×

มอง กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไม่เพียงพอดันเงินเฟ้อเข้ากรอบ

18.10.2024
  • LOADING...

หนึ่งในคณะทำงานของรัฐบาลระบุว่า ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ยังไม่เพียงพอหนุนเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3% ชี้แบงก์ชาติควรทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มากกว่านี้

 

ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากเดิม 2.50% มาอยู่ที่ 2.25% โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี 

 

คณะทำงานของรัฐบาลให้ข้อมูลว่า การประกาศลดดอกเบี้ยครั้งนี้ถือว่าเกินความคาดหมาย เพราะไม่มีใครคิดว่าจะลดในช่วงเดือนตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ต่างมองว่าควรจะลดตั้งนานแล้วและควรลดลงมากกว่านี้ เพราะจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างตึงตัว แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับส่งสัญญาณอย่างแข็งขันมาตลอดว่าจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยลง และบอกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ระดับเป็นกลาง

 

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญต้องดูว่าดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นกลางอยู่ตรงไหน และความเป็นกลางเอามาจากตรงไหนกันแน่ นั่นคือสิ่งสำคัญกว่า 

 

ก่อนหน้านี้ ธปท. อ้างว่าดอกเบี้ยนโยบายเป็นกลางแล้ว ซึ่งถ้าก่อนหน้านี้ที่ 2.5% เป็นกลาง แล้วพอลดลงมาที่ 2.25% ก็บอกว่าเป็นกลางอีก คำถามคือดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ต้องมีวิธีการคำนวณหรือไม่

 

โดยขอยกตัวอย่างเช่น ช่วงก่อนโควิดเมื่อปี 2557-2562 ในภาวะปกติอัตราเฉลี่ยเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 0.6% ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75% GDP โต 3% ธปท. ก็บอกว่าปกติ

 

หากนำอัตราดอกเบี้ย 1.75% ลบด้วย 0.6% ดอกเบี้ยนโยบายจริงคือ 1.15% อาจอ้างได้ว่าเป็นนโยบายการเงินที่เป็นกลาง แต่ส่วนตัวยังมองว่าอาจจะตึงเกินไป 

 

เพราะเป้าหมายอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่กรอบ 1-3% ไม่ใช่ 0.6% ถือว่าดอกเบี้ย 1.75% ไม่ปกติและตึงเกินไป เพราะ ธปท. มีเป้าเงินเฟ้อที่สัญญาไว้กับรัฐบาลไทยว่าต้องอยู่ในกรอบ 1-3% หากไม่ถึงเป้าหมายนั้นแปลว่านโยบายตึงเกินไปหรือไม่ 

 

ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 0.6% (ไม่ถึงกรอบล่างที่ 1% และยังไม่ใกล้เคียงกับค่ากลาง) แต่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% เมื่อลบกันแล้วอยู่ที่ 1.65% ถือว่ายังสูงอยู่ 

 

“ธปท. ยังสามารถลดดอกเบี้ยลงได้อีก ยังต้องผ่อนคลายได้มากกว่านี้ เพราะตามเงื่อนไขในกฎหมาย ธปท. ต้องทำให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3% ตอนนี้เงินเฟ้อยังไม่ถึง 3% ธปท. ก็ใช้วิธีอธิบายว่าเพราะอะไรจึงไม่ถึง 3% มีความรับผิดชอบอยู่แค่นั้น แต่ไม่ได้โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนรัฐบาล” แหล่งข่าวกล่าว

 

เมื่อถามว่าอะไรที่จะทำให้ ธปท. เชื่อมโยงกับประชาชนในการดำเนินนโยบายการเงิน แหล่งข่าวกล่าวว่าขึ้นอยู่กับแนวคิดของเขาว่าเขาอยู่ในสถานะอะไร ถ้าคิดว่าเป็นองค์กรอิสระก็จะทำตัวแบบหนึ่ง ต่อเนื่องจากกฎหมายที่เขียนออกมา ซึ่งกฎหมายที่ปรับปรุงในปี 2551 ระบุว่า ธปท. มีหน้าที่คุมเสถียรภาพทางการเงิน โดย ‘คำนึงถึงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล’ เหมือนเป็นเพียงการรับรู้เท่านั้น ต่างจากธนาคารกลางของอังกฤษที่ในกฎหมายของเขาใช้คำว่า Work with หรือ ‘ทำงานร่วมกับรัฐบาล’ มีน้ำหนักต่างกัน 

 

สำหรับการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะช่วยเหลือประชาชนได้หรือไม่ ตามหลักการเมื่อ ธปท. ส่งผ่านนโยบายไปยังธนาคารแล้ว ธนาคารก็ต้องทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง บรรเทาหนี้ให้กับประชาชน คนเป็นหนี้ได้ประโยชน์ อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับประชาชนอย่างไร 

 

นอกจากนี้การลดดอกเบี้ยช่วยเพิ่มปริมาณเงินในประเทศ ซึ่งโดยหลักการแล้วจะทำให้บาทอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่ ธปท. ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบาย ค่าเงินบาทอยู่ 33.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ ณ วันนี้ (18 ตุลาคม) ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นไปได้ว่าตลาดอาจตีความการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ยังไม่เพียงพอ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising