หลังจากที่ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล มีคดีแรกในชีวิต เนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองคือคดี ‘ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน’ และได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว
ล่าสุดเธอมีหมายเรียกจากสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทุ่งมหาเมฆ ให้ไปรับทราบข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีร่วมอ่านแถลงการณ์ภาษาต่างๆ หน้าสถานทูตเยอรมนีในการชุมนุม #ม็อบ26ตุลา
ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง สน.ทุ่งมหาเมฆ ได้ไปยื่นขอออกหมายจับต่อศาล แต่ศาลยกคำร้องด้วยเหตุที่ว่า “ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษา การชุมนุมระยะเวลาสั้นยังไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี ประกอบกับผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงเห็นควรให้ผู้ร้องไปดำเนินการออกหมายเรียกก่อน ในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง” ฉะนั้นขั้นตอนต่อจากนี้คือการไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายเรียก
และนี่คือต้นทุนที่เธอต้องจ่ายกับแสดงออกทางการเมือง เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวอีกหลายๆ คนที่ออกมาในที่แจ้ง เพื่อจะสื่อสารในสิ่งที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมายาวนาน
THE STANDARD ขอชวนทุกคนไปสำรวจความคิด มายด์ ภัสราวลี ด้วยการเปิดให้ทุกเสียงได้มีพื้นที่แสดงออกอย่างเสมอภาคกัน
ก่อนจะถามถึงหลักใหญ่ใจความของการเคลื่อนไหว คิดอย่างไรกับต้นทุนที่จ่ายไปกับการออกมาพูดถึงปัญหาต่างๆ
คิดว่าในการเคลื่อนไหว การโดนหมายจับหรือหมายเรียกเป็นแค่อุปสรรคเล็กๆ อาจทำให้เราเดินช้าลงเฉยๆ แต่หนูมีเป้าหมายหลักคือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราก็เดินต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะโดนจับ เข้าเรือนจำ ไม่ได้ออกมาก็จะต่อสู้อยู่ดี
การต่อสู้ที่ผ่านมานำไปสู่จุดที่แหลมคมที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ว่าได้ คุณรู้สึกอย่างไรกับการตัดสินใจออกมาเป็นแกนนำในเวลานั้น
จุดที่คนมองว่าแหลมคมมีมานานแล้ว เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้กันว่าบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยมันเกี่ยวเนื่องกันมาตลอด ตั้งแต่ก่อน 2475 ก็เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลัง 2475 ก็ยังคงมีการที่บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยอยู่ แต่ว่าที่ทุกคนพูดถึงนั้น ทุกคนพูดในที่ลับ ไม่มีใครเอาออกมาพูดในที่แจ้ง ไม่มีใครเอาออกมาพูดกันด้วยเหตุผลจริงๆ
ทีนี้พอมาถึงปัจจุบัน การที่หลายคนอาจมองว่าเป็นประเด็นที่แหลมคมมากๆ นั้น อยากให้ทุกคนเข้าใจอย่างนี้ว่า เราทุกคนทำให้สิ่งที่แหลมคมสามารถที่จะมนลงได้ ด้วยการที่ทุกคนมาช่วยกันขัดเกลา มาช่วยกันพูดถึงและพูดคุยด้วยความจริงใจและความเคารพซึ่งกันและกัน ว่าต่างฝ่ายต่างคิดอย่างไร แล้วเราจะมาหาจุดร่วมตรงกลาง อยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้อย่างไร
หนูมองว่าเราไม่ได้ต้องการแค่พื้นที่เสรีที่เราจะพูดคุยกันได้มากขึ้นเท่านั้น ในเมื่อบ้านเรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายความว่าองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่เป็นมิ่งขวัญ อยู่ใกล้กับคนไทย เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับคนไทย แต่ ณ ปัจจุบัน บทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกระทำโดยที่รัฐบาลไปขยายพระราชอำนาจและอื่นๆ
ซึ่งตรงนี้หนูมองว่านี่มันคือจุดที่เราต้องมาคุยกันอย่างเปิดอกว่าเราจะหาจุดลงอย่างไร ให้สังคมอยู่ด้วยกันได้ และทุกคนโอเคว่านี่คือตรงกลางที่ทุกคนจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสุข
ทีนี้คนที่มองว่าปฏิรูปคือการล้มล้าง หนูอยากให้เปิดพจนานุกรมเลย คำว่าปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง ปฏิรูปคือการทำให้เหมาะสม ทำให้ดีขึ้น นี่คือความหมายของคำว่าปฏิรูปจริงๆ ไม่ใช่ว่าการเมืองไทยไม่เคยใช้คำว่าปฏิรูป ใช้มาตั้งนานแล้ว ใช้มาตลอด
ซึ่งเรามีความปรารถนาดี หนูมองว่าปฏิรูปคือการแก้ไขปัญหา คือทางออกของสังคมที่สังคมนี้จะอยู่ได้อย่างสงบสุข และสถาบันจะอยู่ได้อย่างงดงามสถาพร อยู่คู่กับคนไทยต่อไป
แต่ทีนี้มีหลายคนที่ตีความคำว่าปฏิรูปไปผิดแปลกแตกต่างหลายทางมาก ซึ่งตรงนี้หนูอยากให้ทุกคนใจเย็นๆ อย่าเพิ่งได้ยินคำว่าปฏิรูปสถาบันแล้วเหมือนมันทิ่มหู ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น แต่เปิดใจฟัง ค่อยๆ ฟังว่าการปฏิรูปคืออะไร ถ้าสงสัยว่าคืออะไรมาถามผู้ชุมนุมก็ได้ ว่าที่ผู้ชุมนุมพูดถึงเป็นแบบไหน ขอบเขตเป็นอย่างไร
หนูขอยืนยันว่าที่คนออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ไม่ใช่ไม่ต้องการไม่ให้มี แต่ต้องการให้มีอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เหมาะสมกับความเป็นประชาธิปไตยในบ้านเรา
แต่อีกฝั่งหนึ่งเขาก็มองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สุดทางสำหรับเขา ในแง่ที่มันประนีประนอมยากมาก จะเจอกันตรงไหน อย่างไร ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก หรือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าได้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือได้ทั้งหมดจะนำไปสู่ทางออกไหม
อย่างแรกเลย คนที่จะออกมาผลักดันหลังจากนี้ ต่อจากนี้ ต้องไม่ใช่ พล.อ. ประยุทธ์ แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ ไม่มีความชอบธรรมพอจะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต่อไป เราไม่ต้องการนายกรัฐมนตรีคนนี้แล้ว ต้องเป็นคนที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาปากท้อง ดำเนินการเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือกระทั่งพร้อมที่จะปฏิรูปสถาบัน
ทีนี้ขั้นตอนจะเป็นอย่างนี้ พอ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก เรามาพูดคุยถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่กัน รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเป็นเครื่องมือเครื่องหมายให้การเมืองไทยมั่นคงได้ พอมาคุยถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบัน แต่ต้องเกิดขึ้นโดยทุกฝ่ายเปิดใจที่จะรับฟังกัน และมาพูดคุยกัน หาทางออกร่วมกัน
หนูว่าประชาชนที่ออกมาต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ พร้อมจะเปิดใจฟัง พร้อมมาพูดคุย พร้อมมาตั้งโต๊ะคุยว่าเราโอเคอย่างไร คุณโอเคอย่างไร แล้วเดินต่อไป
แต่ทั้งนี้ไม่อยากให้มองว่าคนที่เห็นต่างจากรัฐเป็นพวกปั่นป่วนเมือง ไม่อยากให้มองอย่างนั้น อยากให้เปิดใจมาคุยกันและพยายามใจเย็นๆ
อย่างที่พล.อ.ประยุทธ์ขยายพระราชอำนาจ เหมาะสมหรือเปล่า? อยากให้คุยกันตรงนี้มากกว่า หนูเชื่อว่าทุกฝ่ายคุยกันได้เป็นคนไทยเหมือนกัน คุยกันได้
คิดเห็นอย่างไรกับคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกประเทศ ที่กำลังจะมีการตั้งขึ้น
ถ้าจะเอาใครแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าเป็นตัวแทนมันอาจไม่ฟังก์ชันกับสถานการณ์ ณ ตอนนี้แล้ว มันคงไม่ตอบโจทย์ประชาชน เพราะ ณ ตอนนี้อย่างที่ทุกคนรู้กัน
ทุกคนคือแกนนำ ไม่มีใครเป็นผูกขาดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทุกคนคือแกนนำแล้ว การที่รัฐบาลจะรับฟังเพียงกลุ่มหนึ่งอาจไม่ตอบโจทย์คนที่เหลือ เพราะฉะนั้นการรับฟังที่ดีสุดคือการเปิดเวทีข้างนอก เปิดเวทีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด
แต่ถ้าหากอยากจะมีคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกประเทศจริงๆ ก็อาจลองซาวด์เสียงถามความเห็นประชาชนก่อนก็ได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร
ถ้าอยากให้มีจริงๆ ไม่อยากให้เป็นการซื้อเวลาของรัฐบาล เราเสียไปกับการซื้อเวลาของรัฐบาลมามากพอแล้ว อย่างการประชุมสภาสมัยวิสามัญที่ผ่านมา (การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกรัฐสภาในการหาทางออกของประเทศ) เราเห็นแล้วว่าเสียเวลา เสียประโยชน์ เราอุตส่าห์จับตาดูการพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มีน้อยมากๆ
ที่มีมากคือการใส่ร้ายป้ายสีผู้ชุมนุม แต่ไม่เป็นไร เราใจเย็น ไม่เป็นไร หลังจากนี้อยากให้รัฐบาลตั้งใจให้ดี ตั้งใจแก้ปัญหาจริงๆ ตั้งใจจะรับฟังประชาชนจริงๆ
ตอนนี้ประชาชนถอยสุดกำลังแล้ว ถอยกว่านี้ก็ทะลุฝาบ้านแล้ว ตอนนี้การถอยของรัฐบาลคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แล้วหลังจากนั้นมาพูดคุยกัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า