×

คณะกรรมการศึกษาทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง 2 อนุกรรมการฟังความเห็น-ศึกษาแนวทางทำประชามติ หลังหาข้อสรุปจำนวนครั้งประชามติไม่ได้

โดย THE STANDARD TEAM
10.10.2023
  • LOADING...

วันนี้ (10 ตุลาคม) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พร้อม นิกร จำนง ในฐานะเลขาธิการ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ แถลงผลการประชุมนัดแรก 

 

นิกรกล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อทำให้ประชาชนมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างต่อรัฐธรรมนูญโดยยึดรูปแบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยหลักการคือให้ทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมกันให้มากที่สุดในเรื่องการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง อาจจะ 2 หรือ 3 ครั้ง ซึ่งขณะนี้มีความคิดเห็นอยู่ 2 ทาง จะต้องศึกษารายละเอียดเชิงข้อกฎหมายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมาก่อนหน้านี้ และต้องอยู่ภายใต้กรอบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและกลไกของรัฐสภา

 

นิกรกล่าวต่อว่า คณะกรรมการฯ จะมีการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองและภาคประชาชนที่เสนอค้างอยู่ในสภา และศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550 มาเทียบด้วย โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดของพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ได้ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในสภามาประกอบ

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 คณะ คณะแรก มีอำนาจให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยใช้ระยะเวลาที่จำกัด และคณะที่ 2 เรื่องการกำหนดการทำประชามติว่ากี่ครั้ง เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชน จึงต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยให้รัฐบาลตัดสินใจ คณะอนุกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ศึกษาแนวทางการทำประชามติให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 

 

สำหรับการจัดตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ โดยคณะกรรมการชุดใหญ่จะประชุมเดือนละ 1 ครั้ง และภาคปฏิบัติจะเป็นคณะอนุกรรมการเป็นผู้ขับเคลื่อนการทำงานคู่ขนานเพื่อนำมารวมกันอีกครั้ง

 

ขณะที่ภูมิธรรมกล่าวว่า รัฐบาลเรามีความชัดเจนในการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยืนยันว่าไม่ทำให้ล่าช้า ใช้เวลาเท่าที่จำเป็น โดยภายใน 3 วันนี้จะตั้งคณะอนุกรรมการให้เสร็จ เมื่อมีคำสั่งออกมาก็สามารถปฏิบัติงานได้เลย พร้อมตั้งเป้าประมาณการเบื้องต้นว่า ภายในสิ้นเดือนธันวาคมจะต้องมีข้อสรุปจบให้ได้  

 

โดยย้ำว่าต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จใน 4 ปี ออกกฎหมายลูกให้ชัดเจนและสามารถที่จะใช้กติกาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ ที่สำคัญจะใช้ห้วงเวลาทั้งหมดที่มีทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยให้ได้มากขึ้น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริง คาดว่าจะทำประชามติได้ไม่เกินไตรมาสแรกของปีหน้า  

 

ทั้งนี้ จะต้องสอบถามศาลรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่ ก่อนจะทำประชามติ เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ นิกรกล่าวว่า น่าจะมีคนยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการทำประชามติครั้งนี้อย่างแน่นอน และครั้งนี้เชื่อมั่นว่าต้องผ่าน เนื่องจากมีการเรียนรู้จากครั้งก่อนแล้ว อีกเรื่องหนึ่งคือการดำเนินการภายใต้รัฐสภา ซึ่งข้อบังคับการอยู่ภายใต้วุฒิสมาชิกจะคิดเห็นอย่างไร ต้องมีการประสานกันตามสมควร ซึ่งไม่ใช่ยึดแค่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ต้องพูดคุยกันในวุฒิสภาด้วย จึงเป็นต้นเหตุที่จะต้องตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาในเรื่องนี้โดยละเอียด โดยต้องทำให้รอบคอบมากที่สุด สิ่งไหนที่เป็นปัญหาเราจะแก้ไขและให้ผ่านให้ได้ ซึ่งคณะกรรมการตั้งใจที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X