×

วันแรกคึกคักจดจองชื่อตั้งพรรคการเมืองกว่า 42 กลุ่ม แกนนำม็อป-(เมีย) ทหาร-สามัญชน

02.03.2018
  • LOADING...

ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (2 มี.ค.) บรรยากาศที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะเป็นวันแรกที่เปิดให้กลุ่มการเมืองเข้ายื่นขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ที่ให้กลุ่มการเมืองยื่นจดแจ้งพรรคต่อ กกต.

 

 

เจ้าหน้าที่ กกต. เริ่มแจกบัตรคิวให้กลุ่มการเมืองที่รอจดแจ้งจัดตั้งพรรคตั้งแต่เวลา 6.00 น. ซึ่งวันนี้มีกลุ่มการเมืองมารอตั้งแต่ช่วงเช้ากว่า 30 กลุ่ม โดยคิวแรก คือ พรรคพลังชาติไทยที่มี พล.ต. ทรงกลด ทิพย์รัตน์ นายทหารประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค ซึ่งมารอคิวตั้งแต่ตี 3

 

พรรคนี้ได้รับสมญานามจากสื่อมวลชนว่า ‘พรรคทหาร’ ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าได้ทำการลงพื้นที่หยั่งเชิงหาเสียงโซนภาคอีสานมาก่อนแล้ว

 

 

กลุ่มการเมืองที่โดดเด่นสะดุดตาที่สุดกลุ่มหนึ่ง คือ พรรคเพื่อชาติไทย ของนางอัมพาพันธ์ ธนเดชสุนทร อดีตภรรยา พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อปี 2535 หรือ รสช. ขนกองเชียร์ใส่เสื้อรูปภาพหน้าของนักการเมืองที่เป็นกลุ่มขัดแย้งเรียงกันเป็นรูปหัวใจ โดยมีภาพใบหน้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ตรงกลาง

 

ว่าที่พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้ขอจดจัดตั้งพรรคบอกว่า จุดเด่นของพรรคคือมีหัวหน้าพรรคเป็นผู้หญิง ซึ่งมีบุคลิกอ่อนน้อมและเข้าถึงคนได้ง่าย และแม้จะไม่ประกาศอย่างเต็มปากเต็มคำว่าสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ แกนนำพรรครายนี้ก็บอกว่า ไม่ปิดกั้นแนวทางนายกฯ คนนอก และจะเลือกคนที่เหมาะสมที่สุด

 

 

ขณะที่ พรรคพลังธรรมใหม่ นำโดย นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล อดีตแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) ซึ่งเพิ่งแถลงข่าวเปิดตัวพรรคไปเมื่อวาน ก็เดินทางมายื่นจดแจ้งพรรคในวันนี้เช่นกัน

 

นายแพทย์ระวี ตอบแบบประกาศฟันธงเช่นกันว่าจะสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่บอกว่าหลักการของพรรคจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีโดยพิจารณาจากความเหมาะสมเป็นหลัก แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าพร้อมสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามแนวทางนายกฯ คนนอก หากชื่อของท่านเหมาะสมที่สุดในเวลานั้นก็พร้อมสนับสนุน

 

 

ด้านกลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มาขอจดแจ้งพรรคในวันนี้ คือ พรรคสามัญชน นำโดย ปธานิน กล่อมเอี้ยง โดยเจ้าตัวเปิดเผยว่า พรรคเราคือการรวมตัวของนักกิจกรรม และเครือข่ายชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆ ที่เรียกร้องต่อสู้กับรัฐ มีจุดยืนชัดเจนคือไม่เห็นด้วยกับแนวทางนายกฯ คนนอก

 

 

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการ กกต. กล่าวว่า กระบวนการในวันนี้จะเป็นการแสดงความจำนงเพื่อจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง โดยจะมีการตรวจรายละเอียดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดไว้ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการนี้กลุ่มบุคคลที่แสดงความจำนงจะตั้งพรรคการเมืองจะต้องไปหาสมาชิกและเงินทุนประเดิมพรรคการเมืองให้ครบตามเงื่อนไข แล้วต้องขออนุญาตกับ คสช. เพื่อขออนุญาตประชุมพรรคการเมืองเพื่อจัดทำรายละเอียดต่างๆ รวมถึงข้อบังคับพรรคตามที่กฎหมายกำหนดแล้วจึงค่อยกลับมาจดทะเบียนพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ

 

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวว่า การยื่นจดวันนี้จะเป็นใบเบิกทางการทำหนังสือขอจัดประชุมสมาชิกพรรคก่อตั้ง แต่กระบวนการจะมี 2 ขั้นคือ 1. กกต. รับและกลั่นกรอง และ 2. ส่งไปยัง คสช.

 

ดังนั้นทุกพรรคที่จะขอทำกิจกรรมต่างๆ อยากให้เผื่อเวลาไว้อย่างน้อย 20 วัน เช่น วันนี้ถ้ายื่นจดจองชื่อพรรคไว้เรียบร้อยแล้ว การจะขอประชุมพรรคน่าจะบวกเวลาไว้อีก 20 วัน ถ้าขอแบบฉุกละหุก การขออนุมัติจาก คสช. อาจทำไม่ทัน

 

นอกจากนี้พรรคใหม่ยังมีกรอบเวลาที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง เช่น เอกสารไม่ครบ คุณสมบัติของผู้จดจองชื่อไม่ครบ โดยทาง กกต. จะแจ้งกลับภายใน 30 วัน ดังนั้นจะมีเวลาอีก 60 วันแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้เรียบร้อย

 

ทั้งนี้หากพรรคใหม่ต้องการส่งผู้สมัครให้ทันการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 จะต้องยื่นคำขอในช่วงเดือน มี.ค. นี้ จึงจะดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาเลือกตั้ง

 

 

สรุปแล้ววันแรกทั้งวันมีกลุ่มที่มายื่น 42 กลุ่มประกอบด้วย

  1. พรรคพลังชาติไทย
  2. พรรคประชาไทย
  3. พรรคพลังประชารัฐ
  4. พรรคประชาชนปฏิรูป
  5. พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน
  6. พรรคประชาชาติ
  7. พรรคชาวนาไทย
  8. พรรคพัฒนาไทย
  9. พรรคเครือข่ายประชาชนไทย
  10. พรรคเศรษฐกิจใหม่
  11. พรรคพลังพลเมืองไทย
  12. พรรคพลังธรรมใหม่
  13. พรรคไทยเอกภาพ
  14. พรรคประชาภิวัฒน์
  15. พรรคสหประชาไทย
  16. พรรคทางเลือกใหม่
  17. พรรคชาติพันธุ์ไทย
  18. พรรครักษ์แผ่นดินไทย
  19. พรรคแผ่นดินธรรม
  20. พรรคเพื่อชาติไทย
  21. พรรคกรีน
  22. พรรคประชานิยม
  23. พรรคพลังสยาม
  24. พรรคสยามธิปัตย์
  25. พรรคของประชาชน
  26. พรรคพลังอีสาน
  27. พรรครวมใจไทย
  28. พรรคไทยศรีวิไลย์
  29. พรรคประชามติ
  30. พรรคพลังไทยยุคใหม่
  31. พรรคไทยรุ่งเรือง
  32. พรรคเพื่อสตรีไทย
  33. พรรครากแก้วไทย
  34. พรรคน้ำใจไทย
  35. พรรคไทยเสรีประชาธิปไตย
  36. พรรคฅนสร้างชาติ
  37. พรรครวมไทยใหม่
  38. พรรคสามัญชน
  39. พรรคสยามไทยแลนด์
  40. พรรคปฏิรูปประเทศไทย
  41. พรรคเห็นแก่ตัว
  42. พรรคภาคีเครือข่ายไทย

อย่างไรก็ตามกลุ่มการเมืองที่ยังไม่ได้มาจดจองตั้งพรรคก็สามารถมายื่นได้หลังจากนี้เป็นต้นไปในเวลา 08.30 -16.30 น.ที่สำนักงาน กกต.

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising