×

เหลียวมอง 10 ปี 22 พฤษภาคม 2557 ‘ไม่เสียของหรือได้ของเสีย’

22.05.2024
  • LOADING...

หากโจทย์ของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คือการยึดอำนาจเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามที่อ้างว่ามาจาก ‘ระบอบทักษิณ’ ก็นับว่าคงไม่แปลกนักที่การรัฐประหารครั้งนั้นจะถูกตราหน้าจากชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยกันว่าเป็น ‘รัฐประหารที่เสียของ’

 

เพราะนอกจากคณะรัฐประหารปี 2549 จะยุติบทบาทและคืนอำนาจให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งภายในระยะเวลาอันสั้นแล้ว การยึดอำนาจในครั้งนั้นยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการถอนรากถอนโคน ‘ระบอบทักษิณ’ ให้สิ้นซากลงได้ตามที่ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการ 

 

ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งปี 2550 ชัยชนะอันถล่มทลายของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2554 รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของ ‘กลุ่มคนเสื้อแดง’ อันเป็นปฏิกิริยาต่อเนื่องโดยตรงจากการยึดอำนาจปี 2549 คือข้อพิสูจน์ถึงความ ‘เสียของ’ ที่ว่าได้เป็นอย่างดีในสายตาของชนชั้นนำ 

 

เมื่อเหลียวมามองผลกระทบทางการเมือง ที่การรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทิ้งไว้ให้กับสังคมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนกลับคิดว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นแตกต่างออกไปอย่างมากจากรัฐประหารปี 2549 ไม่เพียงแค่ในแง่ของระยะเวลาการครองอำนาจรัฐของผู้ทำรัฐประหารที่กินเวลายาวนานกว่าหลายปีเท่านั้น แต่รัฐประหารปี 2557 ได้สร้างมรดกที่เป็น ‘ของเสีย’ ต่อสุขภาพของระบอบประชาธิปไตยไทย ที่ร้ายแรงกว่า ซึมลึกกว่า และน่าวิตกกังวล ยิ่งกว่ารัฐประหารปี 2549 ในหลายด้าน 

 

หากเราวิเคราะห์ว่าเป้าหมายหลักของการทำรัฐประหารปี 57 คือ 

 

  1. การปกป้องความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์จากภัยคุกคามของกลุ่มพลังใหม่ที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลง

 

  1. การเปลี่ยนสมดุลของอำนาจให้เอียงข้างกลับมาอยู่ในมือขององคาพยพที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

 

  1. การบั่นทอนพลังของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย 

 

หากเรานำเป้าหมายทั้ง 3 ข้อนี้มามองโดยเทียบกับมรดกหลายประการที่คณะรัฐประหารปี 2557 หรือระบอบประยุทธ์ ทิ้งไว้ให้กับเรา ก็อาจนับได้ว่านี่คือการรัฐประหารที่ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมน่าจะรู้สึกว่า ‘ไม่เสียของ’ อีกต่อไป 

 

ทว่าในความพยายามทั้งหมดของการทำรัฐประหารปี 2557 ที่จะบรรลุเป้าหมายของตน เพื่อไม่ให้เป็นการยึดอำนาจที่ ‘เสียของ’ ซ้ำสอง กลับยิ่งเป็นการสร้างมรดกที่เป็น ‘ของเสีย’ ต่อระบอบประชาธิปไตยไทยให้หนักข้อยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

  1. จากพลังทางการเมืองใหม่ที่เรียกร้องต้องการการปฏิรูป คณะรัฐประหาร 2557 จึงใช้วิธีสร้างความหวาดกลัวผ่านนิติสงครามและการละเมิดหลักนิติรัฐสากลต่อประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วง ตั้งคำถาม หรือแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางที่ชนชั้นนำเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม ทั้งด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดี การจับกุมคุมขัง การไม่ให้สิทธิประกันตัว การคุกคามรูปแบบต่างๆ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร การสลายการชุมนุมที่ขัดกับหลักสากล การบังคับสูญหาย หรือการบีบให้ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ฯลฯ    

 

วิธีการเหล่านี้นำไปสู่บรรยากาศของความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าลุกขึ้นมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ไม่กล้าออกมาร่วมชุมนุมประท้วงบนท้องถนน เพราะหวาดกลัวว่าจะถูกเล่นงานแบบเดียวกับที่แกนนำของขบวนการคนรุ่นใหม่จำนวนมากถูกกระทำ จนหลายคนอ่อนแรงและถอดใจกันไปเป็นจำนวนมาก 

 

หากเสรีภาพในการแสดงออกคือหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย การที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัวเช่นนี้ ถือเป็น ‘ของเสีย’ ที่ส่งผลร้ายแรงต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในระยะยาว และไม่ง่ายเลยที่สังคมไทยจะสามารถฟื้นฟูบรรยากาศของการกล้าใช้เสรีภาพโดยปราศจากความกลัวกลับมาได้อีกครั้ง      

 

  1. เพื่อจะเปลี่ยนสมดุลแห่งอำนาจให้กลับมาอยู่ในมือชนชั้นนำ คณะรัฐประหาร 2557 ได้สร้างรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นมา  

 

ในอดีต เมื่อครั้งประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 2540 อำนาจเคยถูกย้ายไปอยู่ในมือของปวงชนชาวไทยและไปอยู่ในมือของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น จนทำให้เกิดรัฐบาล สภา พรรคการเมือง และภาคประชาชน ที่มีความเข้มแข็ง เป็นผลดีต่อสุขภาพของระบอบประชาธิปไตยไทย แต่กลับสร้างความรู้สึกคุกคามต่อชนชั้นนำอนุรักษนิยมเดิม    

 

เพื่อแก้โจทย์ดังกล่าว รัฐธรรมนูญ 2560 ภายใต้อิทธิพลของ คสช. จึงถูกร่างขึ้นมา เพื่อโอนย้ายอำนาจให้กลับไปอยู่ในมือขององคาพยพที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลไกของระบบราชการ องค์กรอิสระ กองทัพ หรือกลุ่มทุนใหญ่ ฯลฯ

 

รัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยในหลายประเด็น ทั้งการจำกัดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การทำให้สถาบันการเมืองที่มาจากประชาชนอ่อนแอลง การไม่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การเพิ่มอำนาจให้กับองคาพยพที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (เช่น อำนาจของ สว. และองค์กรอิสระ) การวางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจเอาไว้หลายชั้น รวมทั้งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

 

รัฐธรรมนูญ 2560 จึงกลายเป็น ‘ของเสีย’ ที่ส่งผลกัดเซาะบ่อนทำลายต่อระบอบประชาธิปไตยไทยอย่างยิ่ง และเป็น ‘ของเสีย’ ที่จนถึงวันนี้สังคมไทยก็ยังไม่สามารถกำจัดมันทิ้งไปได้โดยง่าย 

 

  1. เพื่อบั่นทอนพลังของขบวนการฝ่ายประชาธิปไตย คณะรัฐประหารได้วางกลไกและกติกาเอาไว้ เพื่อบีบให้พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายทางการเมืองของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นคู่ปรับเก่าของชนชั้นนำ ต้องตัดสินใจยอมจัดตั้งรัฐบาลด้วยการ ‘ข้ามขั้ว’ ทางการเมือง หมากเกมนี้ถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ในด้านหนึ่ง ส่งผลให้เครือข่ายฝ่ายอนุรักษนิยมของกองทัพ ข้าราชการ และกลุ่มทุนใหญ่ ยังสามารถสืบทอดอำนาจของตนเองเอาไว้ได้ในคราบของรัฐบาลผสมที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ในอีกด้านหนึ่ง ยังนำไปสู่ความรู้สึกแตกแยก-แบ่งขั้วอย่างรุนแรงภายในขบวนการเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยเองอีกด้วย   

 

แม้ความเห็นต่างและความขัดแย้งภายในขบวนการประชาธิปไตยจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ภายหลังปรากฏการณ์จัดตั้งรัฐบาล ‘ข้ามขั้ว’ ของพรรคเพื่อไทย อันเป็นผลลัพธ์จากกติกาที่วางเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 กลับยิ่งส่งผลให้ความเห็นต่างภายในฝ่ายประชาธิปไตยยิ่งถ่างกว้างและร้าวลึกมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

 

จากเดิมที่เคยมองกันเป็นพันธมิตร ที่แม้จะเห็นต่างแต่ก็มีเป้าหมายร่วมกัน สามารถพูดคุยสนทนาเพื่อหาจุดร่วมสงวนจุดต่างกันได้ แต่ตอนนี้ต่างฝ่ายกลับมองกันและกันเป็นศัตรูที่ไม่อาจเดินร่วมทางกันได้อีกต่อไป เนื่องจากแต่ละฝ่ายต่างยึดหลักการที่ใช้เป็นไม้บรรทัดในการตัดสินถูก-ผิดต่อปรากฏการณ์ ‘ข้ามขั้ว’ แตกต่างกัน และต่างมองว่าตนเองเท่านั้นคือ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ใช่ 

 

ความขัดแย้งร้าวลึกดังกล่าวนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นในการทะเลาะกันระหว่างกองเชียร์ของพรรคเพื่อไทย (แดง) กับพรรคก้าวไกล (ส้ม) เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นจากความขัดแย้งภายในขบวนการของกลุ่มคนเสื้อแดง กรณีการจัดงานรำลึก 14 ปี 19 พฤษภาคม 2553 ในปีนี้ด้วยเช่นกัน 

 

การที่ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยมองเห็นกันและกันเป็นศัตรู ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ถึงขั้นไม่สามารถพูดคุยสื่อสารเพื่อหา ‘จุดร่วม’ กันได้ ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อความเข้มแข็งของขบวนการประชาธิปไตยโดยภาพรวม 

 

ทัศนะที่ต่างฝ่ายต่างมองกันเป็นศัตรู และพร้อมใช้ทุกวิถีทางเพื่อขจัดอีกฝ่ายไปให้พ้นทาง จนลืมไปว่า ‘ใคร’ หรือ ‘อะไร’ คือศัตรูที่แท้จริงของฝ่ายประชาธิปไตย ถือเป็นอีก ‘ของเสีย’ ที่เป็นพิษต่อบรรยากาศความรู้สึกโดยรวมของฝ่ายประชาธิปไตยเอง สภาวะสูญเสียเอกภาพและน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนักต่อสู้ฝ่ายประชาธิปไตยทำให้ขบวนการอ่อนกำลังลง ซึ่งเป็นภาพที่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมต้องการเห็น และขบวนการที่อยู่ในสภาวะอ่อนกำลังเช่นนี้ย่อมไร้เรี่ยวแรงในการผลักดันระบอบประชาธิปไตยไทยให้เดินไปข้างหน้าได้ 

 

ในความเห็นของผู้เขียน การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนและมีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตย ถือเป็นภารกิจเฉพาะหน้าที่จำเป็นที่สุดที่เราต้องผลักดันร่วมกัน เพราะการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการกำจัด ‘ของเสีย’ และบำบัดประชาธิปไตยไทยให้พ้นจากพิษร้ายของระบอบรัฐประหาร 

 

หากรัฐประหาร 2557 คือผลพวงที่ชนชั้นนำถอดบทเรียนจากความผิดพลาดและความเหลวเปล่าของรัฐประหาร 2549 ที่ ‘เสียของ’ 

 

โจทย์ของฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการกำจัด ‘ของเสีย’ ที่รัฐประหาร 2557 ทิ้งไว้กับเรายาวนานมาถึง 10 ปี คือการรักษาเป้าหมายที่ ‘เรา’ ยังพอจะเห็นร่วมกันได้เอาไว้ เพื่อเป็นแสงนำทางเล็กๆ คอยย้ำเตือนเราว่า ยังมีความหวังและความเป็นไปได้อยู่เสมอ ในสภาวะที่เหลียวมองทางไหนก็เห็นแต่ความมืดมน สิ้นหวัง และทางตัน 

 

ถึงแม้วันนี้พวกเราจะยังไม่สามารถขจัดมรดกของคณะรัฐประหารให้หายไปได้ แต่คณะรัฐประหารก็ไม่อาจทำให้พลังของฝ่ายประชาธิปไตยหายไปได้เช่นกัน 

 

การร่วมกันถอดบทเรียนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาอย่างจริงจัง คือภารกิจที่พวกเราสามารถทำได้ เพื่อสานต่อไม่ให้การต่อสู้ของทุกคน ที่บางคนต้องสูญเสียอิสรภาพ ถูกบังคับสูญหาย ถูกบีบให้ลี้ภัย หรือแม้แต่เสียชีวิต ต้อง ‘เสียของ’ โดยสูญเปล่า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X