×

ลดใช้พลาสติก ภารกิจร่วมจากหลากธุรกิจรักษ์โลก

โดย THE STANDARD TEAM
28.11.2018
  • LOADING...

วาฬน้ำลึกที่ขึ้นมาเกยตื้นพร้อมด้วยขยะจำนวนมหาศาลภายในท้อง

เต่าทะเลที่ถูกรัดตรึงด้วยเศษของอวนจับปลา

หรือแม้กระทั่ง… ปูเสฉวนที่ใช้ฝาของขวดเครื่องดื่มแทนกระดอง

 

เหล่านี้คือภาพสะท้อนของสถานการณ์ขยะพลาสติกในท้องทะเลจำนวนมหาศาลได้เป็นอย่างดี

 

ในแต่ละปี ทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ กว่า 50% เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก รวมไปถึงภาชนะพลาสติกอื่นๆ และในจำนวนนี้มีขยะพลาสติกมากถึง 13 ล้านตันที่ไหลลงสู่ท้องทะเล

 

 

ขยะพลาสติกเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และจำนวนหนึ่งกลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลเพราะรูปร่างคล้ายอาหารของพวกมัน มีการประมาณการว่าในทุกปี เต่าทะเล นกทะเล วาฬ โลมา และพะยูนนับแสนตัวต้องตายจากการกินพลาสติกเข้าไป เฉพาะในประเทศไทยพบสัตว์ทะเลหายากที่ตายจากการกินขยะพลาสติกและเศษเครื่องมือทำการประมงเฉลี่ย 300 กว่าตัวต่อปี และอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกขยะเหล่านี้รัดตรึงตามลำตัวจนเป็นอุปสรรคในการเติบโต หาอาหาร และตายลงในที่สุด

 

 

พลาสติกคือหนึ่งในความคุ้นชินของคนไทย

คนไทยมีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกในชีวิตประจำวันอย่างคุ้นชิน ยกตัวอย่างเช่น การซื้อกาแฟ 1 แก้วนั้นสร้างขยะพลาสติกมากถึง 4 ชิ้น ได้แก่ แก้วพลาสติก ฝาพลาสติก หลอดพลาสติก และถุงพลาสติก  

 

จากพฤติกรรมการบริโภคนี้ทำให้สถานการณ์ขยะพลาสติกในประเทศไทยนั้นอยู่ในขั้นวิกฤต โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตันต่อปี เฉลี่ยคิดเป็น 7,000 ตันต่อวัน โดยขยะเหล่านี้ใช้เวลาย่อยสลายยาวนานถึง 450 ปี หากกำจัดด้วยวิธีฝังกลบจะใช้พื้นที่มากกว่าขยะปกติถึง 3 เท่า หรือหากนำไปเผาทำลายจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังทิ้งสารตกค้างปนเปื้อนไว้ในดินและน้ำอีกด้วย  

 

นอกจากนี้องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเลยังได้เผยข้อมูลว่า ไทยติดอยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดราว 1 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับการนำขยะเต็มรถบรรทุกไปทิ้งลงทะเลทุกๆ นาทีในทุกๆ วัน

 

หลายองค์กรตื่นตัวในการลดสร้างขยะพลาสติก

ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต่างตื่นตัวและตระหนักถึงปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นด้วยการงดใช้ขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก ตัวการสำคัญที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 11 แห่ง รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 5 ราย ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ซึ่งมีปริมาณมากถึง 2,600 ล้านชิ้นต่อปี คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 520 ตัน หรือมีความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลกถึง 6.5 รอบ โดยตั้งเป้างดใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มทั้งหมดภายในปี 2562

 

นอกจากนี้องค์กรภาครัฐและเอกชนยังมีแคมเปญงดแจกถุงพลาสติกและรณรงค์ใช้ถุงผ้า ไม่ว่าจะเป็นกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ผู้ป่วยพกถุงผ้ามารับยาเอง หรือร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่มีโปรโมชันสะสมแต้มหากไม่รับถุงพลาสติก หรือในแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งต่างนำร่องด้วยการงดแจกถุงพลาสติกและมีถุงผ้าให้ยืมใช้ เช่น ร้านสะดวกซื้อในเกาะเต่าและเกาะหลีเป๊ะ

 

อีกทั้งในกลุ่มของโรงแรม ร้านกาแฟ และร้านอาหารหลายแห่ง ต่างผุดแคมเปญใช้หลอดกระดาษแทนการใช้หลอดพลาสติก รวมไปถึงการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของเครื่องใช้อย่างสบู่ แชมพู และโลชั่น มาเป็นผลิตภัณฑ์แบบถาวรแทนผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เพื่อลดการใช้พลาสติกและลดปริมาณก๊าซที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต

 

 

วิกฤตขยะพลาสติกทำให้ผู้คนลดสร้างขยะพลาสติก

เพราะผู้คนตระหนักถึงวิกฤตของขยะพลาสติกกันมากขึ้น ทำให้ใครหลายคนเริ่มหันมามีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Living) นับตั้งแต่การลด ละ เลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง นำมาสู่ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly Product) ไปพร้อมๆ กับที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเอง เช่น ปัจจุบันผู้คนเริ่มมองหาแก้วน้ำ กล่องข้าวแบบพกพา เพื่อนำไปใส่เครื่องดื่มและอาหาร เป็นการลดขยะพลาสติกไปอีกทาง

 

ธุรกิจเพื่อโลกแบบยั่งยืน

หลายธุรกิจได้ปรับตัวรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นด้วยการดำเนินธุรกิจแบบ Green Business ภายใต้แนวคิดความยั่งยืน (Sustainability) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

อย่างล่าสุดที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตในจังหวัดภูเก็ตได้เริ่มต้นร่วมมือกันเพื่อลด ละ เลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ภายใต้คอนเซปต์ 3R: Reducing, Reusing และ Recycing เพื่อหวังลดปริมาณขยะพลาสติก เพราะการลดใช้พลาสติกนั้นคือหัวใจหลักของความยั่งยืน โดยมีโรงแรมนำร่องไปแล้วหลายแห่ง เช่น Six Senses Hotels Resorts Spas, Trisara, JW Marriott ฯลฯ

 

 

เลือกภาชนะใช้ซ้ำ หนึ่งแนวทางต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติก

แม้แต่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ยังต้องรณรงค์ให้เลือกใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ หากไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกให้ปฏิเสธที่จะใช้ เพื่อต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติก

 

ดังนั้นหนึ่งแนวทางในการลดขยะพลาสติกก็คือการงดใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้เสร็จปุ๊บทิ้งปั๊บ อย่างหลอดพลาสติก ช้อน จาน และแก้วน้ำพลาสติก โดยอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่มีหลากหลายตัวเลือกเพื่อลดมลภาวะตั้งแต่กระบวนการผลิต รวมไปถึงลดภาระให้กับโลกเพราะสามารถย่อยสลายได้ เช่น

 

  • พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) เป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ ผลิตด้วยวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง มันเทศ และมันสำปะหลัง ทดแทนการใช้ไฮโดรคาร์บอนจากปิโตรเลียม ทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตที่สามารถย่อยสลายและกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ภายในอย่างน้อย 180 วัน

 

  • ชานอ้อย ผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากกระบวนการผลิตน้ำตาล สามารถทนความร้อนได้สูงกว่าพลาสติก และไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายกับร่างกาย แต่มีราคาสูงกว่าถึง 2 เท่า ผลิตภัณฑ์จากชานอ้อยนี้ใช้เวลาในการย่อยสลายได้ในเวลาประมาณ 45 วัน และกลายเป็นปุ๋ยให้กับพืชได้หลังจากนั้น

 

  • กาบหมาก หนึ่งบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ 100% ที่ใช้ความร้อนในการขึ้นรูปเป็นภาชนะ ปราศจากการฟอกสีและสารเคมี ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ แต่ข้อเสียคืออาจใช้ได้เพียงครั้งเดียว และอาจขึ้นราได้หากไม่ตากให้แห้งหลังจากทำความสะอาด

 

นอกจากการใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเพื่อทดแทนการใช้โฟมและพลาสติกแล้ว การใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ เช่น แก้วน้ำ กล่องข้าว หรือถุงผ้า ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้เช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X