×

เปิดมุมมองการลงทุน…ลดหย่อนภาษีอย่างไรให้คุ้มค่า

28.10.2021
  • LOADING...
tax deduction

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกวันนี้เรามีความเกี่ยวข้องกับภาษีหลายประเภท ทั้ง ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)’ และ ‘ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย’ นอกจากนี้ ผู้มีรายได้อย่างเราๆ ต้องคุ้นชินกับการยื่น ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’ ทุกปี ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษี ขึ้นอยู่กับรายได้ของเราเอง ยิ่งมีรายได้มาก ก็ต้องจ่ายภาษีมาก แต่ถ้าเรารู้จักวางแผนภาษี ก็จะช่วยให้เราประหยัดได้มากขึ้น 

 

เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 4 การวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า เท่ากับเป็นการเพิ่มเงินออมไปในตัว ในบรรดาหลายๆ ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ จะมีค่าใช้จ่ายประเภทหนึ่งที่เป็นการส่งเสริมการออม อย่างเช่น การซื้อประกันชีวิตและการลงทุนในกองทุน RMF, SSF ที่ล่าสุดได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา วันนี้เราจะมาทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษี พร้อมรายละเอียดน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการวางแผนลดหย่อนภาษีในรอบปี 2564

 

กองทุน และประกันชีวิต ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแตกต่างกัน และมีเงื่อนไขการนับรวมกัน ข้อนี้ต้องระวัง เมื่อพร้อมแล้วก็จะขอพูดถึงทีละผลิตภัณฑ์ เริ่มจากกองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมีด้วยกัน 2 ประเภทคือ 

 

  1. กองทุนรวมเพื่อการออม SSF (Super Savings Fund) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมให้มีระยะยาวขึ้น เรามีสิทธิซื้อกองทุน SSF เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และจะต้องถือครองเป็นระยะเวลา 10 ปีปฏิทิน โดยในเบื้องต้นกองทุน SSF จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี  สำหรับผู้ที่ลงทุนตั้งแต่ปี 2563-2567 หลังจากนั้นจะถูกประเมินและทบทวนอีกครั้งโดยกระทรวงการคลัง ส่วนเงื่อนไขการลงทุน ปีไหนซื้อปีนั้นได้ลดหย่อน และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อลงทุนครบ 10 ปี ปฏิทิน    

 

  1. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF (Retirement Mutual Fund) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออม สำหรับเป็นเงินออมที่รองรับชีวิตหลังเกษียณ โดยได้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ มีผลตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ให้สามารถซื้อกองทุน RMF เพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท  โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำในการลงทุน ให้เป็นไปตามที่แต่ละกองทุนกำหนด แต่เงื่อนไขการลงทุนต่อเนื่องทุกปี และเว้นได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน ยังคงเหมือนเดิม ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และถือครองไม่ต่ำกว่า 5 ปีเต็ม

 

ส่วนทางด้านประกันชีวิต จะมี 2 ประเภทหลักๆ ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ ประกันชีวิตทั่วไป และประกันชีวิตแบบบำนาญ 

 

  1. ประกันชีวิตทั่วไป แบบประกันชีวิตที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้นั้นต้องเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เราสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท โดยนับรวมเบี้ยประกันภัยในส่วนสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ (ถ้ามี) ได้สูงสุด 25,000 บาท (เริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2563)

 

  1. ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันชีวิตแบบนี้มอบความคุ้มครองชีวิตและมอบเงินคืนเป็นงวดๆ หลังจากที่เราเกษียณไปแล้ว เราสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ชำระมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท และหากเราไม่ได้ซื้อประกันชีวิตทั่วไป ก็สามารถใช้ประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท

 

ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนมีเงื่อนไข คือจะต้องนับรวมกองทุน SSF, RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท

 

มาถึงตรงนี้ขอแชร์เทคนิคการเลือกประกันชีวิตเพื่อใช้ในการลดหย่อนภาษี เนื่องจากประโยชน์หลักของประกันชีวิตคือความคุ้มครองชีวิต หากมองแต่มุมของการลดหย่อนภาษี โดยไม่พิจารณาองค์ประกอบอื่นเราอาจพลาดสิ่งดีๆ ที่ควรได้รับจากประกัน ดังนั้นในการเลือกซื้อประกันควรพิจารณาจากแบบประกันที่ตรงกับความจำเป็นหรือความต้องการเพื่อมาปิดความเสี่ยงที่กังวล เช่น ต้องการสร้างหลักประกันเพื่อดูแลครอบครัวต่อจากคุณ ต้องการสร้างแผนเงินออมพร้อมเป็นหลักประกันระยะยาว หรือต้องการสร้างแผนรองรับด้านสุขภาพ เป็นต้น หากเราสามารถสร้างโจทย์ได้ชัดเจนเราก็จะได้ประโยชน์จากประกันชีวิต ทั้งในแง่ความคุ้มครองและผลประโยชน์ด้านภาษี

 

จากแบบประกันที่มีให้เลือกหลากหลายในตลาด มักมีผลิตภัณฑ์ประกันใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า และไม่ได้ให้แค่ความคุ้มครองชีวิตหรือเงินคืนอย่างเดียว ประกันที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิต พร้อมเงินคืนทุกปี มีเงินก้อนเมื่อครบกำหนดสัญญา ทั้งยังให้ความคุ้มครองโรคร้ายแรง และหากไม่เคลมโรคร้ายแรงก็คืนเบี้ยประกันภัยในส่วนโรคร้ายแรงให้อีก ลองคิดดูว่าหากเราซื้อประกันนี้แล้วนำมาลดหย่อนภาษีได้อีก เรียกว่ารับประโยชน์เต็มๆ เลยทีเดียว ส่วนนิติบุคคล เบี้ยประกันภัยที่ชำระให้พนักงาน หรือชำระให้บริษัทก็สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 

 

นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดในการวางแผนภาษี ควรพิจารณาในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ภาระหนี้สิน หากเป็นประกันชีวิตต้องพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยประกอบด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าแผนของเรามีความเหมาะสม และจะไม่เป็นภาระในภายหลังจนกระทบกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่น สิ่งเหล่านี้จะมีส่วนที่ช่วยให้เราวางแผนภาษีได้ชัดเจนขึ้น และได้ประโยชน์ทางภาษีแบบเต็มๆ

 

หากท่านใดสนใจสามารถขอคำแนะนำหรือรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันเพื่อลดหย่อนภาษีได้ที่ SCB ทุกสาขา 

 

หมายเหตุ:

  • รับประกันภัยโดย บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต
  • ธนาคารเป็นเพียงนายหน้าผู้ชี้ช่องให้ทำประกันภัยเท่านั้น
  • ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียด ลักษณะสินค้า ความคุ้มครอง เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุนและทำประกันทุกครั้ง
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X