×

สื่อนอกจับตา สมรภูมิทะเลแดงสั่นคลอนบทบาทจีนในฐานะ ‘ผู้ส่งออกสันติภาพโลก’

30.01.2024
  • LOADING...

ใครจะคาดคิดว่าก้าวเข้าสู่ปี 2024 ได้เพียงไม่ถึงเดือน โลกก็ได้เห็นสมรภูมิรบแบบดั้งเดิมที่เดือดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งนอกจากภาพการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 แล้ว ก็ยังมีสมรภูมิย่อยเกิดขึ้นในอีกหลายจุด รวมถึงสถานการณ์ในทะเลแดงที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย หลังกลุ่มฮูตีกระหน่ำยิงมิสไซล์และส่งโดรนโจมตีเข้าใส่เรือสินค้าของนานาชาติแทบจะรายวัน

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สื่อใหญ่หลายหัวเริ่มจับตาบทบาทของมหาอำนาจภายนอกอย่างจีน เพราะหากเราถอยกลับไปดูภาพรวมในปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าจีนมีบทบาทเด่นในการเล่นบทกาวใจคลี่คลายความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้เป็นผลบวกต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของจีนในฐานะมหาอำนาจผู้แสวงหาสันติภาพและความมั่นคงของโลก ทั้งเรื่องความคืบหน้าในการคืนดีกันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการทูตของจีนในความพยายามที่จะฟื้นคืนกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ 

 

เวลานี้จึงเกิดคำถามที่ดังขึ้นอีกครั้งว่า ในวันที่ตะวันออกกลางเดือด-ทะเลแดงลุกเป็นไฟ จีนจะเข้ามามีบทบาทในการสลายวงความขัดแย้งหรือไม่ อย่างไร

 

ทะเลแดงเดือดพล่าน ทำไมจีนยังนิ่ง?

 

ก่อนจะไปถึงจีน THE STANDARD ขอปูพื้นให้อ่านกันสักนิดว่า ทะเลแดงถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการส่งสินค้า น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว ระหว่างเอเชียและยุโรป โดย 12% ของการค้าโลกต้องผ่านเส้นทางนี้ คิดเป็นมูลค่ารวมราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี การที่กลุ่มฮูตีโจมตีเรือสินค้าจึงเขย่าการค้าโลก และทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลด้วยว่าความขัดแย้งในภูมิภาคจะขยายวงกว้างกว่าเดิม ซ้ำเติมสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลที่กินเวลาล่วงเลยมาเกือบ 4 เดือน 

 

ตอนนี้ฮูตีไม่ได้โจมตีแค่เรือสินค้าของอิสราเอลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรือของชาติอื่นๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามด้วย ทำให้เรือจากหลายบริษัทจำต้องเลี่ยงเส้นทางไม่ให้ตัวเองถูกลูกหลง อาทิ เรือ COSCO ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือขนาดใหญ่ของจีนก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือที่ต้องอ้อมไกลกว่าเดิม ค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงแพงขึ้นด้วย 

 

เมื่อสถานการณ์ดูมีทีท่าว่าจะไม่ได้การเสียแล้ว ชาติมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาจึงได้ตั้งปฏิบัติการนานาชาติเพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือภายใต้ชื่อ Operation Prosperity Guardian ซึ่งเป็นกองเรือจากกว่า 20 ประเทศแนวร่วมที่อยากให้การค้าและการเดินทางเป็นไปอย่างสงบสุข

 

แต่ในรายชื่อนั้นไม่ได้มีจีนรวมอยู่ด้วย โดยสิ่งที่จีนทำมีเพียงออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการโจมตีเรือสินค้า พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยกระดับความรุนแรงมากขึ้น

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนบางกลุ่มมองว่า รีแอ็กชันของจีนที่ดูถ้อยทีถ้อยอาศัยและระมัดระวังนี้เป็นแนวทางปกติที่จีนใช้รับมือต่อวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางอยู่แล้ว และคาดว่าจีนไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงด้วย เว้นแต่ว่าการโจมตีจะไปกระทบต่อผลประโยชน์ทางการค้าของตนเองเข้าอย่างรุนแรง

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรคำนึงด้วยว่า สินค้าส่งออกของจีนไปยังยุโรปส่วนใหญ่ต้องผ่านทางทะเลแดง ในขณะที่น้ำมันและแร่ธาตุหลายสิบล้านตันก็ถูกลำเลียงผ่านทะเลแดงก่อนจะถึงท่าเรือของจีน ทีนี้ ถ้าเราลองสมมติฉากทัศน์ขึ้นมาเล่นๆ ว่า เกิดเรือ (ที่ไม่ใช่ของจีน) ได้รับผลกระทบจากการโจมตีของฮูตี จนต้องอ้อมเส้นทางเดินเรือไปไกล และทำให้มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของจีนถีบตัวสูงขึ้นด้วย กรณีจีนจะแก้ปัญหาอย่างไร

 

เดวิด อาราเซ (David Arase) ศาสตราจารย์สาขาการเมืองระหว่างประเทศประจำศูนย์ฮอปกินส์-หนานจิงเพื่อจีนและอเมริกันศึกษา (Hopkins-Nanjing Centre for Chinese and American Studies) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ว่า เขามองว่าจีนก็คงเลือกที่จะยอมแบกต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดีกว่ายอมไปจับมือกับสหรัฐฯ 

 

ที่สำคัญคือในตอนนี้เรือเดินสมุทรของจีนยังไม่ได้ถูกกลุ่มฮูตีโจมตีเหมือนชาติอื่นๆ ด้วย ด้วยเหตุนี้ จีนจึงไม่มีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะสร้างหลักประกันเสถียรภาพในทะเลแดง หรือปกป้องสิทธิในการเดินเรือระหว่างประเทศ และไม่กระตือรือร้นที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ 

 

บทบาทผู้ส่งออกสันติภาพที่สั่นคลอน

 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีของจีนในวันนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำโลกและผู้สร้างสันติภาพนั้น ‘อ่อน’ ลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในสายตาของโลกตะวันตก

 

โอริ เซลา (Ori Sela) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ แสดงความคิดเห็นว่า ในขณะที่จีนพูดย้ำอยู่เสมอว่าตนเองพร้อมที่จะรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าจีนจะ ‘มีความสามารถเพียงเล็กน้อย’ ในการทำสิ่งนั้นไม่ว่าจะเป็นในแง่ของอำนาจทางทหารหรือการทูต

 

ด้านสำนักข่าว CNN ได้สอบถามความคิดเห็นไปยัง มอร์เดชัย ชาซิซา (Mordechai Chaziza) อาจารย์อาวุโสแห่งวิทยาลัยวิชาการแอชเคลอน (Ashkelon Academic College) ในอิสราเอล ซึ่งเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับตะวันออกกลางโดยเฉพาะ เขากล่าวว่า ท่าทีของจีนที่เป็นไปอย่างระมัดระวังหรือดูลังเล เป็นเหมือนเงาดำที่มาบดบังภาพของความทะเยอทะยานที่จะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกที่มีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสีจิ้นผิงได้กล่าวไว้เมื่อช่วงไม่กี่ปีก่อนว่าจะสนับสนุนบทบาทจีนในการส่งเสริมสันติภาพและความสงบในตะวันออกกลาง

 

สหรัฐฯ ขอจีนช่วยกดดันอิหร่านอีกทาง

 

ท่ามกลางสมรภูมิอันดุเดือด สหรัฐฯ พยายามเรียกร้องให้จีนไปช่วยกดดันอิหร่านอีกทางหนึ่ง เพราะอิหร่านเป็นผู้เล่นสำคัญในวงความขัดแย้งตะวันออกกลาง ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการฝึกฝน ให้เงินทุน และให้อาวุธกับกลุ่มฮูตี

 

ในระหว่างการหารือของ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่เปิดฉากขึ้นในประเทศไทยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซัลลิแวนได้เรียกร้องให้จีนใช้อำนาจในการเจรจากับอิหร่านเพื่อหยุดยั้งการโจมตีที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

 

สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 มกราคม) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ในการประชุมระหว่างจีนและอิหร่านที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่จีนได้เรียกร้องให้ฝ่ายอิหร่านช่วยควบคุมฮูตีอยู่หลายครั้ง อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่าถ้าคุมไม่ได้ก็เสี่ยงที่จะทำให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างอิหร่านและจีนเกิดผลกระทบตามมา

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดูไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ บทบาทของจีนในตะวันออกกลางจึงเป็น ‘เกมยาว’ ที่เราต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจีนจะขยับหมากไปในทิศทางใด ในช่วงเวลาที่สถานการณ์โลกหมิ่นเหม่พลิกผันได้ตลอดเวลา

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising