×

สัมพัทธภาพของเวลาในสนามฟุตบอล เมื่อเวลาที่หายไป ‘ไม่เท่ากับ’ เวลาที่เพิ่มขึ้นมา

08.08.2023
  • LOADING...
เวลา ใน สนามฟุตบอล

ภาษาอังกฤษมีสำนวนเกี่ยวกับกาลเวลามากมายครับ หนึ่งในนั้นคือคำว่า ‘Ninth-Tenths of Wisdom is Being Wise in Time’

 

เก้าส่วนสิบในปัญญาของมนุษย์ทั้งหลายนั้นคือความชาญฉลาดในการใช้เวลา

 

ในขณะที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้เป็นแรงบันดาลใจของมนุษยชาติ ได้เคยเขียนถึงตำราเกี่ยวกับสัมพัทธภาพของเวลาอันโด่งดัง โดยระบุว่า “เวลาจะผ่านไปเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าวัตถุนั้นๆ เคลื่อนที่เร็วหรือช้าสัมพัทธ์กับวัตถุอื่นๆ”

 

เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ไอน์สไตน์ได้ยกตัวอย่างให้มนุษย์ทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า สมมติเรามีคู่แฝดอยู่คู่หนึ่ง แล้วเราให้คนหนึ่งอยู่บนโลกสีน้ำเงินใบนี้ ส่วนอีกคนเราส่งเขาออกไปในกาลอวกาศด้วยความเร็วใกล้แสง

 

เวลาของแฝดทั้งสองจะไม่เท่ากัน โดยเวลาของแฝดที่อยู่นอกโลกจะช้ากว่าแฝดที่อยู่บนโลกเสมอ ไอน์สไตน์เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นปรากฏการณ์ ‘การยืดของเวลา’ (Time Dilation)

 

อย่างไรก็ดี วันนี้ไม่ได้จะมาชวนคุยเรื่องฟิสิกส์อะไรนะครับ แค่เพียงเกิดคำถามเกี่ยวกับเรื่องของเวลาขึ้นมา หลังจากที่ได้ชมเกมเอฟเอคอมมูนิตี้ชิลด์ ที่อาร์เซนอลพลิกสถานการณ์ด้วยการตีเสมอแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ในนาทีที่ 101

 

เกมนี้เป็นเกมแรกที่ฟุตบอลอังกฤษนำกฎการทดเวลาแบบใหม่มาใช้ให้เหมือนกับในฟุตบอลโลก 2022 ที่เป็นสนามทดลองใช้มาก่อน

 

แต่ปัญหาคือ เคยมีใครคิดสงสัยไหมว่าระหว่างคนนอกสนามกับคนในสนาม เวลาของเราและเขาเท่ากันไหม?

 

ที่ตั้งคำถามแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า เวลาสนามฟุตบอลจะเป็นปรากฏการณ์พิเศษทางธรรมชาติในระดับที่หากแตะเท้าก้าวลงไปบนฟลอร์หญ้าสีเขียวแล้ว กาลเวลาจะบิดเบี้ยวแตกต่างจากเส้นสีขาวนอกสนามอะไร

 

เพียงแต่มันมีเรื่องของ ‘ความรู้สึก’ ที่เกิดขึ้น และความจริงอาจมีมากกว่าแค่นั้นด้วย

 

 

เรื่องของการปรับเปลี่ยนการทดเวลานั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่บอร์ดสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (International Football Association Board: IFAB ซึ่งถึงจะบอกว่านานาชาติ แต่ความจริงมีไม่กี่ชาติ…) เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องของการทดเวลาเพิ่มในเกมฟุตบอลทั่วโลกให้เหมือนกับในฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว

 

IFAB ชี้ให้เห็นว่า แนวทางการเพิ่มจำนวนนาทีในการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่แม้อาจจะไม่คุ้นชินมากนักในช่วงแรกกับการเห็นการทดเวลาที่ยาวนาน แต่สุดท้ายแล้วแนวทางนี้ได้รับการตอบรับที่ดี

 

หลักใหญ่ใจความคือ ที่ผ่านมาเกมฟุตบอลมีจำนวนนาทีที่แข่งขันจริงๆ ในสนามเกินกว่าครึ่งไม่มากนัก เพราะตลอดทั้งเกมเต็มไปด้วยการหยุดและเริ่มใหม่ โดยที่นาฬิกาไม่ได้หยุดตามไปด้วยเหมือนบาสเกตบอลหรืออเมริกันฟุตบอล ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นลูกทุ่ม ลูกเตะมุม ลูกออกหลัง ลูกเซ็ตเพลย์ ลูกจุดโทษ การฉลองประตู ไปจนถึงการปฐมพยาบาลผู้เล่นบาดเจ็บ 

 

รวมถึงสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือ การถ่วงเวลาด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เตะเปิดเกมช้า หรือการแกล้งบาดเจ็บ อยู่ๆนักฟุตบอลที่ตื่นอยู่ก็ง่วงนอนขึ้นมาไม่อยากจะลุก (แต่พอผู้ตัดสินไม่เข้าข้าง ก็สามารถลุกขึ้นได้เฉยเลย?) 

 

ในฤดูกาลที่แล้ว (2022/23) เกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ มีเวลาที่มีการแข่งขันจริงๆ ในสนาม (Ball-in-Play Time) อยู่ที่ 54.52 นาที ขณะที่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์ เวลาที่เกมดำเนินไปอยู่ที่ 58.04 นาที

 

ความต่างอยู่ที่เกือบ 4 นาที ซึ่งสำหรับการแข่งขันฟุตบอล เวลาขนาดนี้มากเพียงพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในผลการแข่งขันได้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

โดยแนวทางปฏิบัติที่ IFAB เสนอเป็นไกด์ไลน์ให้และพรีเมียร์ลีกรับลูกแล้วมี 2 อย่างด้วยกัน

 

  1. คำนวณการทดเวลาให้แม่นยำขึ้น ซึ่งจะดูจากสถานการณ์จริง ไม่ได้คำนวณแบบ ‘คร่าวๆ’ เหมือนในอดีตที่จะทดเพิ่ม 30 วินาทีสำหรับการเปลี่ยนตัวหรือการฉลองประตูหนึ่งครั้ง
  2. ทำให้บอลกลับเข้ามาในสนามเร็วขึ้น ซึ่งตรงนี้พรีเมียร์ลีกมีการปรับตัวบ้างแล้วด้วยการให้มีการวางบอลไว้ 8 จุดรอบสนาม เพื่อให้ผู้เล่นนำบอลกลับมาเล่นได้ต่อเนื่อง ไม่เหมือนในอดีตที่จะมีลูกฟุตบอลในสนามแค่ลูกเดียว บางครั้งผู้เล่นเตะขึ้นอัฒจันทร์ แฟนบอลไม่ปาคืนมาให้ก็มี

 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นสำหรับคนที่มองเกมจากนอกสนาม 

 

ได้มีเวลาแข่งเต็มที่ คนดูได้ดูเต็มที่ และสปอนเซอร์ก็อาจจะได้แอร์ไทม์เพิ่มด้วย ไม่ดีตรงไหน?

 

ทีนี้กลับไปฝั่งของคนในสนาม ปัญหาใหญ่คือดูเหมือนจะไม่มีใครถามไถ่สุขภาพของพวกเขาสักคำ

 

 

เรื่องนี้คนที่ออกมาพูดเป็นคนแรกคือ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หลังจบเกมคอมมูนิตี้ชิลด์ ด้วยการบอกว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีใครมาปรึกษาคนที่ต้องได้รับผลกระทบเต็มๆ อย่างนักฟุตบอลหรือผู้จัดการทีมเลย

 

“มันเป็นคำถามที่ดีสำหรับ IFAB และคนเหล่านั้น เพราะพวกเขาไม่ได้มาปรึกษาผู้จัดการทีมหรือผู้เล่นเลย และพวกเราก็ทำได้แค่ต้องยอมรับเรื่องพวกนี้กับจำนวนเกมที่มี

 

“ตอนนี้มันคงจะมีเกมที่ยาวกว่า 100 นาทีแน่นอน ขนาดเกมวันนี้ที่แทบไม่มีอะไรยังทดเวลากัน 7 นาที พวกเขาเพิ่มเวลาไปก็เพื่อให้มีประตูเพิ่มขึ้น ถ้าสมมติยิงกัน 4-3 ก็จะต้องเพิ่มไปอีกประตูละ 45 วินาที แบบนั้นพรุ่งนี้ 9 โมงเช้าผมยังเตะกันไม่จบเลย”

 

คำพูดของเป๊ปออกแนวประชดประชันอยู่ในทีก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะทีมของเขา ‘เสียประโยชน์’ อย่างชัดเจน ซึ่งจะแตกต่างจาก มิเกล อาร์เตตา ลูกศิษย์ที่ได้ประโยชน์ เพราะอาร์เซนอลตีเสมอได้ในนาทีที่ 101 จาก เลอันโดร ทรอสซาด์ ซึ่งความจริงผู้ตัดสินที่ 4 ชูป้ายแค่ 8 นาที แต่มีการทดเพิ่มให้ เพราะมีการปฐมพยาบาล ไคล์ วอล์กเกอร์ และ โธมัส ปาร์ตีย์ ที่ศีรษะกระแทกกันในจังหวะลูกเตะมุม

 

อาร์เตตามองว่าทำแบบนี้แหละดี เพราะมันทำให้คนที่ชอบถ่วงเวลาต้องคิดแล้ว และเขาจะเตรียมทีมให้พร้อมสำหรับการแข่งที่นานกว่า 100 นาที เพราะมันจะเกิดขึ้นในทุกสัปดาห์อย่างแน่นอน

 

ถ้าสังเกตจะเห็นว่าทั้งเป๊ปและอาร์เตตาพูดเหมือนกันคำหนึ่งนะครับ คือคำว่า ‘เกมที่ยาวนานกว่า 100 นาที’

 

สำหรับเกมฟุตบอลที่ปกติแล้วมีการแข่งขันกัน 90 นาที โดยแบ่งเป็นครึ่งละ 45 นาที การ ‘ทดเวลา’ (Stoppage Time / Injury Time / Added Time)  เพิ่มให้นั้น จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปไกลถึงปี 1891 เลยทีเดียว โดยกฎนี้เกิดขึ้นหลังเกมระหว่างแอสตัน วิลลา กับสโต๊ก ซิตี้ 

 

ปรากฏว่า ผู้รักษาประตูของวิลลาซึ่งทีมนำอยู่ 1-0 ตั้งใจเตะบอลทิ้งออกไปไกลๆ ในช่วงท้ายเกม เพื่อให้ทีมมั่นใจว่าจะเป็นผู้ชนะ ทำให้หลังจากนั้นมีการเสนอให้มีการเพิ่มเวลาในเกมเข้าไป เพื่อชดเชยเวลาที่หายไป

 

แต่ปัญหาคือ เวลาที่หายไปมันไม่เคยเท่ากับเวลาที่เพิ่มขึ้นมา เพราะที่ผ่านมาไม่เคยใช้หลักการทดเวลาเพื่อชดเชยเวลาในการเล่นที่หายไป

 

ความพยายามที่จะเพิ่มเวลากลับมานั้นไม่ได้เป็นผลดีอย่างเดียว ในทางตรงกันข้าม นักฟุตบอลที่เป็นคนได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุดแสดงความกังวล

 

คนที่ออกมาส่งเสียงดังที่สุดคือ ราฟาเอล วาราน ปราการหลังที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในคนที่น่านับถือที่สุดของวงการ ถึงกับเขียนจดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับการเพิ่มการทดเวลาเข้าไปในเกมว่า ไม่ต่างอะไรจากการเพิ่มภาระให้แก่พวกเขา

 

 

ปราการหลังแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บอกครับว่า จริงๆ แล้วพวกเขาได้มีการประชุมร่วมกับสมาคมฟุตบอล ที่มีการแนะนำเรื่องกฎการตัดสินใหม่ๆ ซึ่งในมุมของผู้เล่นและผู้จัดการทีมได้มีการแสดงความกังวลเหมือนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาว่า จำนวนเกมที่ลงแข่งขันมันมากจนเกินไป โปรแกรมหนักและแน่นมาก

 

มากในระดับที่สามารถเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งทางกายและใจได้

 

แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับหลังจากการให้ความเห็นไปคือ ‘เกมที่ยาวขึ้น’ เกมที่จะเข้มข้นขึ้น มิหนำซ้ำนักฟุตบอลยังถูกสั่งห้ามไม่ให้แสดงความรู้สึก (มีการตั้งกฎเพื่อปกป้องผู้ตัดสิน) และสุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะกลับมา ‘ทำร้าย’ เกมฟุตบอลของทุกคน


ในความเห็นส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการทดเวลาแบบใหม่นักนะครับ

 

ไม่ใช่ว่าเห็นดีเห็นงามไปกับสารพัดสูตรการถ่วงเวลา (โดยเฉพาะพวกนักบอลขี้ง่วงแถวอาเซียนเนี่ย!) แต่ในฐานะคนที่เตะฟุตบอลเป็นประจำด้วย จำนวนนาทีที่เพิ่มขึ้นในสนามนั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ผมว่าผมพอเข้าใจสิ่งที่วารานกังวล

 

เช่นเดียวกับอีกคนอย่าง เควิน เดอ บรอยน์ จอมทัพแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็เป็นอีกคนที่ออกมาส่งเสียงว่า ตอนนี้พวกนักฟุตบอลต้องเตรียมใจเจอเวลาที่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างน้อยเกมละ 15 นาที ซึ่งเปรียบไปก็เหมือนกับการเตะช่วงต่อเวลาพิเศษ (Extra Time) เพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

 

เรื่องนี้มันส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจอย่างมหาศาลครับ นักฟุตบอลถูกเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับเกม 90 นาที จำนวนนาทีที่เพิ่มขึ้นใครจะชดเชยเวลา ร่างกาย และจิตใจที่เสียไปของพวกเขา (ซึ่งความจริงผู้ตัดสินเองก็ได้รับผลกระทบด้วย และพวกเขาก็ดูเหมือนจะ ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะมันเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีก)

 

และอย่าลืมว่าฟุตบอลทัวร์นาเมนต์อย่างฟุตบอลโลกกับฟุตบอลลีกมีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องของจำนวนเกม

 

ฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญอย่างฟุตบอลโลกนั้นเตะกันจนถึงนัดชิงชนะเลิศคือ 7 นัด แต่ฟุตบอลลีกอย่างพรีเมียร์ลีกนั้นเตะทั้งปี 38 นัด ไม่นับฟุตบอลถ้วยต่างๆ ซึ่งสำหรับนักฟุตบอลสโมสรใหญ่อาจต้องลงเล่นมากถึง 50-60 นัดต่อฤดูกาล

 

ความสึกหรอย่อมมีมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และปัญหาคือดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครใส่ใจในมุมนี้

 

ดังนั้นต่อให้เราได้เวลาในการแข่งขันในสนามจริงๆ เพิ่มกลับคืนมา

 

แต่มันไม่ได้เท่ากับหรือมีคุณค่าในแบบเดียวกับเวลาที่หายไป

 

ลองตั้งคำถามในหัวใจกันเล่นๆ ดูนะครับว่า ตกลงแบบนี้ดีจริงๆ แล้วใช่ไหม?

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X