียงทั่วไปจะลง ICU ก็จะลดลง มีเตียงเปิดรับสำหรับเคสที่หนักจริงๆ มากขึ้น”

 

ขณะที่กรณีเชื้อดื้อยา หลังเชื้อไวรัสโคโรนามีแนวโน้มกลายพันธ์ุอย่างต่อเนื่อง นพ.เกริก ชี้ว่า ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่ก็อาจพบเคสที่อาการทรุดเร็วขึ้น เนื่องจากเชื้อแบ่งตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่มีโรคประจำตัว

 

Remdesivir

ภาพ: Varuth Pongsapipatt / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

 

ข้อจำกัดในการเข้าถึงเรมเดซิเวียร์ เพราะชีวิตรอไม่ได้

ประเทศไทยมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเรมเดซิเวียร์อยู่พอสมควร ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อมูลงานวิจัยของ WHO ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น อีกทั้งแนวทางของกรมการแพทย์ รวมถึงคณะกรรมการอาหารและยา ที่จำกัดการรักษาให้อยู่ในกลุ่มเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น รวมถึงจะต้องกระจายตัวยาดังกล่าวไปยังหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมควบคุมโรค และสถานพยาบาลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเห็นชอบเท่านั้น เปรียบเสมือนเป็นกำแพงสำคัญในการเลือกจ่ายยาให้กับผู้ป่วย

 

“ถ้าเราทำความเข้าใจกับสาธารณสุข ก็อาจจะถูกจำกัดด้วยราคา แต่ถ้าเราอ้างจากแนวทางในการรักษาของกรมการแพทย์ เขาจะอ้างอิงข้อมูลจาก WHO ว่ายาต้านไวรัสชนิดนี้ไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ แนวทางดังกล่าวไม่ได้ให้พื้นที่กับเรมเดซิเวียร์มากนัก อาจเพราะไม่ได้คิดว่าเราจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดมากขนาดนี้ โรงพยาบาลจะมีผู้ป่วยล้นขนาดนี้ คนไข้จะไม่มีเตียง บุคลากรทางการแพทย์จะถึงจุดที่เหนื่อยล้ามากๆ 

 

“โดยเขาให้พื้นที่เรมเดซิเวียร์เฉพาะในคนที่ตั้งครรภ์ และคนที่มีปัญหาการดูดซึมของทางเดินอาหาร พอต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็พยายามเริ่มปรับ ถ้าคุณเป็นกลุ่มที่ได้รับออกซิเจนแรงดันสูง ภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากนอนโรงพยาบาล นับเป็นครั้งแรกที่เขาพยายามปรับให้มาใช้กับคนไข้กลุ่มแดงเข้ม เป็นก้าวแรกที่คนไข้ในโรงพยาบาลรัฐบาลจะได้เรมเดซิเวียร์ง่ายขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลเอกชน เราไม่ได้รักษาตามแพตเทิร์นนี้เป๊ะๆ อยู่แล้ว ถ้ามีอาการปอดอักเสบในระดับหนึ่ง เราให้ได้เลย เราให้เร็วกว่าอยู่แล้ว

 

“ดังนั้นเราจะเห็นว่ายังมีสิ่งที่พัฒนาได้ ถ้าเรากลับไปอ้างอิงงานศึกษาที่คนไข้ที่มีออกซิเจนลดต่ำกว่า 94% คนกลุ่มนี้ไม่ใช่สีแดงเข้ม แต่คนกลุ่มนี้คือสีเหลืองเข้ม หรือสีแดงอ่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากเรมเดซิเวียร์ แต่ในขณะที่ไกด์ไลน์ไปเลือกให้คนในกลุ่มสีแดงเข้ม ซึ่งในงานวิจัยระบุว่า กลุ่มนี้ได้ประโยชน์น้อย อยากให้คนกลุ่มใหญ่ที่ได้ประโยชน์อย่างกลุ่มสีเหลืองเข้มเข้าถึงยาได้เร็วกว่านี้

 

“ข้อจำกัดอีกอย่างก็น่าจะเป็นเรื่องของราคา เนื่องจากราคาต่างกันเยอะ เป็นปัญหาหลักที่ทำให้คนไข้บางกลุ่มอาจเข้าถึงตัวยาได้ยาก ส่วนผลข้างเคียง เรมเดซิเวียร์เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย อาจยุ่งยากตรงที่เป็นยาฉีด ต้องให้ที่โรงพยาบาลและต้องให้วันละครั้ง ผลข้างเคียงที่ผู้ใช้จะเจออาจจะมีตับอักเสบเล็กน้อย แต่ยาพวกนี้ถือเป็น Life-saving ถ้ามีอาการดังกล่าว เราก็ยังให้ยาต่อจนครบคอร์สอยู่ดี

 

“ในขณะที่ถ้าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ เช่น ปอดอักเสบแบบสีแดงเข้ม สามารถเบิกยาจากสาธารณสุขได้แล้วโดยไม่เสียค่ายารักษา และมีแนวโน้มที่จะปรับเกณฑ์การใช้อีกในอนาคตอันใกล้ อาจปรับให้ใช้ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอจนอาการหนักมาก

 

Remdesivir

ภาพ: Athit Perawongmetha / Reuters

 

สภาวะคอขวดของประเทศไทย

แม้ว่าภายหลังจะมีความพยายามเปิดกว้างในแนวทางการรักษา รวมถึงปรับปรุงเกณฑ์ให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถสั่งซื้อเรมเดซิเวียร์กับบริษัทยาได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังคงประสบกับ ‘สภาวะคอขวด’ ที่ยังคงจำกัดการใช้ยาไว้ที่เฉพาะเคสที่ตั้งครรภ์ เคสที่มีปัญหาการดูดซึมของทางเดินอาหาร ทานยาเม็ดไม่ได้ และเคสที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงภายใน 48 ชั่วโมงเท่านั้น อีกทั้งยังต้องรอการพิจารณาและอนุมัติคนไข้ทีละเคสว่าเคสไหนจะต้องได้รับยาจากส่วนกลางบ้าง 

 

นอกจากบุคลากรทางด้านการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดจะต้องคอยทำหน้าที่รักษาคนไข้ภายในโรงพยาบาลของตนเองแล้ว ยังจะต้องมาคอยอนุมัติเคสเป็นรายๆ เคสให้กับโรงพยาบาลลูกข่ายที่ต้องไปรอรับยาจากส่วนกลางอีก ส่งผลให้กว่าที่ผู้ป่วยจะได้รับยาต้านไวรัสก็อาจล่วงเลยช่วงเวลาที่จะสามารถกู้สถานการณ์และช่วยชีวิตคนไข้ได้แล้ว

 

นพ.เกริก กล่าวทิ้งท้ายและเสนอแนะแนวทางว่า “กว่าจะได้รับการอนุมัติจากอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐบาลหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย กว่าจะได้ยากลายเป็นว่าคนไข้ต้องรอยา แต่โรคไม่ได้รอเรา บางทียาจะต้องให้ไปเลย เพราะยาต้านไวรัสถ้าอยากจะใช้ต้องใช้ให้เร็ว

 

“ถ้าให้พูดในแง่มุมทั้งหมด เราน่าจะฉีดวัคซีนให้เร็วกว่านี้อีก กระจายจุดฉีดมากกว่านี้ จากหน้างาน คนติดเชื้อขณะที่รอฉีดวัคซีนมีจำนวนมาก เพราะความแออัด อย่างในมิติของการตรวจหาเชื้อ ถ้า ATK ผลเป็น Positive ขอฟาวิพิราเวียร์ได้แล้ว แต่ก็คิดว่ายังจะต้องปรับอีก เพราะคุณจะต้องมีเอกสารยืนยันผลที่บอกว่า Antigen Positive ในการเบิกยา ถ้าคุณซื้อชุดตรวจมาตรวจเองจะเบิกยาไม่ได้ อาจต้องทำให้ระบบมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการให้ยา รวมถึงฟาวิพิราเวียร์เองก็ควรจะเข้าถึงได้ง่ายเพราะเป็นยาเม็ด ควรจะเริ่มให้ได้ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

 

“การเบิกจ่ายฟาวิพิราเวียร์ควรง่ายขึ้น เรมเดซิเวียร์ควรใช้ได้มากขึ้น ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ไม่ใช่ให้เฉพาะคนกลุ่มสีแดงเข้ม หมอคิดว่าเราอาจจะต้องไปปรับว่า การกักตัวอาจไม่ใช่ 14 วันแล้ว อาจจะต้องเป็น 10 วันและไปกักต่อที่บ้าน แต่บางคนอาจจะอยู่ให้ครบ 14 วันเพื่อให้ไม่แพร่เชื้อและปลอดภัยกับคนอื่น อาจต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่าไวรัสติดจากการหายใจรดกันหรือเป็นละอองฝอย (Airborne) โดยเฉพาะการอยู่ในพื้นที่แคบมาก ถ้ามีห้องกักตัวที่บ้าน ก็ควรจะกลับไปกักต่อที่บ้านได้ อีกทั้งควรสร้างความเข้าใจเรื่องระยะการแพร่เชื้อที่ถูกต้อง สาธารณสุขจะไปยึดกับ 28 วัน คือมันเกิน 100% แล้วว่าไม่แพร่เชื้อแน่นอน แต่ในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจตัวเลขดังกล่าวอาจไม่เป็นตัวเลขที่ถูกต้องนัก”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X