‘เศรษฐพุฒิ’ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ตอบปมข้อเสนอลดค่าธรรมเนียม FIDF ลงครึ่งหนึ่งว่า ต้องรอดูความชัดเจนในรายละเอียดอีกที ธปท. เผย หากลดค่าธรรมเนียมดังกล่าว ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น 5 พันล้านบาทต่อปี และทำให้หนี้ FIDF ที่มียอดคงค้าง 5.8 แสนล้านบาท ‘หมดช้าลง’
วันนี้ (24 สิงหาคม) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้ปรับลดค่าธรรมเนียมกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) ลงครึ่งหนึ่ง จากระดับ 0.47% ของฐานเงินฝาก โดยระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป โดยต้องรอดูความชัดเจนในรายละเอียดอีกที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คลังชี้ ควรโยกหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้แบงก์ชาติ ลดหนี้สาธารณะได้กว่า 5% จริงเหรอ?
- อ่าน (ฝัน) ใจ ทักษิณ “ผมอยู่เมืองนอกมา 17 ปี วันแรกที่กลับมา เห็นคนไทยไม่ยิ้มเหมือนเดิม เพราะหนี้สินเยอะ” ขอสางหนี้ สูตรยุคต้มยำกุ้ง!
- ถ้าไม่มี ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เศรษฐกิจไทยต้องการอะไร?
ดร.เศรษฐพุฒิ ยืนยันว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวหลังจากเรียกเก็บมาแล้ว ธปท. ไม่ได้เป็นคนเก็บไว้ แต่นำส่งให้กระทรวงการคลังเพื่อไปชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของ FIDF ซึ่งมียอดคงค้างอยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท
พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะให้ความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว สำหรับหลักการหรือขั้นตอนทางกฎหมายในการลดค่าธรรมเนียมดังกล่าว ธปท. ต้องเป็นผู้เสนอ ก่อนจะส่งให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในที่สุด
ก่อนหน้านี้ ในงาน Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 ซึ่งจัดโดย Nation TV ทักษิณเสนอว่า ให้ปรับลดเงินนำส่งที่สถาบันการเงินนำส่ง FIDF และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ‘ลงเหลือครึ่งหนึ่ง’ โดยอีกครึ่งให้ธนาคารพาณิชย์นำมาช่วยลดหนี้รถยนต์และหนี้บ้าน เพื่อช่วยลดหนี้เสียในระบบ
ขณะที่ สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลังจากเก็บค่าธรรมเนียมมาจากสถาบันการเงินในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้แล้ว ธปท. จะนำเงินส่งไปชำระหนี้ในเดือนกันยายน ซึ่งทำให้ยอดหนี้ FIDF จะลดลงเหลือ 5.5 แสนล้านบาท
พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ธปท. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้ราวปีละ 7 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยหนี้ FIDF ปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินต้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะเป็นผู้จัดการ ซึ่งปกติจะจ่ายเงินต้นที่มีดอกสูงก่อน
โดยหากลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวลงเหลือ 0.23% จะทำให้เรียกเก็บเงินต่อปีได้ลดลง 3.5 หมื่นล้านบาท และทำให้เกิดต้นทุนต่อเนื่องอีก 2 ส่วน ได้แก่ ทำให้เงินต้นลดช้าลง และทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก 5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ต้องนำส่งค่าธรรมเนียมคิดเป็น 0.47% ของฐานเงินที่รับจากประชาชนไปให้กับ ธปท. โดยค่าธรรมเนียม 0.47% จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรก หรือ 0.01% ต่อปีของฐานเงินฝาก จะส่งให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ขณะที่ 0.46% ของยอดเงินจะนำไปใช้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของ FIDF