×

อย. แจง การขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ไม่ล่าช้า ยึดหลักปลอดภัย ได้มาตรฐาน อำนวยความสะดวกเต็มที่

โดย THE STANDARD TEAM
23.01.2021
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19

วันนี้ (23 มกราคม) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงาน อย. ได้อำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มที่ ได้ระดมสรรพกำลังทั้งผู้เชี่ยวชาญภายในและภายนอกมาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด ยึดหลักว่าต้องเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล ไม่สามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์หรือลดหย่อนการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน 

 

สำหรับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca ทาง อย. ได้รับเอกสารการขอขึ้นทะเบียนในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 และได้จัดส่งเอกสารให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีน จนมีการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 รวมเวลาการพิจารณาประมาณ 1 เดือน ซึ่งวัคซีนที่ทาง อย. รับขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินที่จะต้องมีระบบการกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง 

 

นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้มายื่นขออนุมัติวัคซีนโควิด-19 จาก อย. จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้มายื่นขอ ซึ่งทาง อย. รอเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ยืนยันว่า ไม่ปิดกั้นบริษัทใดมายื่นขออนุญาต และพร้อมให้คำปรึกษาหรือตอบข้อสงสัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตอย่างเต็มที่ 

 

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ด้านการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน (Sinovac Biotech Limited, People’s Republic of China) ซึ่งองค์การฯ ดำเนินการตามที่ได้มอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ได้แจ้งยื่นขออนุญาตขึ้นทะเบียนจาก อย. ไปแล้ว อยู่ระหว่างการประสานรวบรวมข้อมูลประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม โดยการดำเนินการนี้องค์การฯ จะทำหน้าที่จัดซื้อตามจำนวนที่กรมควบคุมโรคแจ้งความต้องการมา เพื่อนำไปฉีดตามแผนการจัดสรรของประเทศ 

 

“การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นี้ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและแข่งกับเวลา ภายใต้สถานการณ์ มีความต้องการใช้ทั่วโลก อีกทั้งวัคซีนที่มีอยู่เพิ่งเสร็จจากงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตของแต่ละบริษัท และทั่วโลกมีความต้องการใช้สูง ทราบมาว่าขณะนี้มีบริษัทเอกชนรายอื่นที่ได้ขอขึ้นทะเบียนวัคซีนจากผู้ผลิตประเทศจีนเช่นเดียวกัน” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X