×

ที่ปรึกษา ศบค. ยืนยันจำเป็นต้องปลดโรคโควิดพ้นบริการวิกฤตฉุกเฉิน แล้วให้ไปรักษาตามสิทธิที่มี เหตุรัฐไม่มีเงินพออุดหนุน

โดย THE STANDARD TEAM
11.02.2022
  • LOADING...
อุดม คชินทร

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์) นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ยังเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดการณ์ โดยในช่วงปลายเดือนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะแตะถึง 17,000-18,000 รายต่อวัน โดยหวังว่าจะไม่ถึง 20,000 รายต่อวัน ทั้งนี้​ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของประชาชนทุกคน แต่หากเปรียบเทียบกับการเจ็บป่วยรุนแรงของประชาชนถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น้อย หากเปรียบเทียบกับการระบาดช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 ที่ประเทศไทยมีการระบาดอย่างรุนแรง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยถือว่าจำนวนผู้ป่วยรุนแรงลดลงกว่า 10 เท่า จาก 500 ราย เหลือเพียง 100 รายเท่านั้น ยืนยันระบบสาธารณสุขของไทย​ยังสามารถรองรับได้ และคนไทยมีวินัย แต่ต้องระมัดระวังเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อแตะ 20,000 รายต่อวันในอนาคต 

 

อย่างไรก็ตาม​ นพ.อุดมกล่าวว่า ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกกรณีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวัน แต่ขอเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างเหนื่อยล้า และขอประชาชนเข้ารับวัคซีนให้ครบโดส รวมไปถึงเข็มกระตุ้น เพราะมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะสามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ จึงอยากให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ยืนยันว่าขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ แต่ประชาชนฉีดน้อยลง และยืนยันว่า​มีเตียงรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอย่างเพียงพอ​ เพราะวางระบบเอาไว้อย่างดี โดยนำเอาบทเรียนครั้งที่ผ่านมามาเตรียมความพร้อม

 

ส่วนกรณีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าทำไมไทยจะต้องยกเลิกโรคโควิดออกจากบริการ UCEP หรือการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่มีสิทธิทุกที่ แล้วให้ไปใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ว่า​ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิดฟรี ที่ไม่มีประเทศใดดำเนินการเท่ากับประเทศไทย และต้องยอมรับว่ารัฐบาลรองรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ยกตัวอย่างในประเทศสวีเดน รัฐบาลสวีเดนยกเลิกกฎควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดเกือบทั้งหมดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยโควิด ทั้งที่เป็นประเทศที่ร่ำรวยกว่าไทย ส่วนตัวจึงเห็นว่าควรช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ และตอนนี้ต้องทำใจเพื่อเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ แต่ยืนยันรัฐบาลจะไม่ได้มีการประกาศยกเลิกโรคโควิดออกจากบริการ UCEP ในทันที แต่จะให้ประชาชนมีเวลาเตรียมตัว 1-2 เดือน ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ประชาชนไม่ใช่สาธารณสุข เพราะระบบสาธารณสุขไม่ได้มีปัญหา แต่ต้องปรับตามบริบท เพราะจะเห็นได้ชัดว่าสายพันธุ์โอมิครอนไม่ทำให้มีผู้ป่วยหนัก

 

ภาพ: แฟ้มภาพ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X