“รีเมกกันอยู่นั่นแหละ ไม่มูฟออนไปไหนสักที” นี่คือหนึ่งในคอมเมนต์ที่ได้เห็นกันบ่อยๆ เมื่อตั้งกระทู้ถามว่าทำไมคนถึงเลิกดูละครไทย แล้วเมื่อลองไปดูผังละครของทีวีช่องหลักก็พบว่าตอนนี้ละครที่ออกอากาศอยู่เกิน 70% ก็เป็นละครรีเมกอย่างที่ว่าจริงๆ เป็นเพราะอะไร? คนเขียนบทไทยหมดมุกหรืออย่างไร? หรือสังคมไทยชอบวนๆ อยู่กับอะไรเดิมๆ?
ภาพจาก เกมล่าทรชน
ลองดูที่ผังละครช่อง 3 ในช่วงเวลาหลักแบบไม่นับละครรีรันก็มี เกมล่าทรชน ที่รีเมกมาจาก พระจันทร์ลายพยัคฆ์ ละครฮิตของช่อง 7 ในปี 2553 หรือ Help Me คุณผีช่วยด้วย ก็เป็นงานรีเมกมาจากเรื่อง เกิดแต่ชาติปางไหน ส่วนละครเย็นเรตติ้งแรงอย่าง นางฟ้าอสูร ก็รีเมกมาจากภาพยนตร์เรื่อง อุ้งมือมาร เมื่อปี 2529 ขณะที่ช่อง one31 ปล่อย กระเช้าสีดา และ พระจันทร์แดง ก็เป็นงานรีเมก ตามมาด้วย วิมานทราย ที่กำลังจะลงจอก็เป็นการเอางานเก่าเมื่อปี 2548 กลับมาทำใหม่ ขณะที่ช่อง 8 ก็ส่ง สูตรเล่ห์เสน่หา งานรีเมกมาจาก คุณแจ๋วกะเพราไก่ คุณชายไข่ดาว ส่วนช่อง 7 ตอนนี้ยังเป็นละครรีรันอยู่ แต่เมื่อย้อนดูลิสต์ละครปีนี้ของช่อง 7 ก็เป็นละครรีเมกเสียส่วนใหญ่ ข้อสังเกตก็คือเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจไม่ดีการการันตีเรื่องเรตติ้งเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ผู้ผลิตมักจะหยิบผลงานเก่าๆ มาปัดฝุ่นใหม่
ภาพจาก Help Me คุณผีช่วยด้วย
ข้อหนึ่งก็คือละครเหล่านี้มีฐานแฟนคลับอยู่แล้ว และคนดูและสื่อมวลชนเองก็มักจะตื่นเต้นกับนักแสดงที่จะมารับบทตัวละครคลาสสิก เรียกได้ว่าได้รับความสนใจแบบไม่ต้องโปรโมตอะไรมาก รวมถึงละครยุคใหม่ต้อง ‘ตก’ คนดูได้ตั้งแต่อีพีต้นๆ การที่ผู้ชมรู้เรื่องพื้นฐานอยู่แล้วก็ง่ายกว่าการต้องไปปูเรื่องใหม่ๆ อยู่ดี
อีกอย่างเมืองไทยก็ไม่ค่อยจะมียุคที่เศรษฐกิจดีเสียด้วย เลยทำให้เราได้ดูอะไรซ้ำๆ วนๆ จนเบื่อหน่าย ผู้เขียนเองไม่ได้ติดเรื่องรีเมก แต่สิ่งที่คาดหวังก็คือการนำเรื่องราวเหล่านั้นมาตีความใหม่ให้มีความแปลกแตกต่าง ใส่มิติตัวละครให้พลวัตไปกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งงานในยุคหลังๆ ก็ทำได้ค่อนข้างดี
ภาพจาก กระเช้าสีดา
อย่างเรื่อง แม่นากพระโขนง ที่ครองแชมป์ละครที่ถูกรีเมกมากที่สุดคือราวๆ 11 ครั้ง ตอนที่ทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง นางนาก ก็ประสบความสำเร็จเพราะมุมมองที่มีต่อตัวละครแม่นากนั้นเปลี่ยนไป ในขณะที่ละครเวอร์ชันล่าสุดทางช่อง 9 ที่ดูแล้วไม่มีอะไรใหม่ก็จบไปอย่างเงียบๆ หรืออย่าง กระเช้าสีดา ที่ใส่เรื่องเมโลดราม่าเข้าไปเยอะกว่าเวอร์ชันก่อน แต่การสร้างมิติตัวละครให้ฉลาด ทันเหลี่ยมทันเกมของกันและกัน ก็ทำให้ละครเรื่องนี้ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน อีกเรื่องที่สำคัญคือระยะเวลา ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทิ้งระยะห่างไม่ต่ำกว่า 10 ปี ให้เจเนอเรชันของคนดูเปลี่ยนไปก่อนค่อยนำกลับมาทำใหม่ แต่เมื่อได้เห็นโปรเจกต์รีเมกใหม่ๆ อย่าง เมียหลวง ที่ห่างจากเวอร์ชันเดิมราวๆ 5 ปี หรือ สามีเงินผ่อน ที่เคยทำเป็นละครเรื่อง เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ เมื่อไม่นานมานี้กำลังจะนำกลับมาทำใหม่ ก็ออกจะหวั่นใจว่านอกจากรสชาติของละครที่เปลี่ยนไปด้วยมือผู้จัดแล้ว จะได้เห็นอะไรที่แปลกแตกต่างหรือเปล่า
ส่วนข้อติติงถึงคนเขียนบทว่าหมดมุก ไม่มีความสามารถ ตรงจุดนี้ก็ไม่น่าจะจริง เพราะถ้าลองได้ดูงานละครหรือซีรีส์ทางบริการสตรีมมิง หรืองานจากผู้ผลิตหน้าใหม่ก็จะเห็นได้ว่าเขียนบทได้สนุก ซับซ้อนพอๆ กับซีรีส์จากต่างประเทศเลยทีเดียว แต่กับสื่อโทรทัศน์ที่มีข้อจำกัดมากกว่า และก็ต้องยอมรับว่าคนที่ยังดูโทรทัศน์อยู่ในปัจจุบันคือกลุ่มผู้ใหญ่ที่อาจจะไม่ได้ต้องการอะไรใหม่และเหนื่อยหน่ายกับการเปลี่ยนแปลง เลยทำให้ละครทีวีไทยเหมือนย่ำอยู่กับที่ ทั้งที่จริงๆ แล้วถ้ากล้าหยิบยกประเด็นสังคมหรือสะท้อนการใช้ชีวิตจริงๆ ของคนในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ก็พร้อมจะกลับไปนั่งหน้าจอทีวีเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้แม้แต่อาชีพยังแตะต้องไม่ได้ เราจึงได้เห็นแต่ละครว่าด้วยเรื่องของทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ ดารา เจ้าของฟาร์ม วนๆ อยู่แค่นี้ ทั้งๆ ที่รายละเอียดของแต่ละอาชีพมีมุมที่น่านำเสนอ และอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้เหมือนกัน
ภาพจาก สูตรเสน่หา
ตอนนี้เราเหมือนอยู่ในยุคที่เปลี่ยนผ่าน ผู้เขียนเชื่อว่าอีกไม่นานเมื่อละครไม่สะท้อนชีวิตจริงๆ ในสังคมมันก็จะล้มหายตายจากไปเอง หรือไม่ก็ต้องจับมันให้ไปอยู่ในไทม์แคปซูลเป็นละครพีเรียดไปเลย อย่าง จำเลยรัก หรือ ดาวพระศุกร์ ถ้านำกลับมาทำใหม่โดยยึดบทประพันธ์เดิมก็จะเกิดคำถามเรื่องความสมเหตุสมผล นอกเสียจากว่าจะเป็นไปได้ไหมที่โศรยาจาก จำเลยรัก พ.ศ. นี้จะถูกจับเป็นจำเลยโดยไม่ติดต่อสื่อสารกับใคร เพราะอยากตีแผ่เรื่องการใช้ความรุนแรงของนายหัวหฤษฎิ์ หรือการให้ตัวละครดาวพระศุกร์พาเราเข้าสู่ประเด็น Child Abuse และ Sex Worker แบบเข้มข้น ถ้าเป็นแบบนี้จะรีเมกอีกทีก็ได้ อย่างน้อยๆ ก็มีเรื่องใหม่ๆ ให้คนดูได้ตื่นเต้นขึ้นมาหน่อย