×

Refinn ครบ 1 ปี รีไฟแนนซ์ปลดล็อกหนี้บ้านกว่า 1,300 ล้านบาท เตรียมดึง AI ช่วยปลดหนี้

05.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • Refinn สตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยออนไลน์ เผยว่า ที่ผ่านมามีผู้ยื่นขอรีไฟแนนซ์ผ่านเว็บไซต์ www.refinn.com คิดเป็นวงเงินกว่า 32,000 ล้านบาท โดยรีไฟแนนซ์ไปแล้ว 600 ครัวเรือน คิดเป็นวงเงิน 1,300 ล้านบาท
  • Refinn ตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะมียอดอนุมัติไม่ต่ำกว่า 3,400 ล้านบาท โดยเล็งนำเทคโนโลยี Machine Learning และ Big Data เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อลดความเสี่ยงของลูกค้า
  • รายได้หลักของธุรกิจมาจากค่าคอมมิชชันจากธนาคารที่เป็นพันธมิตร เพราะไม่ได้คิดค่าบริการกับลูกค้า โดย พรพิมล ปฐมศักดิ์ ซีอีโอ มองว่า ตลาดสินเชื่อบ้านเป็นตลาดใหญ่ที่มีโอกาสมหาศาล

     Refinn เป็นสตาร์ทอัพด้านฟินเทค (FinTech) ที่เราแอบจับตามองตั้งแต่ตอนเปิดตัวเดือนกันยายนปีที่แล้ว ด้วยการหยิบเรื่องการรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัย ซึ่งถูกมองว่า ‘ไกลตัว’ และ ‘ยุ่งยาก’ มาจับคู่กับนวัตกรรมและให้บริการทางออนไลน์ โดยรวบรวมโปรโมชันจากธนาคารชั้นนำ มาคำนวณเปรียบเทียบเพื่อนำเสนอโปรโมชันที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการแต่ละราย หวังช่วยคนไทยลดภาระหนี้และประหยัดเงินจากดอกเบี้ย โดยมี กรณ์ จาติกวณิช ประธานชมรมฟินเทคแห่งประเทศไทย เป็นหัวเรือใหญ่ของบริษัท

     ที่ผ่านมาเราเห็นสตาร์ทอัพรายนี้ไปปรากฏตัวตามโครงการและงานชุมนุมของเหล่าสตาร์ทอัพระดับสากล ขณะที่กระแสรีไฟแนนซ์ออนไลน์เริ่มขยายสู่วงกว้างยิ่งขึ้น จนกระทั่งเมื่อวานนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับทีมผู้บริหาร Refinn ในงานแถลงข่าวครบรอบ 1 ปี ถึงความก้าวหน้าของธุรกิจ กระแสตอบรับ และโจทย์ที่รออยู่เบื้องหน้า ภายใต้การนำของซีอีโอคนใหม่ พรพิมล ปฐมศักดิ์ ที่มีประสบการณ์การทำงานธนาคารกว่า 10 ปี

 

กรณ์ จาติกวณิช ประธาน บริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอทคอม จำกัด

 

1 ปี กับการรีไฟแนนซ์ 600 ครัวเรือน วงเงินสินเชื่อรวม 1,300 ล้านบาท

     กรณ์ จาติกวณิช ประธาน บริษัท รีฟินน์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดอทคอม จำกัด เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาพบว่า คนไทยสนใจและตื่นตัวเรื่องการรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น จากยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์กว่า 4 แสนราย มีผู้ยื่นขอรีไฟแนนซ์ผ่านเว็บไซต์ www.refinn.com คิดเป็นวงเงินกว่า 32,000 ล้านบาท ที่ผ่านมา Refinn ได้เข้ามาช่วยลูกค้ารีไฟแนนซ์ไปแล้ว 600 ครัวเรือน คิดเป็นวงเงินรวม 1,300 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยทีเดียว โดยชี้ว่าแต่ละครอบครัวจะสามารถลดภาระเงินผ่อนจากดอกเบี้ยได้เดือนละประมาณ 6,000 บาท และคาดว่าภายในสิ้นปี 2560 จะมียอดอนุมัติไม่ต่ำกว่า 3,400 ล้านบาท

     กรณ์ชี้ว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักวิชาการมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

     “Refinn ตั้งเป้าตั้งแต่แรกว่าเราอยากช่วยลดภาระหนี้สินให้กับคนไทย เริ่มต้นจากเงินกู้ซื้อบ้าน ซึ่งถือเป็นภาระก้อนใหญ่ที่สุดของคนไทยที่เป็นหนี้ หนี้โดยรวมในระบบการเงินไทยที่กู้ยืมมาเพื่อซื้อบ้านเป็นวงเงินถึง 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุด

     “พอหนี้เยอะ กำลังซื้อของประชาชนก็ลดลง” กรณ์กล่าว

     “หัวใจของฟินเทคคือ ทำอย่างไรที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวก เป็นธรรม มีต้นทุนน้อยลง ถ้าตอบโจทย์นี้ได้ ฟินเทคก็จะไปได้ไกล หากไม่ได้ก็จะเป็นแค่กระแสที่ผ่านไปไม่มีการพัฒนา”

 

 

     ทีม Refinn ตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อประชาชนไทยกู้เงินมาซื้อบ้านค่อนข้างมาก แล้วทำไมมูลค่าของการรีไฟแนนซ์ต่อปีจึงค่อนข้างน้อย ก่อนการก่อตั้ง Refinn มีเม็ดเงินจากการรีไฟแนนซ์ต่อปีประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เทียบกับหนี้โดยรวมในระบบ 3 ล้านล้านบาท

     นั่นเพราะคนเข้าไม่ถึงข้อมูลส่วนของการกู้เงิน และขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์ แค่จะไล่ศึกษาข้อเสนอสินเชื่อบ้านจากธนาคารแต่ละเจ้าเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดก็อาจทำให้หลายคนถอดใจไปก่อน สิ่งที่ Refinn ทำก็คือ เป็นศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลโปรโมชันของธนาคารแต่ละเจ้าไว้ที่เดียว เพื่อคำนวณเปรียบเทียบโปรโมชันที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการแต่ละเคส และช่วยตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้อง และครบถ้วน ตลอดจนช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากซับซ้อน นอกจากนี้ ทีมงานยังดึงผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยให้คำปรึกษา วิเคราะห์ และประเมินโอกาสที่ผู้ใช้บริการจะยื่นขอรีไฟแนนซ์ผ่านอีกด้วย ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกวางใจ และประหยัดเวลาการศึกษาข้อมูลเอง ซึ่งนับว่าตอบโจทย์ Pain Point ได้ตรงจุด

     ปัจจุบัน ตลาดสินเชื่อบ้านมีมูลค่ากว่า 3.4 ล้านล้านบาท ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อบ้านในปีนี้มีการเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ มีการขยายตัวสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่เพิ่มขึ้น 3-5% บ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการรีไฟแนนซ์ในอนาคต จากการสำรวจปัจจุบัน มีผู้สนใจรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เนื่องจากผู้กู้สินเชื่อบ้านตื่นตัวและให้ความสนใจในการลดดอกเบี้ย และเห็นประโยชน์อื่นๆ มากขึ้น ซึ่งประมาณการขนาดของตลาดอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท

     ด้าน พรพิมล ปฐมศักดิ์ ซีอีโอคนใหม่ของ Refinn กล่าวถึงภาพรวมควาสำเร็จที่ผ่านมาว่าเป็นที่น่าพอใจ คนไทยตื่นตัวเรื่องการรีไฟแนนซ์มากขึ้น ธุรกิจเติบโตถึง 30% เมื่อเทียบแบบเดือนต่อเดือน (MoM)

     “ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมามีประชาชนสนใจเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับการรีไฟแนนซ์ผ่านเว็บไซต์โดยรวมประมาณกว่า 4 แสนคน ในส่วนนี้เป็นประชาชนที่มีภาระหนี้ในปัจจุบัน มีผู้เสนอขอรีไฟแนนซ์ผ่าน Refinn คิดเป็นวงเงิน 32,000 ล้านบาท สังเกตได้ว่าเป็นมูลค่ากว่าครึ่งของการรีไฟแนนซ์ในปีปกติก่อนหน้าที่จะมี Refinn”

 

พรพิมล ปฐมศักดิ์ ซีอีโอคนใหม่ของ Refinn

 

ดึง Big Data และ Machine Learning ช่วยคนไทยปลดหนี้

     สำหรับเป้าหมายในปีนี้ของ Refinn พรพิมลเปิดเผยว่า จะมุ่งพัฒนาเว็บไซต์ให้ใช้งานง่ายขึ้น และเริ่มนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เพื่อที่จะกระตุ้นให้ธุรกิจเติบโตในแนวดิ่ง (Hockey Stick Growth) ตามเป้าหมายของบริษัท และขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดในอนาคต โดยเน้นการพัฒนา 3 มิติด้วยกัน คือ

  • ผลิตภัณฑ์: เพิ่มบริการสินเชื่อลดภาระหนี้ หรือ บ้านแลกเงิน (Home for Cash)
  • พาร์ตเนอร์: เตรียมเจรจาขยายพันธมิตรกับธนาคารและกลุ่ม non-bank
  • เทคโนโลยี: นำ Machine Leaning และ Big Data เข้ามาใช้ศึกษากลุ่มลูกค้าและพัฒนาบริการ เช่น คัดกรองข้อเสนอจากธนาคารให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ประเมินโอกาสเพื่อลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธ พัฒนาระบบให้แจ้งผลแบบเรียลไทม์ และลดขั้นตอนการรีไฟแนนซ์

 

     ด้าน นพ-พงศธร ธนบดีภัทร ผู้ร่วมก่อตั้งและ Chief Operation Officer บอกกับเราว่า ในอนาคตมีแผนจะพัฒนาแอปพลิเคชันที่รองรับการคำนวณสำหรับคนที่ต้องการวางแผนการเงินด้วย

     “การรีไฟแนนซ์ 3-5 ปี คนใช้บริการแค่ 1 ครั้ง อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้แอปฯ ดูข้อมูลเสร็จลบแอปฯ ทิ้ง มันไม่เหมือนกับ Internet Banking ที่จะต้องเข้าใช้ทุกวัน ดังนั้น เว็บไซต์ก็ค่อนข้างที่จะตอบโจทย์ แต่เรากำลังมีแผนจะพัฒนาแอปฯ ตัวนี้ด้วย จะเป็นเครื่องมือแอดวานซ์มากขึ้นให้กับคนที่ต้องการคำนวณวางแผนทางการเงิน การบริหารหนี้ ผมว่าคนไทยยังขาดเรื่องการวางแผนเยอะ”

     พงศธรกล่าวว่า การใช้ Machine Learning และ Big Data เข้ามาต่อยอดกับข้อมูลของลูกค้าจะช่วยพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อคัดกรองข้อเสนอที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของลูกค้า เช่น ประวัติการทำงาน รายได้ รวมทั้งวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง ขณะที่ Chatbot ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองใช้เท่านั้น

     “เราเอาข้อมูลเหล่านั้นมาช่วยให้ลูกค้ามีโอกาสยื่นรีไฟแนนซ์ผ่านมากขึ้น ตอนนี้ยอมรับว่าเรายังใช้ specialist ตอบคำถาม และให้คำปรึกษาในบางเคสอยู่ แต่พอเรามีข้อมูลมากขึ้น บอต, Machine Learning และ Big Data มันคงฉลาดมากพอที่จะสามารถแนะนำลูกค้าแต่ละประเภทได้ บางคนเขาแค่อยากจะวางแผนการเงิน สมมติว่ายังไม่ครบ 3 ปี แต่จะรีไฟแนนซ์ บอตจะแนะนำเขาได้ว่าเขาต้องเตรียม statement อย่างไร เขาต้องดูแลวิธีการชำระบัตรเครดิตอย่างไรเพื่อให้รีไฟแนนซ์ผ่านและลดภาระหนี้ได้ ผมว่ามันคงประโยชน์ตรงนั้น”

 

 

ตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อบ้าน กระตุ้นการเติบโตในแนวดิ่ง

     จุดที่น่าสนใจอีกประการคือ ทำไม Refinn จึงเลือกคนในวงการแบงก์โดยตรงอย่าง พรพิมล ปฐมศักดิ์ ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อเพื่อบุคคลทั่วไป ธนาคารแบงค์ออฟไชน่า เข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอต่อจาก นิลทิตา เลิศเรืองศุภกุล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท (ปัจจุบันเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหาร) เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นตำแหน่งซีอีโอสตาร์ทอัพไทยเปลี่ยนมือเร็วในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ

     หรือนี่จะเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่าฟินเทคนี้มีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็วชนิด ‘พุ่งทะยาน?’

     พรพิมล กล่าวกับ THE STANDARD ว่า “จริงๆ แล้วฟินเทคหรือสตาร์ทอัพ ผู้ก่อตั้ง (founder) อาจจะไม่ใช่คนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (expertise) แต่มีความมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจที่ดี เมื่อถึงจุดหนึ่งที่จะไปต่อ ก็อาจจะต้องมี domain expert หรือมีคนที่รู้เรื่องการทำธุรกิจเฉพาะทางเข้ามา add value ตรงนี้ ดังนั้น เขาก็เลยชวนมาทำด้านนี้ เพื่อที่จะผลักดันให้ไปถึง wave ต่อไป

     “เราเข้ามาร่วมกับบริษัทนี้ได้ประมาณ 3 เดือน performance expertise เป็นตัวที่เห็นได้ชัดมากกว่าหลายๆ อย่าง ประสิทธิภาพ (efficiency) มันสูงขึ้น เพราะว่างานพวกนี้เป็นงานที่เราทำอยู่แล้วในแบงก์ ปรับเปลี่ยนกระบวนการ คัดเลือกลูกค้าให้ตรง ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง แล้วก็ติดต่อกับแบงก์ที่เรารู้จัก ให้มีผู้ประสานงาน ตามงานได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรานำมาประยุกต์ใช้ จะเห็นได้ทันทีเลยว่าช่วงเวลาของการทราบผลอนุมัติมันสั้นลงอย่างเห็นได้ชัด (จากเดิมระยะเวลาอนุมัติสินเชื่อ 118 วัน) การติดตามเคส จากเมื่อก่อนเขาไม่รู้ว่าเขาจะต้องถามใครที่ธนาคาร เราก็จะมีคอนเน็กชัน พูดคร่าวๆ คือ เราจัดโครงสร้างการทำงานใหม่ และสร้าง dashboard กำหนด KPI กำหนดเป้าหมายของแต่ละทีมงาน พวกนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้รวดเร็วขึ้น”

     เมื่อถามว่ารายได้ของ Refinn มาจากที่ไหนในเมื่อไม่ได้เก็บค่าใช้บริการ พรพิมลชี้ว่า ปัจจุบันรายได้หลักของ Refinn มาจากค่าคอมมิชชันจากธนาคาร โดยที่ธนาคารเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ เพราะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลและข้อเสนอต่างๆ ของธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมย้ำว่าไม่ใช่คู่แข่งธนาคาร ปัจจุบัน Refinn เป็นพันธมิตรกับ 1 ใน 3 ของธนาคารในตลาด และเผยว่าไม่มีแผนจะคิดค่าบริการกับลูกค้า แต่ในอนาคตอาจมองเรื่องรายได้เสริมในมุมอื่นๆ

     “เราต้องการให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจที่จะเข้ามาใช้ข้อมูลได้อย่างที่ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ แล้วเราก็จะใช้กับแบงก์ในแต่ละเคสด้วย ถ้าสมมติไม่สำเร็จ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าสำเร็จ แบงก์ถึงจะจ่ายค่าคอมมิชชันให้กับเรา”

     เมื่อถามว่าอะไรคือปัจจัยสู่ความสำเร็จของการยืนธุรกิจในระยะยาวของ Refinn พรพิมลกล่าวทิ้งท้ายว่า “ตลาดมันใหญ่มากค่ะ ถ้าเราเพิ่มจำนวนอนุมัติได้ ค่าธรรมเนียมรายรับเราค่อนข้างมหาศาลนะ แต่ตอนนี้เราอยากจะเกาะกลุ่มที่เกี่ยวกับสินเชื่อบ้าน แค่อย่างเดียวมันก็มหาศาลแล้วนะ”

     น่าจับตามองต่อไปว่าฟินเทคไทยรายนี้จะช่วยปลดล็อกหนี้คนไทยได้สำเร็จจริงหรือไม่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising