‘แรงงานข้ามชาติ’ คือคำที่เรามักจะได้ยินและได้เห็นกันบ่อยๆ ตามสื่อต่างๆ แต่น่าแปลกที่ในชีวิตจริง ‘พวกเขา’ แทบไม่เคยอยู่ในความสนใจของ ‘พวกเรา’
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นหน่วยสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศนี้ให้ดีขึ้น
นอกจากปัญหาแรงงานข้ามชาติในมิติอื่นๆ ทั้งการค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การกดขี่ข่มเหงในรูปแบบต่างๆ ด้วยความที่พวกเขาถูกมองเป็น ‘คนนอก’ แล้ว อีกปัญหาที่หลุดโฟกัสความสนใจของคนไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถึงวันหนึ่งพวกเขาจะต้องเติบโตมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น เราควรปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไร?
คำถามนี้นำไปสู่การพูดคุยกับ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ เปรมใจ วังศิริไพศาล นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทำไมเด็กข้ามชาติจึงควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนเด็กไทย
สุรพงษ์: สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยตรัสไว้เมื่อปี 2545 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องการศึกษาของลูกผู้ลี้ภัยในทำนองว่า ‘คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะมีงบประมาณมาสนับสนุนหรือไม่ แต่คำถามอยู่ที่ว่าเราจะไม่สนับสนุนได้หรือ? มากกว่า’ คือถ้าเกิดถามว่าเรามีเงินไปช่วยเหลือคนเหล่านี้ไหม คำตอบคืองบประมาณเราก็จำกัด ก็คือไม่ต้องทำ เพราะเงินเราน้อย แต่ถ้าถามว่าเราไม่ทำได้ไหม เวลาเด็กโตขึ้นมา เราไม่ให้การศึกษาเด็กได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ เมื่อไม่ได้ก็หมายความว่ามีเงินมากก็ทุ่มไปช่วยมาก มีเงินน้อยก็ทุ่มไปช่วยน้อย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำ
พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพฯ ในครั้งนั้นจึงนำไปสู่การที่รัฐบาลไทยรณรงค์เรื่องการศึกษาของเด็กข้ามชาติในปี 2545 จนถึงปี 2548 เรามีมติ ครม. ให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยได้เรียนหมด สิทธิมนุษยชนคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาลอะไรก็ว่าไป เพื่อให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมในทุกๆ เรื่อง
เปรมใจ: ไม่อยากให้มองในมุมของสิทธิ แต่ให้มองในมุมของธรรมชาติ โดยธรรมชาติ เด็กเกิดมาเขายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนช่วยเหลือ คุ้มครอง เขาต้องมีคนดูแลก่อนที่เขาจะโตขึ้นมา ฉะนั้นเมื่อเกิดมาก็ควรที่จะได้รับการดูแล อย่างน้อยให้เขาได้มีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไป
ทีนี้การมีชีวิตอยู่ไปแกนๆ ก็คงลำบาก ก็ต้องมีคุณภาพชีวิตตามสมควร เด็กข้ามชาติมีทางเลือกน้อย หนังสือก็ไม่ได้เรียน การดูแลก็น้อย จึงมีความเสี่ยงที่จะไปทำอะไรที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นก็จะมากระทบกับเด็กไทยในอนาคตนี่แหละ แต่ถ้าเขาได้รับการอบรมเลี้ยงดูว่าหนทางที่ถูกต้องหรือการทำมาหากินเป็นอย่างไร มีทักษะ โอกาสที่เขาจะไปเลือกการกระทำบางอย่างที่ง่ายๆ อย่างฉกชิงวิ่งราวก็จะลดลง
แต่ถ้าคุณคิดว่าเด็กทุกคนควรให้เขาเติบโตเป็นคนดี ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ไม่ไปเป็นภาระของใคร ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยหรือไม่ใช่เด็กไทยก็ควรอยู่ในเป้าหมายแบบนี้ แต่เราจะรับภาระได้แค่ไหนก็ตามสมควร เด็กไทยจนๆ ก็มี ไม่ใช่ให้ทิ้ง เราก็ต้องดูแลไปด้วยกัน
แต่หลายคนอาจมองว่าเด็กข้ามชาติไม่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะพ่อแม่ของพวกเขาไม่ได้เสียภาษี มองเรื่องนี้อย่างไร
สุรพงษ์: คนเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย เราบอกว่าเขาไม่ได้เสียภาษีไม่ได้ เพราะเวลาเขาไปเข้าเซเว่น ขึ้นรถ ลงเรือ มันก็มีภาษีหมด เก็บเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือไม่เป็น มีบัตรประชาชนหรือไม่มี
สอง ภาษีทางตรง หลักการเหมือนกันทั่วโลกคือรายได้น้อยก็จ่ายน้อย รายได้มากก็จ่ายมากแบบอัตราก้าวหน้า และต้องเข้าใจอีกว่าเงินภาษีเอาไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศ อันนี้จริง แต่เงินภาษีไม่ใช่เงินที่เอาไปบริการคืนให้กับคนจ่าย เช่น ฉันจ่ายเยอะ รัฐต้องบริการฉันเยอะ เธอไม่จ่ายภาษี เธอต้องไม่ได้รับบริการ แนวคิดเรื่องภาษีคือใครก็ตามที่เข้ามาสร้างรายได้ในประเทศไทย มีมากก็คืนให้รัฐมาก มีน้อยก็คืนให้รัฐน้อย เพราะคุณได้ประโยชน์จากแผ่นดินนี้ไปแล้ว แล้วเงินที่ได้ก็เอาไปพัฒนาภาพรวม เพราะฉะนั้นแรงงานข้ามชาติก็อยู่ในหลักการเดียวกัน
เปรมใจ: มันต้องช่วยไปด้วยกัน การศึกษาและการรักษาพยาบาลคือการลงทุน จะรูปแบบไหนก็แล้วแต่ การลงทุนนี้เพื่อจะให้ได้คนที่เติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดี คุณจะบอกว่าปลูกต้นไม้แล้วไม่รดน้ำ ไม่ให้ปุ๋ย ให้โตเอง แบบนั้นก็หวังมากไป หรือถ้าจะให้มองอีกด้าน มันก็เป็นการป้องกันความเสี่ยงในอนาคต
จริงหรือไม่ที่เด็กข้ามชาติไม่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะมาแย่งงานคนไทย
เปรมใจ: ตอนนี้มันมีความขาดแคลนในเรื่องแรงงานในหลายสาขาอาชีพจริงๆ ภาคอุตสาหกรรมถึงได้มีการให้เรียนและทำงานไปด้วยเพื่อจูงใจ ตอนนี้ประเทศไทยกำลังพัฒนาเยอะมาก แต่เราขาดคน เราจะมีกำลังแรงงานอย่างไร
คิดในแง่กลับกันว่าถ้าเราอยู่ในสถานะอย่างเขา เราจะรู้สึกอย่างไร เราอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร อกเขาอกเรา ใจเขาใจเรา บางทีเราจะเห็นใจเขามากขึ้น เข้าใจเขามากขึ้น โดยเฉพาะเขาเป็นคนต่างบ้านต่างเมือง ความรู้สึกว้าเหว่ ลำบาก พลัดบ้านเมืองมาแล้วเขาไม่ต้อนรับ เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเราไปตกระกำลำบากที่อื่นก็เหมือนกัน แล้วถ้าเป็นลูกเราล่ะ เราอยากให้ลูกเราเป็นแบบนี้ไหม
สุรพงษ์: จริงๆ คนไทย ‘ไม่เพิ่ม’ แล้วก็ไม่เพิ่มมาเป็นสิบปีแล้ว ไม่ต้องดูที่ไหนไกล ดูพรรคพวกเรา เพื่อนเรา อายุเท่าไรแล้ว มีแฟนกันหรือยัง แต่งงานหรือเปล่า และมีลูกไหม โลกมันเป็นแบบนี้ไปหมดแล้ว คนไทยรุ่นใหม่เกิดน้อยมาก สมัยนี้เด็กน้อยลงกว่าเดิมมหาศาล ทำนาก็ไม่มีคนทำ ทำสวนก็ไม่มีคนทำ เพราะเด็กเรียนสูงขึ้น และพ่อแม่ก็ดูแลดีขึ้น ชีวิตสบายขึ้น
แล้วที่คนข้ามชาติเข้ามาก็เพราะเราไปเอาเขามา มันไม่ใช่เขาหลั่งไหลมาแล้วนะ แต่เป็นเราที่ไปเอาเขามา มีขบวนการไปเอาเขามาเพื่อตอบสนองธุรกิจในบ้านเรา ไม่มีอีกแล้วที่ว่าบ้านเมืองเขายากลำบาก หนีสงครามมา หรือไปตายเอาดาบหน้า โอเค บ้านเขาอยู่ลำบากจริง แต่ไม่ถึงกับตาย เป็นเรื่องของเราทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องของเขาเลย การที่เราไปเอาเขามานี่ก็เพื่อประโยชน์ของเราทั้งนั้น แต่ถ้าเมื่อไรที่เรามีลูกหลานมาก ปิดตลาดแล้ว คนเหล่านี้ก็จะไม่เข้ามา
ที่ประเทศไทยเจริญทุกวันนี้เพราะเราเปิดรับคนทั่วโลก เราเป็นประเทศที่อัธยาศัยดี ต้อนรับทุกคน มีความเข้าอกเข้าใจ ช่วยเหลือคนทุกคน คนเขาอยู่ในประเทศไทย ให้เขาอยู่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้เขามีความรู้ พอเขาไปอยู่ที่อื่นเขาก็ยังรู้สึกดีกับเรา
การให้คุณค่ากับ ‘มนุษย์’ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้แว่นตาแบบไหนมอง ‘เพราะเขาไม่ใช่คนไทย เราจึงไม่ควรดูแลเขา’ หรือ ‘เขาอาศัยอยู่ในเมืองไทย เป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เราจึงควรดูแลเขา’
การพึ่งพาอาศัยอย่างเข้มข้นระหว่างเราและเขาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วนับสิบปี แล้วเราควรมองพวกเขาแบบไหน ดูแลพวกเขาได้ดีขนาดไหน ตรงไหนคือจุดที่พอดีที่ทั้ง ‘เขา’ และ ‘เรา’ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไปด้วยกัน
หรือคำตอบที่ถูกต้องที่สุดคือพยายามลบเลือนคำว่า ‘เขา’ และให้เหลือเพียงแต่คำว่า ‘เรา’ ผู้ที่สังคมควรยอมรับในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน และสร้างคุณค่าให้กับโลกนี้ตามบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง
กรณีศึกษา: หม่อง ทองดี
หลายคนอาจจะพอคุ้นเคยกันอยู่บ้างกับข่าวของเด็กชายชาวพม่า ชั้น ป.5 ที่ไปแข่งขันเครื่องบินกระดาษที่ประเทศญี่ปุ่น และได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งหม่องถือเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็กข้ามชาติที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในที่สุด
ในปี 2559 หม่องมีโอกาสได้ร่วมงานกับสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลอง และได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยด้วยการเป็นครูสอนขับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) อีกทั้งได้ใช้ความสามารถด้านนี้เพื่อช่วยค้นหาเฮลิคอปเตอร์ที่ตกในจังหวัดจันทบุรีและเชียงใหม่ และเป็นผู้ร่วมถ่ายภาพมุมสูงในงาน Bike for Dad รวมถึงเป็นผู้ร่วมถ่ายภาพมุมสูงในเหตุการณ์น้ำท่วมเพื่อประเมินการช่วยเหลือเช่นกัน
หม่องเกิดที่ไทย โตที่ไทย เรียนที่ไทย รู้จักวัฒนธรรมไทย สร้างชื่อเสียงและสร้างคุณประโยชน์ให้กับเมืองไทย หม่องเป็นชาวพม่าคนหนึ่งที่รักประเทศไทย และยินดีหากมีโอกาสได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสามารถพัฒนาคนแบบหม่องได้อีก 100 คน