ในภาพความทรงจำของผู้คน โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ คือนักเทนนิสผู้ได้รับการยกย่องว่าเปี่ยมด้วยพรสวรรค์ในการเล่นที่สุดคนหนึ่ง
มีการเปรียบเปรยว่า เฟเดอเรอร์เล่นเทนนิสเหมือนเต้นบัลเลต์ มันช่างงดงาม อ่อนช้อย ลื่นไหล ดูแล้วเจริญตา
บ้างก็บอกว่าการได้ไปนั่งดูยอดนักเทนนิสชาวสวิสลงแข่งที่สนามไม่ต่างอะไรจากการเข้าพิธีกรรมอันลึกซึ้งทางศาสนา มันลึกซึ้ง เข้าถึงความสุขที่แท้จริง พบกับความปีติทางจิตใจ เหมือนได้พบแสงสว่างนำทางชีวิต
แต่เพราะเช่นนั้นเองที่อาจทำให้เรามองข้ามหรือไม่ทันคิดถึงสิ่งที่หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพที่สวยงามเหล่านั้น ว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ยอดนักเทนนิสพรสวรรค์ระดับร้อยปีจะมีสักคนอย่างเขาต้องใช้ความพยายามมากสักแค่ไหน ในการยืนหยัดเพื่อยืนอยู่ ณ จุดสูงสุดมาอย่างยาวนานตลอดชีวิตการเล่น 24 ปีของเขา
ของแบบนี้มันมี ‘เคล็ดวิชาลับ’ อยู่ครับ
สิ่งนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า Reinvention หรือการค้นหาตัวตนในรูปแบบใหม่ การเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น ซึ่งเฟเดอเรอร์ไม่ได้ทำแค่ครั้งหรือสองครั้ง แต่เขาผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วมากมายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ต้องลงแข่งมากกว่า 1,500 แมตช์ และเป็นนักเทนนิสคนแรกที่คว้าแกรนด์สแลมได้ถึง 20 ครั้ง
วันนี้ขอนำเคล็ดวิชานี้มาถ่ายทอดต่อเพื่อเป็นการส่งท้ายให้แก่ G.O.A.T. ของวงการเทนนิสที่จะลงแข่งขันเป็นครั้งสุดท้ายในค่ำคืนนี้ครับ 🙂
Reinvent ครั้งแรก: เปลี่ยนน้ำเดือดให้เป็นน้ำแข็ง
ความสุขุมนุ่มลึกของเฟเดอเรอร์ในทุกวันนี้อาจทำให้หลายคนที่ไม่ทันได้ติดตามหรือเคยตามแต่ก็อาจหลงลืมได้ว่า ในวัยหนุ่มเขาคือนักเทนนิสเลือดเดือดคนหนึ่งของวงการ
ตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นจูเนียร์จนถึงการเริ่มเทิร์นโปรในปี 1998 เฟดเป็นคนหัวร้อนที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่พลุ่งพล่านในระหว่างเกม โมหะและโทสะเข้าครอบงำจิตใจหลายครั้ง บ้างก็ถูกระบายออกมาผ่านคำพูดหรือกริยาท่าทาง บ้างก็ระเบิดออกมาใส่แร็กเก็ตเจ้ากรรมที่ต้องรับเคราะห์ถูกฟาด ถูกขว้าง
ความเดือดดาลนั้นเกิดขึ้นจากการที่เขาเสียท่าต่อคู่แข่งที่เจ้าตัวก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่าเก่งไม่เท่าตัวเขา หรืออาจบอกได้ว่าเพราะพรสวรรค์ที่มีติดตัวมันทำให้เขาเกิดความจองหองขึ้นก็ว่าได้
แต่เพราะเทนนิสนั้นเป็นกีฬาที่ไม่ได้แข่งกับคู่แข่งอย่างเดียว นักเทนนิสยังต้องแข่งกับตัวเองด้วย และถ้าควบคุมจิตใจไม่ได้ก็ไม่มีทางจะเอาชนะคู่แข่งได้ ซึ่งเรื่องนี้เฟเดอเรอร์ตระหนักในใจ
ระหว่าง บียอร์น บอร์ก กับ จอห์น แมคเอนโร สองนักเทนนิสระดับตำนานรุ่นก่อนที่มีสไตล์แตกต่างกัน เขาอยากเป็นเหมือนบอร์กผู้เป็นเหมือน ‘น้ำ’ มากกว่าจะเป็นแมคเอนโรผู้ที่ร้อนรุ่มเหมือน ‘ไฟ’ ที่เผาผลาญทุกสิ่ง
สิ่งนี้ไม่ใช่แค่คิดแล้วจะทำได้ทันที เฟเดอเรอร์ใช้เวลานานพอสมควรก่อนที่จะพบจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในแมตช์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตในรายการวิมเบิลดัน 2001 ที่เขาสามารถล้ม พีต แซมพราส ได้สำเร็จด้วยการเล่นที่เยือกเย็นประดุจน้ำแข็ง
การค้นพบตัวตนในวันนั้นนำไปสู่การคว้าแชมป์แกรนด์สแลมแรกของเขาในวิมเบิลดัน 2003 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานแกรนด์สแลม 20 สมัยคนแรก
เรื่องนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่เฟเดอเรอร์ภูมิใจที่สุด เพราะในที่สุดเขาก็เป็นคนในแบบที่ ปีเตอร์ คาร์เตอร์ โค้ชและครูคนแรกที่เขารักอย่างยิ่ง อยากให้เป็น นักเทนนิสที่สงบ เยือกเย็น และใช้พรสวรรค์ที่มีในทางที่ถูกที่ควร
สิ่งเดียวที่น่าเสียดายคือ คาร์เตอร์ไม่ทันได้เห็นลูกศิษย์คนนี้ได้แชมป์แกรนด์สแลมเลยสักครั้ง เพราะจากไปก่อนเวลาอันควรด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในระหว่างเดินทางไปฮันนีมูนกับคู่ชีวิตที่แอฟริกาใต้ในปี 2002
แต่ถึงคาร์เตอร์จะไม่อยู่ แต่ลูกศิษย์คนนี้ไม่เคยลืมคำสอนเลยจนถึงวันนี้
Reinvent ครั้งที่ 2: จากพรสวรรค์สู่พรแสวง
ในช่วงเวลาเดียวกับการพยายามเปลี่ยนแปลงความคิดและจิตใจ อีกสิ่งที่เฟเดอเรอร์มีปัญหาและเป็นสิ่งที่หลายคนก็เห็นคือ การที่เขาเก่งแต่ไม่แกร่ง
ไม่แกร่งในที่นี้คือการที่สภาพร่างกายของเขายังถือว่าด้อยอยู่มากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระดับท็อปของโลก ชนิดที่หนึ่งในทีมโค้ชของเขาในเวลานั้นอย่าง ปีเตอร์ ลุนด์เกรน ยังเคยบอกว่า “เขามันขี้เกียจ”
เรื่องนี้ก็พอเข้าใจได้ว่าเพราะพรสวรรค์ที่มีติดตัวมาทำให้เฟเดอเรอร์รู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามอะไรให้มันเหนื่อยยากนัก แค่ฝีมือล้วนๆ ก็น่าจะเพียงพอต่อการคว้าชัยชนะแล้ว ซึ่งมันก็จริง เพราะเขาคว้าชัยชนะได้ในหลายๆ ครั้งด้วยพรสวรรค์ล้วนๆ
แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้พบกับ เมียร์กา วาวริเนค นักเทนนิสหญิงร่วมทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงของการลงแข่งในรายการโอลิมปิก 2000 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งนักเทนนิสสาวที่ต่อมากลายเป็นคู่ชีวิตของเขาลงฝึกซ้อมร่างกายอย่างหนักถึงวันละ 5-6 ชั่วโมง
ความมุ่งมั่นของวาวริเนคทำให้เฟดตั้งคำถามกับตัวเองว่าที่ผ่านมาเขาทำอะไรอยู่
สุดท้ายในช่วงปลายปีนั้นเขาตัดสินใจจ้าง ปิแอร์ ปากานินี โค้ชฟิตเนส มาเพื่อเพิ่มศักยภาพสภาพร่างกายของเขาโดยเฉพาะ ซึ่งในช่วงแรกนั้นโค้ชชาวอิตาลีพบว่า ที่ผ่านมาเฟเดอเรอร์รอดตัวมาได้เพราะพรสวรรค์ล้วนๆ เพราะร่างกายของเขาห่างไกลจากคำว่าดีที่สุดมาก
ปากานินีจึงตั้งเป้าที่จะใช้เวลา 3 ปี เพื่อเปลี่ยนจอมขี้เกียจคนนี้ให้เป็นจอมฟิตให้ได้ และด้วยความตั้งใจของเฟเดอเรอร์เองด้วย ทำให้ทั้งคู่ทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ ซึ่งในปี 2003 เขาก็คว้าแกรนด์สแลมแรกได้สำเร็จ ก่อนจะรันวงการไปแบบไร้คู่แข่งอีกหลายปี
และร่างกายที่แข็งแกร่งเป็นสุดยอดนักกีฬานี้ได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เขายืนหยัดตลอดชีวิตการเล่นที่เหลือ ที่ทำให้สามารถต่อกรกับคู่ต่อสู้ได้ทุกคน และไม่ว่าวันนั้นจะชนะหรือแพ้ (ส่วนใหญ่จะชนะ) เฟดจะทำให้คู่ต่อสู้ต้องเจอกับเกมตึงมือระดับรากเลือดทุกแมตช์ไป
ต้องขอบคุณเมียข้า เอ้ย เมียร์กา มา ณ ที่นี้ด้วยที่ทำให้เฟดรู้
Reinvent ครั้งที่ 3: เส้นทางเก่าถูกปิด หมายถึงเส้นทางใหม่เกิดขึ้นเสมอ
ในยุคต้นทศวรรษ 2000 เกมเทนนิส โดยเฉพาะบนคอร์ตหญ้าอย่างวิมเบิลดัน นั้นเป็นเหมือนการดวลกันของเหล่าปืนใหญ่
ด้วยสภาพของพื้นหญ้าบนคอร์ตทำให้เกมเล่นกันเร็วและแรงมาก ดังนั้นใครพลังแขนดีกว่า หนักกว่า ก็มีโอกาสจะเก็บชัยชนะได้มากกว่า เหมือนในปี 2001 ที่ 4 คนสุดท้ายที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศเป็นสายเสิร์ฟหนักถึง 3 คน คือ โกรัน อิวานิเซวิช, แพต ราฟเตอร์ และ ทิม เฮนแมน
ส่วนอีกคนก็คือเฟเดอเรอร์ ซึ่งล้ม พีท แซมพราส ได้ (เป็นแมตช์แห่งการส่งต่อยุคสมัย) เขาก็ชอบสไตล์เกมเร็วแบบนี้ เพราะเป็นคนที่มีปฏิกิริยาตอบสนองเป็นเลิศ และยังเล่นหน้าเน็ตได้เก่ง ดังนั้นเกมหนักและไวไม่ใช่ปัญหา
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นวงการเทนนิสมีการเปลี่ยนแปลง เพราะอยากให้มีการแข่งที่ยาวขึ้นบนคอร์ตหญ้า จึงมีการเปลี่ยนชนิดของหญ้า ทำให้การกระดอนของลูกบอลช้าลง มีการตีโต้กันมากขึ้น ทำให้จอมเสิร์ฟทั้งหลายต้องเจอปัญหาใหญ่ในเวลานั้น
แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นทำให้เฟเดอเรอร์ค้นพบสไตล์ใหม่ของตัวเอง จากขึ้นหน้าเน็ตมาสู่การยืนท้ายคอร์ต ซึ่งด้วยการตีลูกโฟร์แฮนด์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ไม่มี 2 ของโลก บวกกับการเสิร์ฟที่ทั้งหนักและแม่นยำจนคนบูชาว่าเป็นนักเทนนิสที่เสิร์ฟเก่งที่สุดคนหนึ่งที่เคยมีมา ทำให้เขากวาดชัยชนะได้อย่างง่ายดาย
การเปลี่ยนแปลงสไตล์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะน้อมรับการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ โดยเฉพาะคนเก่งที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ แต่เฟเดอเรอร์นอกจากจะมองเห็นว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น เขายังยินดีที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองด้วย
ไม่นานหลังได้แชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรก เฟเดอเรอร์ก็เก็บแกรนด์สแลมได้อีก 4 ครั้ง (ขาดไปก็แค่เฟรนช์โอเพน 2004)
ในนัดชิงยูเอสโอเพน 2004 เฟเดอเรอร์สยบ เลย์ตัน ฮิววิตต์ เจ้าของแชมป์ในปีก่อน ได้อย่างง่ายดาย 6-0, 7-6 (ไทเบรก 7-3) และ 6-0
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ จึงกลายเป็นนักเทนนิสผู้ไร้เทียมทานหาคู่แข่งไม่เจออยู่เป็นระยะเวลานาน
Reinvent ครั้งที่ 4: จากจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง
ฟ้าอาจกลัววงการเทนนิสน่าเบื่อ จึงส่ง ราฟาเอล นาดาล ไอ้หนุ่มผมยาวชาวสเปน มาเพื่อเป็นคู่แข่งตลอดชีวิตของเฟเดอเรอร์ และสอนบทเรียนที่สำคัญให้แก่ยอดนักเทนนิสเบอร์หนึ่งของโลกว่า
ไม่มีอะไรในโลกนี้หรอกที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง แม้จะเป็น โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ก็เถอะ
นาดาลมอบบทเรียนนี้ให้แก่เขาในรายการเฟรนช์โอเพน 2005 โดยไอ้หนุ่มมาดเซอร์ที่ขณะนั้นเพิ่งจะอายุ 19 ปีสยบเฟเดอเรอร์ลงได้ในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะพลังกระทิงหนุ่มอย่างเดียวเท่านั้น
ชัยชนะของนาดาลเกิดขึ้นจากการศึกษาคู่แข่งมาเป็นอย่างดี และมุ่งเป้าไปที่จุดอ่อนของเฟเดอเรอร์อย่างลูกแบ็กแฮนด์ ซึ่งแม้จะเคยถูกมองว่าเป็นท่วงท่าการตีที่งดงาม แต่ตอนนี้มันคือจุดอ่อนใหญ่ในการเล่นของเขา
เรื่องการปรากฏตัวของนาดาลนั้นเป็นสิ่งที่เฟเดอเรอร์ไม่ได้คิดมาก่อนและไม่เคยต้องการด้วย โดยเขาเคยเล่าเรื่องนี้ในสารคดีชีวประวัติฉบับสมบูรณ์ Stroke of Genius ว่า ผมไม่เคยอยากมีคู่แข่งเลย ผมอยากให้เป็นว่าผมเก่งที่สุด ส่วนคนที่เหลือก็รองลงไป ตอนนั้นผมมองแค่นั้น…แล้วราฟาก็โผล่เข้ามา ตอนแรกผมคิดว่าผมก็ควรจะดีใจที่ได้มีคู่แข่งและเขาก็ไม่ไปไหนด้วย
คู่แข่งแห่งชีวิตที่ต่อมากลายเป็น ‘ศัตรูที่รัก’ คนนี้ทำให้เขายอมรับความจริง “บางทีผมอาจต้องปรับเกมของผมในการเจอเขา และเขาก็ต้องยอมรับในสิ่งนี้ด้วยเหมือนกัน”
ตอนนี้เฟเดอเรอร์รู้แล้วว่าลูกแบ็กแฮนด์ของเขาคือจุดอ่อน และถ้าเขาอยากจะเอาชนะนาดาลให้ได้เขาก็ต้องพัฒนาในส่วนนี้ ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็ทำได้ดีขึ้นจริงๆ และสามารถเอาชนะนาดาลได้ในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 2 ปีติดในปี 2006 และ 2007
และลูกแบ็กแฮนด์นี้เคยเกือบจะช่วยให้เขาพลิกเกมกลับมาได้ด้วยช็อตการตีที่เจ้าตัวบอกว่าเป็น Best Shot ในชีวิตของเขา แม้ว่าสุดท้ายจะพ่ายในนัดชิง 2008 ซึ่งกลายเป็น Epic Final ของทั้งคู่และของวงการเทนนิสก็ตาม ก่อนที่ทั้งคู่จะขับเคี่ยวและเป็นแรงผลักดันซึ่งกันและกันมาโดยตลอด
เรียกได้ว่าเฟเดอเรอร์ใช้ประโยชน์จากการได้มีคู่แข่งที่สุดยอดอย่างนาดาลช่วยพัฒนาเกมของเขาไปอีกขั้น กลายเป็นนักเทนนิสที่ครบเครื่องต้มยำมากขึ้นไปอีก ตีได้ทุกรูปแบบ ทุกสไตล์
Reinvent ครั้งสุดท้าย: ผู้ท้าทายโชคชะตา
ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า นี่คือสัจธรรมของชีวิต ดังนั้นต่อให้เป็นคนที่เก่งกาจเพียงใด เมื่อวันผันเวลาผ่านความเก่งกาจนั้นก็มิได้อยู่คงทน
ตามธรรมชาติของเกมเทนนิสว่ากันว่าอายุการใช้งานของนักเทนนิสชายนั้นอย่างดีที่สุดจะเก่งกาจได้จนถึงสักอายุ 30 ต้นๆ หลังจากนั้นก็จะเป็นขาลงด้วยสังขารที่โรยราลงไปตามเวลา จนไม่อาจต่อสู้กับนักเทนนิสรุ่นใหม่ที่หนุ่มแน่น กำลังวังชาดีกว่า เหมือนที่ครั้งหนึ่งเฟเดอเรอร์ในวัยหนุ่มมัดผมหางม้าโค่น พีต แซมพราส นักเทนนิสผู้เก่งกาจที่สุดของยุคสมัยลงได้
ตัวเขาเองก็หนีสัจธรรมนี้ไม่พ้นเหมือนกัน นอกจากนาดาลแล้ว โลกยังส่ง โนวัค ยอโควิช นักเทนนิสชาวเซอร์เบียที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ครองวงการในช่วงปี 2011-2016 ซึ่งเฟเดอเรอร์ในวัยย่างเข้า 30 นอกจากกำลังวังชาจะน้อยลง อาการบาดเจ็บที่หลังก็สร้างปัญหาให้แก่เขาอย่างมากทีเดียว
ถ้าเป็นคนอื่นก็อาจยอมรับโชคชะตาและเตรียมใจที่จะนับถอยหลังถึงวันอำลา
แต่สำหรับเฟเดอเรอร์ เขาปฏิเสธที่จะยอมแพ้ง่ายๆ และเลือกที่จะท้าทายต่อโชคชะตา โดยหลังจบฤดูกาล 2013 ที่เป็นปีที่แย่ที่สุดในชีวิตการเล่นของเขา เฟดจ้าง สเตฟาน เอ็ดเบิร์ก อดีตนักเทนนิสระดับตำนานผู้เชี่ยวชาญการเล่นในแบบ Serve-and-Volleyer เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสไตล์การเล่นของตัวเองอีกหน
เมื่อร่างกายไม่แข็งแรงพอจะยืนระยะที่เบสไลน์ได้ การกลับไปเน้นการเสิร์ฟและขึ้นหน้าเน็ตเพื่อปิดเกมให้ไวเหมือนในสมัยเป็นวัยรุ่นจึงกลับมาเป็นตัวเลือกที่ดีอีกครั้ง ซึ่งเอ็ดเบิร์กสอนลูกไม้คลาสสิกของเขาที่เรียกว่า ‘Chip and Charge’ (ซึ่งต่อมามีการเรียกเป็น SABR หรือ Sneak Attack by Roger)
สไตล์นี้ทำให้เขากลับมาทำผลงานได้ดีขึ้น และจากช่วงมืดมนอนธการในปี 2013, 2014 และ 2015 เฟเดอเรอร์สามารถกลับเข้าชิงแกรนด์สแลมได้ถึง 3 ครั้ง แม้ว่ามันจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ต่อยอโควิชทั้ง 3 ครั้งก็ตาม
พยายามขนาดนี้แล้วยังไม่สำเร็จ คิดว่าเฟดจะยอมแพ้ไหม?
ไม่มีทาง! เพื่อจะหาทางกลับมาให้ได้ เขาและทีมงานพยายามคิดหาหนทางในการที่จะแก้ไขความผิดพลาด และค้นพบคำตอบในการแก้ปัญหาช็อตการตีที่แม่นยำน้อยลง โดยเฉพาะลูกแบ็กแฮนด์ (อีกแล้ว) ด้วยการยอมทำในสิ่งที่เขาต่อต้านมาตลอดคือ การใช้แร็กเก็ตสมัยใหม่ ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นจาก 90 นิ้ว เป็น 97 นิ้ว
แต่ในระหว่างที่กำลังจะดีๆ นั้น เขาก็ต้องประสบปัญหาอาการบาดเจ็บรุนแรงที่เข่าในปี 2016 จากอุบัติเหตุที่เหลือเชื่อในระหว่างการจะอาบน้ำให้ลูกสาว ถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัดและทำให้ต้องหายหน้าไปเกือบปี
อายุก็มาก เข่าที่สำคัญดันมาบาดเจ็บรุนแรงหนักอีก แต่แทนที่เฟเดอเรอร์จะยอมรับโชคชะตาง่ายๆ เขาใช้ช่วงเวลาที่หายไปในการ Reinvent ตัวเองอีกครั้ง ด้วยการแก้ไขแบ็กแฮนด์แบบจริงจังผ่านการแนะนำของ อิวาน ลูบิซิช ที่มาแทนที่เอ็ดเบิร์ก ด้วยการทำให้การสวิงสั้นลงและเลือกช็อตการเล่นที่ง่ายขึ้น
เรื่องนี้เมื่อรวมกับการยอมใช้แร็กเก็ตที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เขากลับมาอีกครั้ง โดยเอาชนะ ราฟาเอล นาดาล ได้ในรอบชิงออสเตรเลียนโอเพน 2017 ทัวร์นาเมนต์แรกหลังจากที่หายหน้าไปถึง 6 เดือน โดยในแมตช์นั้นเขาตีแบ็กแฮนด์วินเนอร์ได้ 14 ครั้ง ขณะที่นาดาลทำได้แค่ 9 ครั้ง
ลูกแบ็กแฮนด์ใหม่ยังทำให้เขาปราบนาดาลได้หลังจากนั้นอีกถึง 6 จาก 7 ครั้ง และ ‘Federer 3.0’ ก็ยังเดินหน้าคว้าแชมป์วิมเบิลดันในปีเดียวกัน ก่อนจะป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้ปีถัดไปคือ 2018 ทำให้เป็นนักเทนนิสคนแรกที่คว้าแกรนด์สแลมได้ถึง 20 สมัย
โดยที่ตอนนั้นเขาอายุ 36 ปีแล้ว
แต่สุดท้ายสัจธรรมของชีวิตก็ทำให้เฟเดอเรอร์ต้องยอมจำนนจนได้ โดยหลังอกหักเมื่อไม่สามารถสยบยอโควิชได้ในศึกวิมเบิลดัน 2019 ที่เขาได้เปรียบถึง 2 Championship Points (ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ที่ชอกช้ำที่สุดอีกครั้ง) ร่างกายที่กรำศึกหนักมาโดยตลอดของเขาได้เริ่มต่อต้านเจ้านาย
เฟเดอเรอร์ต้องพักการเล่นเป็นเวลานาน และนานๆ จะได้กลับมาทีหนึ่ง ซึ่งแม้ทุกครั้งเขาจะบอกว่าเขากำลังพยายามที่จะกลับมา แต่สุดท้ายก็ยอมรับว่าเวลาของเขามันได้หมดลงแล้ว
อย่างไรก็ดี คุณูปการที่เขาได้มอบให้แก่วงการเทนนิสนั้นมีมากมายจนเหลือจะกล่าว ในฐานะคนที่ยกระดับวงการเทนนิสให้ขึ้นไปสูงอีกขั้น ในฐานะคนที่มีน้ำใจนักกีฬากล้าหาญ ช่วยทำให้เทนนิสกลายเป็นเกมกีฬาที่งดงามและมีแฟนๆ หน้าใหม่อีกหลายล้านคนทั่วโลก
และในฐานะของแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ ไม่เฉพาะแต่ในหมู่นักกีฬาคู่แข่งขันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกคนบนโลกที่สามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เขาทุ่มเทตลอด 24 ปีที่ผ่านมาได้อย่างมากมาย
เคล็ดวิชา Reinvention ที่หยิบมาเล่าในวันนี้ก็เช่นกัน คือสิ่งที่เฟเดอเรอร์ได้บอกแก่ทุกคนอย่างอ้อมๆ ว่าเราสามารถค้นพบตัวตนใหม่และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้เสมอ
ขอเพียงแค่เต็มใจที่จะยอมรับความผิดพลาดและตั้งใจที่จะทำตัวใหม่ ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ไม่ได้กล่าวไว้ด้วยคำพูด แต่ทำให้ดูมาทั้งชีวิต 🙂
อ้างอิง:
- https://theathletic.com/3600063/2022/09/16/federer-retirement/?source=user_shared_article
- https://www.telegraph.co.uk/tennis/2022/09/16/roger-federer-human-art-exhibition-greatest-sportsman-history/
- https://www.thetimes.co.uk/article/2723f0ea-3515-11ed-a08f-af84e8072b22?shareToken=6f175a02aa340cedd9ff916b68f27068
- https://www.thetimes.co.uk/article/a5c2b272-35f8-11ed-a08f-af84e8072b22?shareToken=64cbb4af168030750b7f4065e323d372