ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คาดการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลในปี 2564 ยังคงมีภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2563 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะส่งผลกระทบต่อตลาดรวมให้มีภาวะที่หดตัวต่อประมาณ 1-4% โดยตลาดจะเริ่มฟื้นตัวครึ่งหลัง แต่ยังไม่ดีขึ้นมาก และสถานการณ์จะดีขึ้นในปี 2565-2567 ถ้า Supply ใหม่ปรับตัวลงและยอดขายค่อยๆ ดีขึ้น
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จากการประมวลผลสำรวจ ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 พบว่า ภาพรวมครึ่งแรกปี 2564 หน่วยเปิดขายใหม่จะต่ำกว่าครึ่งแรกปี 2563 ที่ -9.72% และต่ำกว่าครึ่งหลังปี 2563 อีกด้วย โดยมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นชัดในครึ่งหลังปี 2564 แต่ยังต่ำกว่าครึ่งหลังปี 2563 ที่ -10.3%
ขณะที่ทั้งปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่ประมาณ 59,600 หน่วย มูลค่า 308,400 ล้านบาท ลดลง -10.0% และมูลค่าลดลง -7.7%
สำหรับหน่วยขายได้ใหม่ คาดว่าครึ่งแรกปี 2564 จำนวนหน่วยขายได้ใหม่จะสูงกว่าครึ่งแรกปี 2563 ที่ +1.2% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานต่ำ แต่มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นชัดในครึ่งหลังปี 2564 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบกับครึ่งหลังปี 2653
โดยทั้งปีนี้ประเมินยอดขายได้ใหม่จะมีจำนวน 69,996 หน่วย มูลค่าประมาณ 310,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.0%
ด้านหน่วยเหลือขายคาดว่าครึ่งแรกปี 2564 หน่วยเหลือขายจะเพิ่มจากครึ่งแรกปี 2563 เพียง 0.1% และมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นชัดในครึ่งหลังปี 2564 หน่วยเหลือขายจะต่ำลงที่ -0.8% เมื่อเทียบกับครึ่งหลังปี 2563
โดยมีหน่วยเหลือขายสะสมปี 2564 จำนวน 174,773 หน่วย มูลค่าหน่วยเหลือขาย ณ สิ้นปี 2564 คาดว่าจะมีประมาณ 853,400 ล้านบาท ลดลง -0.8%
ในส่วนของอุปสงค์ ซึ่งสะท้อนจากข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยพบว่าครึ่งแรกปี 2564 หน่วยโอนกรรมสิทธิ์จะลดลงจากครึ่งแรกปี 2563 ที่ -9.0% แต่มูลค่าโอนจะเพิ่ม 4.1% โดยหน่วยโอน และมูลค่าการโอน รวมปี 2564 ประมาณ 188,716 หน่วย ลดลง -4.0% มูลค่า 604,800 ล้านบาท ลดลง -1.4%
“จากการประมวลผลภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยจะสามารถเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องชะลอการเพิ่ม Supplies ในตลาด และปรับผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการ เปิดโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับการดูดซับในตลาด เน้นการระบายสต๊อกเสริมความพร้อมให้กับลูกค้าและเร่งการโอนกรรมสิทธิ์เพื่อเพิ่มกระแสเงินสด”
อย่างไรก็ตาม มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการช่วยสร้าง Demands ในตลาดและดูดซับ Supplies ที่สร้างเสร็จ ขยายกลุ่มเป้าหมายในการสนับสนุนให้ครอบคลุมกลุ่มที่ซื้อบ้านราคา >3 ล้านบาท และกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติ ซึ่งในกลุ่มนี้จะเป็นต้องดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนในการค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย และธนาคารรัฐสนับสนุนตลาด เร่งช่วยเหลือและเยียวยา SMEs ในด้านการเงินและการตลาด เนื่องจากเป็นแหล่งงานสำคัญในการจ้างงาน กระตุ้นการท่องเที่ยวจากคนในประเทศ/ต่างประเทศ เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่โดยเร็วที่สุดเพื่อให้สามารถมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติโดยเร็ว และเศรษฐกิจในภาพรวมสร้างความมั่นใจให้คนต่างชาติให้กล้าเข้ามาเที่ยวในประเทศและซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า