×

RedLife ความรักผลิบานท่ามกลางความเส็งเคร็งของสังคม

04.11.2023
  • LOADING...
RedLife

ถือเป็นปีทองของวงการหนังไทยจริงๆ หลังจากที่ สัปเหร่อ ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ก็ดูเหมือนว่ากระแสเหล่านั้นได้ส่งต่อมาสู่หนังเรื่องอื่นๆ ที่เข้าตามมาด้วย เช่น ธี่หยด และ เพื่อน(ไม่)สนิท แต่ท่ามกลางเสียงตอบรับอย่างล้นหลามของคนดูที่กลับมาคึกคักกันอีกครั้งในรอบหลายปี การแข่งขันของคนทำหนังกับสตูดิโอก็ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในวงจรนี้ และดูเหมือนว่า RedLife ของ เอกลักญ กรรณศรณ์ ที่ไปสร้างชื่อไว้ในงาน Tokyo International Film Festival (TIFF) ก็เลือกที่จะลงสนามในช่วงเวลานี้เช่นเดียวกัน

 

RedLife มุ่งเน้นไปที่เรื่องราวของกลุ่มคนรอบวงเวียน 22 กรกฎาคมที่ต้องเอาตัวรอดไปพร้อมกับการไขว่คว้าหาความรักในสังคมที่ไร้ซึ่งความปรานี เต๋อ (แบงค์-ธิติ มหาโยธารักษ์) เด็กหนุ่มที่พยายามหาเงินด้วยการเป็นโจรวิ่งชิงทรัพย์เพื่อสร้างอนาคตกับ มายด์ (จ๋อมแจ๋ม-กานต์พิชชา พงษ์พานิชย์) หญิงสาวขายบริการที่เขาตั้งใจมอบความรักให้ แต่เต๋อกลับพบว่ายิ่งเขาพยายามมากเท่าไร ชีวิตรักที่เคยใฝ่ฝันเอาไว้กับเธอยิ่งหายไปเร็วมากขึ้นเท่านั้น 

 

ในขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่ง ส้ม (ซิดนีย์-สุพิชชา สังขจินดา) ลูกสาวเพียงคนเดียวของ อ้อย (กรองทอง รัชตะวรรณ) โสเภณีข้างถนน ก็เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปหลังจากที่ตกหลุมรัก พีช (ฝ้าย-สุมิตตา ดวงแก้ว) รุ่นพี่ไอดอลสาวที่เต็มไปด้วยปริศนา และทำให้ส้มได้เรียนรู้ว่าราคาของความรักนั้นอาจแลกมากับทั้งชีวิตของเธอ

 

RedLife

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่หนังเลือกหยิบเอาสถานที่อย่างวงเวียน 22 กรกฎาคม มาใช้เป็นพื้นหลัง ส่งผลให้มันกลายเป็นส่วนสำคัญที่สามารถชักจูงให้คนดูรู้สึกคล้อยตามไปกับสถานการณ์ของตัวละครได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะความอัตคัดของพื้นที่นั้นชัดเจนจนแทบจะไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ 

 

อีกส่วนที่น่าพูดถึงคือ การที่หนังนำเสนอเรื่องของคนชายขอบ ซึ่งถือเป็นความตั้งใจที่น่าปรบมือดังๆ ให้กับคนทำหนัง ฉะนั้นการที่มันปรากฏอยู่ในหนังไทยจึงเป็นสิ่งควรค่าแก่การรับชมอย่างมาก โดยเฉพาะในโรงภาพยนตร์ที่ความแออัดเหล่านั้นถูกขยายภาพใหญ่ให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมและอันตรายอย่างชัดเจน จนน่าตั้งคำถามว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้มีสิ่งใดเปลี่ยนไปบ้าง หรือแท้จริงแล้วมันไม่เคยเปลี่ยนไปเลยต่างหาก

 

 

ไม่แน่ใจว่าคนทำหนังตั้งใจวางกลไกนี้เอาไว้หรือไม่ หนังดูเหมือนจะเป็นภาพสะท้อนของผู้คนที่กำลังเสพสุขบนความยากลำบากของคนที่กำลังร่วงหล่นจาก ‘ความเป็นมนุษย์’ กลายไปเป็น ‘ซากเดน’ ที่ถูกเหยียบย่ำให้อยู่ต่ำสุดของพีระมิดทางสังคม ด้วยการทำให้ฉากขำขื่นเหล่านั้นถูกบอกเล่าผ่านท่าทีของตัวละครที่กำลังเผชิญกับความน่าสังเวช ที่ในมุมหนึ่งมันสร้างเสียงหัวเราะ แต่อีกมุมคือทำให้คนดูกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่สนุกกับการเอาชีวิตของพวกเขามาเป็นความบันเทิงโดยไม่รู้ตัว 

 

แต่เป้าประสงค์ของหนังก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจ เมื่อมันพาคนดูดำดิ่งไปกับสถานการณ์ของตัวละครที่เหมือนจะมืดหม่นลงทุกทีที่พวกเขาตัดสินใจเดิมพันอนาคตของตัวเองไว้กับเงิน แน่นอนว่าต่อให้ไม่ต้องเป็นเหมือนตัวละครในเรื่อง ทุกคนก็ต่างรับรู้ดีอยู่แล้วว่าอำนาจของเงินสามารถทำอะไรได้ เงินจึงกลายเป็นศูนย์กลางที่ขับเคลื่อนเรื่องราวไปพร้อมกับความจนของตัวละคร เพราะทางออกเดียวที่พวกเขามีคือการหาเงินเพื่อใช้มันเป็นใบเบิกทางพาตัวเองออกไปจากสังคมที่แสนโสมม 

 

หนังไม่มีความประนีประนอมกับชะตากรรมใดๆ ของตัวละคร มิหนำซ้ำ ความหวังอันแสนริบหรี่ก็ดูเหมือนอยู่ไกลเกินกว่าที่คนอย่างพวกเขาจะเอื้อมถึง แต่ก็นั่นแหละ นอกเหนือจากความรุนแรงและหนักหน่วง สิ่งที่ดูเหมือนจะฉุดรั้งภาพรวมของหนังเอาไว้คือการที่มันสวยงามเกินไปท่ามกลางความกักขฬะของสังคม โดยเฉพาะบางสถานการณ์ที่ดู ‘ประดิษฐ์’ และ ‘ไม่สมเหตุสมผล’ จนแทบไม่น่าเชื่อว่า ชีวิตของคนคนหนึ่งจะประสบพบเจอกับเรื่องเลวร้ายได้ราวกับพระเจ้าตั้งใจประเคนให้แต่ความวายป่วง 

 

An Elephant Sitting Still (2018)

 

มีหนังมากมายที่ว่าด้วยชีวิตอันแสนขมขื่นของตัวละครอย่างชัดเจน เช่น Manchester by the Sea (2016) ของ Kenneth Lonergan ที่ว่าด้วยเรื่องของชายหนุ่มที่พบเจอกับเรื่องน่าเศร้ามากมายในชีวิต แต่แง่หนึ่งที่หนัง 2 เรื่องนี้ต่างกันอย่างชัดเจน คือ การที่มันเปิดพื้นที่ให้ตัวละครได้มีเวลาพักหายใจและสำรวจมุมมองอื่นๆ ในโลกใบนั้น ซึ่งมันส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของสถานการณ์ที่ตัวละครกำลังเผชิญอยู่ในร่องของความจริงมากกว่าความแฟนตาซีที่ดูยึดติดเพียงแค่ด้านเดียว

 

หรือ An Elephant Sitting Still (2018) ของ Hu Bo ที่ว่าด้วยเรื่องของกลุ่มคนที่อึดอัดกับชีวิตในเมืองและพยายามจะตะเกียกตะกายออกไปเพื่อหาความสุขเล็กๆ อย่างการไปนั่งดูช้างในสวนสัตว์ และแม้ RedLife จะรุนแรงกว่าในแง่ของความแอ็กชันและจังหวะ แต่ตอนจบของหนังก็ชวนให้นึกถึงแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์ที่จนแล้วจนรอดก็ไม่รู้ว่าความสุขหรือทางออกที่พวกเขากำลังตามหานั้นมีอยู่จริงไหม

 

แต่ปัญหาที่ทำให้ตอนจบของ RedLife ดูขาดพลังไปคือ การที่มันไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับตัวละคร เราอาจอนุมานได้ว่าสิ่งนั้นคือการหาเงินเพื่อออกไปจากสังคมที่ไม่น่าอภิรมย์ แน่นอนว่าคนทำหนังเองก็ไม่จำเป็นต้องเฉลยทุกอย่างให้กับคนดู แต่การมีหมุดหมายให้ยึดเกาะอย่างเป็น ‘รูปธรรม’ มากกว่า ‘นามธรรม’ ก็อาจเป็นสิ่งที่ทำให้การขมวดปมที่ดูไร้ทางออกสามารถสำแดงความสิ้นหวังของมันได้มากกว่านี้ ท่ามกลางวังวนอันมืดมิดของตัวละคร

 

 

ว่าไปแล้วความรักที่ดูหวานอมขมกลืนภายในเรื่องก็น่าตั้งคำถามเช่นกัน อาจไม่ใช่ของเต๋อกับมายด์ ที่มีแรงขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม แต่เป็นสองสาวอย่างพีชกับส้ม ที่สะดุดรักแรกพบจนนำไปสู่ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล ราวกับคนทำหนังต้องการจะประดิษฐ์สถานการณ์ที่ดูเกินธรรมชาตินี้เพื่อผลักดันให้เรื่องราวของตัวละครไปสู่จุดที่หลงละเมอเพ้อพกเพียงอย่างเดียว ก่อนที่จะตบหน้านำเธอกลับมาเล่นบท ‘เหยื่อ’ อีกครั้ง 

 

แต่ในทางหนึ่งก็เข้าใจได้ว่าเจตนาของคนทำหนังเป็นอย่างไร เพราะเนื้อในของมันก็ยังคงพูดถึงความหลงใหลและความไร้อำนาจของคนตัวเล็ก เมื่อต้องยืนหยัดต่อหน้าคนรวยที่ไม่รู้สึกรู้สากับสิ่งที่ตัวเองทำลงไป ส่วนหนึ่งอาจมาจากความต่างทางฐานะที่ทำให้เธอคนนั้นคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ มันเป็นเพียงแค่วันธรรมดาวันหนึ่ง ซึ่งดูไม่ต่างจากทุกวันที่ผ่านมา แต่สำหรับเธออีกคนวันเวลาเหล่านั้นกลับพรากความหวังและอนาคตไปอย่างช้าๆ โดยที่ไม่สามารถต่อรองอะไรได้

 

ในทำนองเดียวกัน ความรักที่เปรียบดั่งแสงส่องนำทางจึงกลายเป็นเหมือนพลุไฟที่สว่างวาบแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะถูกความมืดกลืนหายไปตลอดกาล 

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในส่วนของนักแสดง คนที่น่ากล่าวถึงที่สุดคือ นาย-มานพ มีจำรัส ในบทของ ‘ลุงกั๊ก’ อดีตนางโชว์คาบาเรต์ค่าตัวสูงที่พักอาศัยอยู่ในห้องซอมซ่อ และเก็บขยะขายเพื่อรอคอยวันที่สายลมจะพัดพาคนรักกลับมา เพราะการแสดงที่น้อยแต่มากของเขาสะกดคนดูได้ทุกครั้งที่ออกมาพรรณนาถึงชีวิตในอดีต ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสวยงามกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

 

ถ้าว่ากันตามตรง ความเป็นมาของตัวละครนี้ช่างดูน่าค้นหาเสียยิ่งกว่าคนหนุ่มสาวและโสเภณีภายในเรื่อง แต่ก็น่าเสียดายที่บทบาทของลุงกั๊กไม่ได้มีเยอะเหมือนกับตัวละครอื่นๆ การแสดงที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพและประสบการณ์ในฐานะเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาการแสดง ของเขาเลยไม่ได้มีพื้นที่ให้ฉายแสงเท่าที่ควร 

 

RedLife

 

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตสำคัญนอกจากภาพรวมของหนังคือ การที่กองเซ็นเซอร์ปล่อยให้คนทำหนังเล่าเรื่องที่ตัวเองต้องการได้โดยที่ไม่สั่งห้ามหรือบิดเบือนประเด็นใดๆ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับวงการหนังไทยในอนาคต เพราะมันเป็นบทพิสูจน์ว่าเมื่อคนทำหนังได้รับอิสรภาพในการทำงานอย่างเต็มที่ ผลตอบแทนเหล่านั้นย่อมส่งผลดีต่อทุกฝ่าย ทั้งคนทำ คนดู หรือแม้กระทั่งตัวของกองเซ็นเซอร์เอง 

 

สุดท้ายท่ามกลางความหลากหลายของหนังไทย ก็หวังว่า RedLife ซึ่งเป็นหนังยาวเรื่องแรกของ BrandThink Cinema จะประสบความสำเร็จ เพื่อที่อย่างน้อยจะได้เป็นขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานได้มีไฟในการนำเสนอเรื่องราวที่แปลกตาและน่าสนใจให้กับวงการหนังไทยอีกในอนาคต

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising