Rei Kawakubo และสามี Adrian Joffe
Photo: W Magazine
แคมเปญปี 1987 โดย Peter Lindbergh
การหาตัวตนและเส้นทางสู่ความสำเร็จในวงการแฟชั่นเป็นสิ่งที่พูดถึงกันเป็นอย่างมากช่วงนี้ เพราะความแปรปรวนและการปรับเปลี่ยนในอุตสาหกรรมที่เราคงไม่สามารถพึ่งพาสูตรสำเร็จที่คิดว่าต้องทำ 1,2,3,4 แล้วจะเวิร์ก ดีไซเนอร์บางคนต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน หานายทุนมาหนุนหลัง เปลี่ยนดีเอ็นเอของเสื้อผ้าให้เข้ากับกระแส หรือบางคนก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้ แต่ไม่ใช่สำหรับ เรย์ คาวาคูโบ (Rei Kawakubo) ที่เปรียบเสมือนอีกหนึ่ง ‘วีรสตรี’ ของวงการ ที่แม้อายุจะเข้าเลข 7 แล้ว เธอก็ยังคงยืนหยัดสร้างสรรค์ผลงานหลากมิติที่ไม่ต้องไปวิ่งตามใคร และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอาณาจักร Comme des Garçons ที่เชื่อมต่อศิลปะการทำเสื้อผ้า แฟชั่น และธุรกิจเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
เรย์เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ปี 1942 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในครอบครัวที่มีลูก 3 คน โดยเธอเป็นพี่สาวคนโต พ่อของเรย์ประกอบอาชีพเป็นผู้จัดการที่มหาวิทยาลัย Keio ส่วนคุณแม่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ในปี 1960 เธอตัดสินใจเรียนที่มหาวิทยาลัยเดียวกันกับที่คุณพ่อทำงาน ในสาขาสุนทรียศาสตร์ เอกศิลปะตะวันตกและตะวันออก ก่อนจะตัดสินใจย้ายออกจากบ้าน พอเรียนจบไปอยู่ในย่านฮาราจูกุโดยไม่ได้บอกใคร
แม้ชีวิตของเรย์ตั้งแต่วัยเด็กเรียบง่ายและปกติ แต่เธอก็เป็นคนที่รักความสันโดษและไม่ชอบเดินตามหลักการอะไร ทั้งในเชิงการเคลื่อนไหวทางสังคม ความเชื่อ ศาสนา หรือมีใครเป็นต้นแบบ เธอมักอยากหาคำตอบให้กับชีวิตผ่านสิ่งที่ตนเองไตร่ตรองและคิดว่าใช่ โดยเธอเคยให้คำจำกัดความตัวเองว่ามีสองบุคลิกในตัว หนึ่งคือชอบเรื่องราวประเพณีและประวัติศาสตร์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือการอยากทำลายกฎเกณฑ์และขยายขอบเขต
จากซ้ายบน: คอลเล็กชัน Fall/Winter 1982, Spring/Summer 1992, Spring/Summer 1997, Spring/Summer 2005, Fall/Winter 2005, Fall/Winter 2012, Fall/Winter 2016, Fall Winter 2017 และ Spring/Summer 2018
Photo: Vogue Runway
การเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ไม่ได้อยู่ในลิสต์ความฝันของเรย์ตั้งแต่แรก แต่บังเอิญเกิดขึ้นหลังเธอทำงานที่แรกในฝ่ายโฆษณาของบริษัทสิ่งทอ Asahi Kasei ที่หัวหน้าเรย์ยอมให้เธอไม่ต้องใส่ชุดพนักงาน ทั้งยังเปิดโอกาสให้เธอได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และช่วยหาอุปกรณ์ รวมถึงเสื้อผ้าเพื่อมาถ่ายงานต่างๆ
3 ปีต่อมา เพื่อนของเธอ Atsuko Kozasu นักเขียนแฟชั่นชื่อดัง ก็แนะนำให้เธอออกมารับงานฟรีแลนซ์เป็นสไตลิสต์ ซึ่งหลายครั้งที่เธอหาเสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ไม่ได้ เรย์ก็จะดีไซน์เอง แม้จะไม่ได้เรียนด้านนี้มาก่อน
พองานสไตลิสต์ไปได้รุ่ง ในช่วงปลายยุค 60s เรย์ก็เริ่มมีทุนทรัพย์พอที่จะทำไลน์เสื้อผ้าของตัวเอง พร้อมจ้างลูกน้องที่หลายคนยังคงทำงานกับเธอทุกวันนี้อย่าง Tsubomi Tanaka โดยตอนแรกเสื้อผ้าที่เรย์ทำก็มีกลิ่นอายความเป็นสปอร์ตสำหรับคนยุคใหม่ในตอนนั้น และเธอก็จะส่งตามร้านค้าต่างๆ ในญี่ปุ่น ไลน์เสื้อผ้านี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และในปี 1973 ก็จดลิขสิทธิ์เป็นบริษัทภายใต้ชื่อ ‘Comme des Garçons Co.,Ltd.’ ที่ได้ชื่อมาจากเพลง ‘Tous les garçons et les filles’ ของศิลปินชาวฝรั่งเศส Françoise Hardy ที่แปลว่า ‘เหมือนเด็กผู้ชาย’
Comme des Garçons ประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว และมีจุดขายกว่า 150 แห่ง และพนักงานกว่า 80 คน ส่วนเหล่าแฟนคลับของแบรนด์ก็ไม่เพียงแค่ซื้อเสื้อผ้า แต่เหมือนสร้างกลุ่มชุมชนคนรัก Comme des Garçons ที่จะมีกิจกรรมทำด้วยกัน ซึ่งก็ยังเหนียวแน่นจนถึงทุกวันนี้ และหลายแบรนด์น้องใหม่ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ก็มีคล้ายกัน เช่น Off-White
เสื้อผ้าที่เรย์ดีไซน์มาจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าเข้ารูป ไม่ต้องใส่รองเท้าส้นสูง และความสวยของผู้หญิงอยู่เหนือข้อจำกัดทางสรีระ
เสื้อสเวตเตอร์ถักที่ทำเอฟเฟกต์เหมือนโดนมอดกินผ้าในคอลเล็กชัน ‘Holes’
Michele Lamy ในนิตสาร Purple
แต่จะรู้กันดีว่าถ้าหากแบรนด์ไหนอยากขยับขยายตัวและไปอยู่บนเวทีโลก ก็ต้องไปแสดงผลงานที่ปารีส ซึ่งเรย์ก็ได้ทำเช่นนั้นในปี 1981 ที่มีหลายดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นไปเช่นกัน อาทิ Issey Miyake และ Yohji Yamamoto ที่เรย์คบหาด้วย แต่เรย์ก็เคยให้สัมภาษณ์กับ Women’s Wear Daily ในปี 1983 ว่า ไม่ชอบให้คนมาเรียกเธอว่า ‘อีกหนึ่งดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น’ เพราะเหมือนเป็นการตีค่าว่าดีไซเนอร์ญี่ปุ่นมีความคล้ายกันในเชิงดีไซน์
พอเสื้อผ้าของ Comme des Garçons ปรากฏตัวบนรันเวย์ที่ปารีส ก็เหมือนสร้างปรากฏการณ์ที่สื่อหลายสำนักเรียกว่า ‘Anti-Fashion’ หรือขบถแห่งวงการแฟชั่น ซึ่งแตกต่างสุดขั้วกับแบรนด์ที่ฮิตช่วงนั้นอย่าง Claude Montana, Gianni Versace และ Thierry Mugler ที่มีความฟู่ฟ่าสีสันจัดจ้าน โดยหลักการเสื้อผ้าที่เรย์ดีไซน์มาจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าเข้ารูป ไม่ต้องใส่รองเท้าส้นสูง และความสวยของผู้หญิงอยู่เหนือข้อจำกัดทางสรีระ โดยเรย์เป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่ถูกยกย่องว่าได้นำ ‘สีดำ’ มาสร้างนิยามใหม่และไม่ได้ทำให้ดูเศร้าหมอง ซึ่งทางโรงเรียน The Graduate Harvard School of Design ของมหาวิทยาลัย Harvard ก็ได้มอบรางวัล Excellence in Design Award ในปี 2000 เพราะเหตุผลนี้
ส่วนอีกหนึ่งจุดเด่นของเสื้อผ้า Comme des Garçons คือการออกแบบด้วยหลักการความอสมมาตร (Asymmetry) หรือความไม่เท่ากัน เช่น สั้น-ยาว ซ้าย-ขวา และหน้า-หลังไม่เท่ากัน ซึ่งแม้ชุดจะมีความบิดเบี้ยวและไร้รูปทรง แต่ก็ยังสวมใส่ได้จริง โดยมีหลายคอลเล็กชันเด่น อาทิ ในปี 1982 กับโชว์ ‘Holes’ ที่มีเสื้อสเวตเตอร์ถักที่ทำเอฟเฟกต์เหมือนโดนมอดกินผ้าและทำให้เป็นรูขาดไปหมด, ปี 1997 กับคอลเล็กชัน ‘Body Meets Dress, Dress Meets Body’ หรือที่คนเรียกว่า ‘Lumps and Bumps’ ที่มีการนำชุดเดรสแบบยืดหยุ่นมาสวมใส่นางแบบที่มีการเสริมตัวด้วยโครงสร้างให้ดูมีหุ่นที่แปลกใหม่, ปี 2005 ก็มีโชว์ ‘Broken Bride’ ที่สะท้อนชุดแต่งงานของเจ้าสาวที่ไม่มีความสุข และปี 2012 กับโชว์ ‘2 Dimensions’ ที่ทำให้ชุดแบนราบและเหมือนทำมาจากกระดาษประดิษฐ์ (Constuction Paper)
นิทรรศการ ‘Art of the In-Between’ ที่พิพิธภัณฑ์ Metropolitan of Art ที่มหานครนิวยอร์ก ในปี 2017
แม้เรย์จะหยุดการให้สัมภาษณ์กับสื่อมาเป็นเวลานาน และไม่ได้ออกมาโค้งคำนับตอนท้ายรันเวย์ แต่สามีของเธอ Adrian Joffe ที่ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Comme des Garçons ก็ให้สัมภาษณ์ในงานสนทนากับ Vanessa Friedman บรรณาธิการแฟชั่นของ The New York Times ว่า เรย์เป็นคนที่ไม่ชอบออกมาพูดถึงแรงบันดาลใจของตัวเองในแต่ละคอลเล็กชัน เพราะอยากให้คนตีความเอาเอง เธอเป็นคนที่อยากท้าทายตัวเองและมีความออริจินัลอย่างแท้จริง โดยเธอจะเริ่มทำทุกคอลเล็กชันจากศูนย์และไม่เคยย้อนกลับไปดูผลงานก่อนๆ
ความน่าสนใจของเรย์คือ ถึงแม้เธอจะมีความขบถในตัวสูง แต่เธอก็มีความย้อนแย้งในเชิงที่ว่าเธอก็แคร์ว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับผลงานเธอ ตัวอย่างสำคัญที่ Adrian ได้กล่าวคือช่วงงานนิทรรศการ ‘Art of the In-Between’ ที่พิพิธภัณฑ์ Metropolitan of Art ที่มหานครนิวยอร์กในปี 2017 ที่รวบรวมผลงานกว่า 150 ชิ้น และเธอเป็นดีไซเนอร์คนที่สองในประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ที่จัดงานให้ดีไซเนอร์ที่ยังมีชีวิตต่อจาก Yves Saint Laurent ในปี 1983 เรย์ก็จะโทรเช็กกับเขาเสมอว่าการตอบรับเป็นอย่างไร นักวิจารณ์ชอบไหม และคนที่มาชมมีปฏิกิริยาอะไร
ปิดท้ายด้วยเรื่องการหล่อเลี้ยงอาณาจักร Comme des Garçons ที่เรย์ก็เคยพูดว่าเธอก็มองตัวเองเป็นนักธุรกิจเทียบเท่าหรือมากกว่าเป็นศิลปินด้วยซ้ำ ทุกวันนี้บริษัท Comme des Garçons Co.,Ltd. ทำรายได้เกือบ 300 ล้านเหรียญ หรือเกือบหมื่นล้านบาททุกปี ซึ่งเม็ดเงินที่ได้มาก็เหมือนช่วยประคองไลน์หลัก Comme des Garçons ให้เรย์ได้ทำผลงานแบบไร้กฎเกณฑ์ แต่ในเชิงพาณิชย์ก็มีไลน์อย่าง Comme des Garçons Play หรือการไปร่วมงานกับแบรนด์อย่าง Converse และ Nike ที่ทำยอดขายได้มหาศาล มากไปกว่านั้น เรย์ยังผลักดันดีไซเนอร์รุ่นน้องในบริษัทที่ผลงานโดดเด่นและสร้างแบรนด์ตัวเองในร่มผ้าของบริษัท Comme des Garçons Co.,Ltd. เช่น Junya Watanabe และ Kei Ninomiya เป็นต้น
จากบน: ร้าน Dover Street Market ที่ลอนดอนและสิงคโปร์
ส่วนอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่สาวกแฟชั่นจะต้องรู้จักกันดีคือ เรย์อยู่เบื้องหลังร้านมัลติแบรนด์สโตร์ Dover Street Market ที่เปิดร้านแรกในปี 2004 ที่ย่าน Mayfair ในลอนดอน และต่อมาขยายกิจการมาที่โตเกียว ปักกิ่ง ลอสแอนเจลิส สิงคโปร์ และนิวยอร์ก กับร้านสูง 7 ชั้น ตรงย่าน Lexington Avenue โดยเสน่ห์ของร้าน Dover Street Market คือการมีพื้นที่ขายของแบรนด์น้องใหม่ที่กำลังมีกระแส เช่น Charles Jeffrey Loverboy แต่ยังไม่ได้เข้าห้างชื่อดัง เช่น Barneys หรือ Selfridges และทางร้านก็จะทำโปรเจกต์พิเศษกับเหล่าบรรดาแบรนด์ชื่อดังอย่าง Gucci ที่อยากเชื่อมต่อกับโลกศิลปะและเยาวชน Youth Culture ที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อวงการแฟชั่นทั้งในเชิงการซื้อขายหรือแรงบันดาลใจในเสื้อผ้า
วงการแฟชั่นและสังคมถือว่าโชคดีมากที่มีแบบอย่างอย่างเรย์มาเกือบ 5 ทศวรรษที่เธอไม่เคยหยุดนิ่งและทำให้เห็นว่า ‘เสื้อผ้า’ ก็เป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องนิยามด้วยตัวเองและจะมาเรียกว่าสวย ไม่สวย เท่ ไม่เท่ ก็แล้วแต่คุณ แล้วถ้าถามว่าใครจะมาสานต่อ Comme des Garçons ได้ไหม เราคิดว่ายากจนคิดไม่ได้ว่าใคร เพราะนับตั้งแต่วินาทีแรกที่เรารู้จักแบรนด์นี้ ก็มีแค่เรย์คนเดียวที่เข้าใจบริบทและจิตวิญญาณของทุกตะเข็บ การตัดเย็บ รูปทรง และความหมายของแต่ละชิ้นที่ถูกรังสรรค์ออกมา แน่นอนวันหนึ่งทุกอย่างก็ต้องจบลง แต่สิ่งที่ไม่มีวันหมดคือการเป็นปรมาจารย์ วีรสตรี ฮีโร่ คุณครู และแรงบันดาลใจของดีไซเนอร์รุ่นต่อไปกับผู้หญิงที่ชื่อ เรย์ คาวาคูโบ
แคมเปญต่างๆ ของ Comme des Garçons และไลน์ย่อย
อ้างอิง:
- www.newyorker.com/magazine/2005/07/04/the-misfit-3
- www.bustle.com/p/7-things-you-need-to-know-about-comme-des-garcons-before-the-2017-met-gala-52037
- www.thecut.com/2017/04/fashion-designer-rei-kawakubo-has-defined-the-avant-garde.html
- mobile.nytimes.com/2017/04/28/t-magazine/fashion/rei-kawakubo-comme-des-garcons-themes.html
- www.businessoffashion.com/community/people/rei-kawakubo
- www.cnbc.com/2017/08/02/comme-des-garcons-ceo-others-may-like-5-year-plans-but-i-dont.html